LOADING

Type to search

“นี่แกเงินเดือนเท่าฉันหรือเปล่านะ?” ‘ฐานเงินเดือน’ ต้องเป็นความลับสุดยอด หรือเปิดเผยเพื่อแสดงถึงความโปร่งใส?

“นี่แกเงินเดือนเท่าฉันหรือเปล่านะ?” ‘ฐานเงินเดือน’ ต้องเป็นความลับสุดยอด หรือเปิดเผยเพื่อแสดงถึงความโปร่งใส?
Share

“คุณได้เงินเดือนเท่าไร”
“คุณรู้เงินเดือนคนอื่นไหม?”

ในโลกของการทำงาน การถามเงินเดือนแบบโจ่งแจ้งไม่ได้เป็นเพียงเรื่องที่เสียมารยาทในสายตาบางคนเท่านั้น แต่แนวคิด ‘ห้ามบอกเงินเดือนใคร’ ยังเป็นหนึ่งในเรื่องต้องห้ามของบริษัทหลายๆ แห่ง ที่ถ้าเกิดเล็ดรอดออกไป ก็อาจมีบทลงโทษร้ายแรงถึงขั้นไล่ออกกันยกทีมด้วย

จริงๆ แล้ว เวลาเราถูกถามถึงความลับสุดยอดที่เรียกว่า ‘เงินเดือน’ นี้ ก็คล้ายๆ กับความรู้สึกอึดอัดในสมัยเรียนนัก ที่พอผลสอบออก ก็จะมีเพื่อนบางคนมาถามว่า “เห้ย แกได้เกรดเท่าไร ได้คะแนนเท่าไร?”

เมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว เคยมีเจ้าของกระทู้รายหนึ่งในเว็บไซต์พันทิป (Pantip) ตั้งคำถามทำนองเดียวกันไว้อย่างน่าสนใจว่า “การห้ามบอกเงินเดือน ประโยชน์ของตัวคุณหรือประโยชน์ของบริษัท?” เพราะตลอดช่วงชีวิตการทำงานที่ผ่านมา เขามักจะได้ยินจากคนรอบข้าง ทั้งออฟฟิศเดียวกัน และออฟฟิศอื่น รวมไปถึง HR ที่ชอบบอกว่า เงินเดือนต้องเป็นความลับ ห้ามบอกให้ใครรู้ จะได้ไม่รู้สึกแย่ และไม่มีกำลังใจทำงาน ในทางกลับกัน เขาบอกว่า หากมองอีกมุมหนึ่ง การห้ามบอกเงินเดือนก็เป็นแค่การปิดหูปิดตาไม่ให้ตัวเองรู้มากกว่า คนที่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริงไปเต็มๆ ก้คือบริษัทที่สามารถกดราคาค่าแรงได้นั่นเอง

ทั้งนี้ ก็มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นมากมาย บ้างก็บอกว่า เป็นประโยชน์กับตัวเอง ทำให้สบายใจ ไม่ร้อนรุ่ม ไม่โดนอิจฉา ไม่โดนกลั่นแกล้ง และป้องกันการอัตราการลาออกที่สูง บ้างก็บอกว่า บริษัทไม่ได้คิดจะกดราคาค่าแรง แต่พนักงานจะเป็นฝ่ายเอาข้อมูลไปโก่งราคาตัวเองมากกว่า บ้างก็บอกว่า ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย บริษัทได้ทางตรง ส่วนพนักงานได้ทางอ้อมเช่นกัน

แต่คำถามที่ค้างคาอยู่ในหัวหลายๆ คน ก็คือ “นี่มันยุคไหนแล้ว! ทำไมเงินเดือนถึงยังต้องเป็นความลับอีก ถ้ามันยุติธรรมจริงๆ ก็ควรเปิดเผยได้รึเปล่า?”

salary-transparency 1

เดวิด เบอร์คัส (David Burkus) นักวิจัยด้านการจัดการเคยกล่าวบนเวทีเท็ดทอล์ก (TED Talks) ไว้ว่า จากการศึกษาในอดีตกับเจ้าของบริษัท และนักลงทุน ตนพบว่าการเปิดเผยเงินเดือนนั้นทำให้ออฟฟิศเต็มไปด้วยบรรยากาศที่ดีขึ้น ทั้งจากตัวพนักงาน และบริษัท เพราะการที่พนักงานไม่รู้ว่าเงินเดือนตัวเองต่างจากเพื่อนร่วมงานเท่าไร ก็ยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกว่า เงินเดือนน้อยเกินไป และอาจเกิดปัญหาการแบ่งแยกตามมา

สอดคล้องกับ ผลวิจัยในปี 2015 จากกลุ่มตัวอย่างพนักงานจำนวน 70,000 คน ของเพลย์สเกล (PayScale) บริษัทซอฟต์แวร์เงินเดือนในอเมริกาที่ระบุว่า 2 ใน 3 รู้สึกว่าได้เงินเดือนน้อยเกินไป ทั้งที่ในความเป็นจริง ทุกคนต่างได้รับเงินเดือนที่ ‘แฟร์’ และ 60 เปอร์เซ็นต์ยังบอกอีกด้วยว่า พวกเขาคิดจะเปลี่ยนงานใหม่ภายใน 6 เดือนข้างหน้า เพื่ออัปเงินเดือนตัวเอง เพราะไม่ว่าบริษัทจะเพิ่มให้ยังไง ก็ยังรู้สึกว่าน้อยกว่าเพื่อนร่วมงานอยู่ดี

ไดแอน โดมเยอร์ (Diane Domeyer) กรรมการผู้จัดการของโรเบิร์ต ฮาฟ (Robert Half) บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการ ชี้ให้เห็นว่า การเปิดเผยเงินเดือนอย่างโปร่งใสจะช่วยรักษาพนักงานเก่า ลดอัตราการลาออก (Turnover Rate) ท่ามกลาง The Great Resignation และอื่นๆ ได้สำเร็จ เนื่องจาก เป็นการแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการสร้างความเท่าเทียม

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอันใกล้ วัฒนธรรมการห้ามบอกนี้ก็อาจจะเปลี่ยนไป เพราะล่าสุดปี 2022 เมืองนิวยอร์กก็เพิ่งประกาศกฎหมายบังคับให้นายจ้างทุกคนต้องระบุเงินเดือนเมื่อรับพนักงานใหม่ อีกทั้ง บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งก็เริ่มหันมายอมรับแนวคิดนี้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) และโฮลฟู้ด (Whole Foods) เป็นต้น

ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า หลักๆ แล้ว ความโปร่งใสเรื่องเงินเดือนนั้นเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย อย่างแรกคือ มันทำให้พนักงาน ‘อาจจะ’ มีความสุขมากขึ้น เห็นได้จากการที่บัฟเฟอร์ (Buffer) บริษัทผลิตเครื่องมือช่วยทำการตลาดบนโซเชียลมีเดีย (Social Media Marketing) เปิดเผยเงินเดือนกับสาธารณะ

ไม่ว่าคุณจะเป็นพนักงานของบัฟเฟอร์หรือไม่ ก็สามารถเข้าไปส่องตามอินเทอร์เน็ตได้ว่า พนักงานคนไหน ตำแหน่งอะไรได้เงินเดือนเท่าไร ซึ่งการที่พวกเขารู้ว่า ตัวเองกำลังอยู่ตรงไหนของบริษัท ก็จะทำให้พึงพอใจ และพยายามพัฒนาตัวเองให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น (ถ้าใครอยากรู้ว่า สิ่งที่เราบอกมีอยู่จริงไหม โม้รึเปล่า? ก็สามารถเข้าไปวาร์ป พิสูจน์ด้วยตาตัวเองกันได้ที่ : https://buffer.com/salaries

งานวิจัยเรื่อง Signaling in Secret: Pay for Performance and the Incentive and Sorting Effects of Pay Secrecy ของเอเลนา เบเลโกลอฟสกี (Elena Belogolovsky) และปีเตอร์ เอ แบมเบอร์เกอร์ (Peter A. Bamberger) จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างพนักงานชาวอิสราเอล 280 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีความโปร่งใส รู้ว่าตัวเองกับคนอื่นได้เงินเดือนเท่าไร และกลุ่มที่ไม่มีความโปร่งใส เงินเดือนทุกคนเป็นความลับหมด

ผลปรากฏว่า กลุ่มที่มีความโปร่งใสสามารถทำงานได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ความโปร่งใสอย่างเห็นได้ชัด หรือสรุปง่ายๆ คือ ‘ความลับเรื่องเงินเดือนส่งผลต่อ Productivity ของพนักงานไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง’ นั่นเอง

salary-transparency 2

ถัดมา อีกหนึ่งประเด็นที่ Support คือ มันช่วย ‘ลด Gap ของเงินเดือนให้ดีขึ้น’ ด้วย เพราะเมื่อพนักงานรู้สึกว่า ตัวเองได้รับเงินเดือนที่แฟร์ พวกเขาก็จะรู้สึกพอใจ โดยนิยามของความแฟร์ในที่นี้ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะได้รับเงินเดือนเท่ากันเป๊ะๆ แต่คือเงินเดือนที่คู่ควร เหมาะสมกับตำแหน่ง ประสบการณ์ และค่าครองชีพต่างหาก

ประเด็นสุดท้าย ผู้เชี่ยวชาญเสริมว่า มันช่วยทำให้บริษัท ‘ควบคุมการพูดต่อได้’ กล่าวคือ การทำให้เรื่องเงินเดือนเป็นความลับ ห้ามบอกคนอื่นนั้นอาจสร้าง ‘ข่าวลือ’ สร้างความไม่พอใจให้พนักงานคนอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของบริษัท แถมบางครั้งที่พูดต่อๆ กันก็ไม่เป็นความจริง ก่อเกิดเป็นความเข้าใจผิดที่อาจลุกลามไปเป็นเรื่องใหญ่โตได้ง่ายด้วย

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ก็ไม่อาจสรุปได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า การเปิดเผยเงินเดือนเป็นเรื่องที่ดี เป็นเรื่องที่ถูก ที่ควรทำในทุกบริษัทเสมอไป ในความเป็นจริง ไม่ใช่ทุกคนที่รู้เงินเดือนเพื่อนร่วมงานแล้วจะโปรดักทีฟเฉกเช่นเดียวกับกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัย เพราะลึกๆ แล้ว ก็มีความละเอียดอ่อนเข้ามาเกี่ยว ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ และการทำงานแบบเช้าชามเย็นชามที่อาจเกิดขึ้นกับพนักงานบางคน

ในเมื่อเราอยู่ภายใต้กฎกติกาที่บริษัทกำหนด แนวคิดการเปิดเผยยังไม่เป็นที่ยอมรับในบริษัทที่ทำงานอยู่ตอนนี้ แทนที่เราจะตั้งคำถามกับเงินเดือนของเพื่อนร่วมงาน อยากรู้ว่า นี่แกเงินเดือนเท่าฉันรึเปล่านะ? อาจจะลองเปลี่ยนเป็นการกลับมาโฟกัสที่ตัวเองว่า

“ทุกวันนี้เราได้เงินเดือนคุ้มกับงานที่ทำหรือยัง?”

Sources: https://bit.ly/3OFtU9i

https://bit.ly/3z9jfxT

https://bit.ly/3PPqjX0

https://bit.ly/3PKQtuc

https://bit.ly/3PPqr8W

https://bit.ly/3veJUb8

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1

You Might also Like