LOADING

Type to search

สมองตื้อ ไอเดียตัน งานไม่เดิน ลองเทคนิค Rubber Duck Debugging ให้ ‘น้องเป็ดยาง’ ช่วยชีวิตคุณ!

สมองตื้อ ไอเดียตัน งานไม่เดิน ลองเทคนิค Rubber Duck Debugging ให้ ‘น้องเป็ดยาง’ ช่วยชีวิตคุณ!
Share

‘เป็ด’ สิ่งมีชีวิต 2 เท้าที่เป็นตัวแทนของความไม่สุดสักอย่าง ไม่ดีสักทาง เพราะไม่ว่าจะบิน วิ่ง ว่ายน้ำก็ไม่สามารถทำได้ดีเท่านก เสือ และปลา

ทุกวันนี้ ความเป็ดเป็นสิ่งที่ถูกตีตรา ด้อยค่าให้เหนือกว่าสัตว์ชนิดอื่น แต่ในโลกของการทำงาน เป็ดกลับกลายเป็นสิ่งล้ำค่าที่สุดเลยทีเดียว ทั้งมนุษย์เป็ดที่เนื้อหอมในสายตาของหลายองค์กร การนำสไตล์เป็ด หรือแม้กระทั่ง ‘การใช้เป็ดเข้ามาเป็นตัวช่วยเวลาสมองตื้อ ไอเดียตัน’ ก็ด้วย

แล้วเป็ดเข้ามาช่วยชีวิต และความคิดทุกคนยังไงบ้าง? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปรู้จักกับ Rubber Duck Debugging เทคนิคแปลกที่โปรแกรมเมอร์แถวหน้าของโลกในซิลิคอนวัลเลย์ ​(Silicon Valley) เลือกใช้กัน

Rubber Duck Debugging คืออะไร?

ในหนังสือ The Pragmatic Programmer : From Journeyman to Master ของแอนดรูว์ ฮัน (Andrew Hunt) และเดวิด โทมัส (David Thomas) เล่าถึงเทคนิคนี้ไว้ว่า เป็นเทคนิคที่ใช้แก้ปัญหาเมื่อโปรแกรมเมอร์เจอข้อผิดพลาดจากการเขียนโค้ด หรือที่เรียกว่า ‘การแก้บัก (Debugging)’

ซึ่งเวลาที่คิดไม่ออก ไม่รู้จะแก้ปัญหาโค้ดที่คาราคาซังตรงหน้ายังไง พวกเขาก็จะหยิบสิ่งไม่มีชีวิตที่พูดไม่ได้ ไม่เข้าใจปัญหานั้นอย่าง ‘เป็ดยาง’ มาคุยด้วย และถึงแม้ดูเผินๆ แล้วเจ้าเป็ดยางจะเป็นของเล่น ของตกแต่งที่ไม่สำคัญอะไร แต่ในความเป็นจริงแล้ว การได้เล่าเรื่องราวทีละบรรทัดให้ ‘ที่ปรึกษาแบบทิพย์ๆ หรือเพื่อนในจินตนาการ’ ฟังอย่างช้าๆ แบบนี้จะช่วยให้ผู้ที่คุยด้วยวิ่งทะลุทางตันของปัญหา หาทางออกเรื่องนั้นได้ดียิ่งขึ้น แถมนี่ก็เป็นอีกเทคนิคที่ไม่ต้องไปรบกวนคนอื่นด้วย

Rubber Duck Debugging ใช้ยังไง?

อย่างที่เล่าไปก่อนหน้าว่า เทคนิคนี้ต้องใช้เป็ดยางมาเป็นเครื่องมือ แต่หากพูดกันตามตรงแล้ว จริงๆ ก็ไม่จำเป็นจะต้องเป๊ะร้อยเปอร์เซ็นต์ตามเทคนิคต้นฉบับเสมอไป ทั้งนี้ ก็อาจจะเป็นตุ๊กตาที่ไม่มีชีวิต ยางลบ ปากกา ดินสอ หรือสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถโต้ตอบกับเราอย่างหมา แมวก็ได้เช่นกัน

นำสิ่งนั้นมาวางตรงหน้า จากนั้น ตั้งคำถามว่า ‘เรากำลังทำงานอะไรอยู่ งานนั้นเป็นยังไง ปัญหา และข้อผิดพลาดที่เจออยู่ตรงไหน?’ ลองจินตนาการว่า มันเป็นเหมือนที่ปรึกษาระดับโลกหรือเพื่อนสนิทสักคนที่พร้อมรับฟังเรื่องของเราอย่างจริงใจ ค่อยๆ อธิบาย ค่อยๆ เล่าไปทีละขั้น

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสมมติเพิ่งซื้อตู้เย็นมาใหม่ หลังจากที่ย้ายอาหารทั้งหมดจากตู้เย็นเก่ามาแล้ว พอตื่นเช้ามาในวันรุ่งขึ้น คุณพบว่า อาหารทั้งหมดเสีย แน่นอนว่า แทบทุกคนคงต้องหัวเสียกับเรื่องนี้อยู่แล้ว

แต่แทนที่จะหัวเสีย โทรไปต่อว่าร้านขายตู้เย็นว่า ขายสินค้าไม่ดีทันที ให้หยิบเป็ดยางขึ้นมา ลองให้มันถามตัวคุณว่า เรื่องทั้งหมดนี้เป็นยังไง มีที่มาที่ไปอะไรบ้าง ปัญหาอยู่ตรงไหน และเราเผลอลืมทำอะไรบางอย่างด้วยรึเปล่า? เพราะก็ไม่แน่เหมือนกันว่า บางทีตู้เย็นอาจจะไม่ได้เสียจริง ไม่ใช่สินค้าเกรดต่ำ แต่จริงๆ แล้ว คุณอาจจะแค่ลืมเสียบปลั๊กก่อนนอนก็ได้

ทำไม Rubber Duck Debugging ถึงเวิร์ก?

จะว่าไป จิตวิทยาของเทคนิคนี้ก็คล้ายกับจิตวิทยาที่เรามักจะให้คำปรึกษาคนอื่นเก่ง แต่เรื่องของตัวเองเอาตัวไม่รอดหรือ ‘Solomon’s Paradox’ อยู่พอสมควร Solomon’s Paradox คือปรากฏการณ์ที่มีพื้นฐานมาจากตำนานของกษัตริย์ผู้เฉลียวฉลาด อย่างกษัตริย์โซโลมอน (King Solomon) ราชาคนที่ 3 ของอาณาจักรยิว

ในตำนานเล่าว่า เขาเป็นกษัตริย์ที่ถูกเล่าขานว่าฉลาด และยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของยุค โดยผู้คนจากทั่วทุกสารทิศก็มักจะไปขอคำแนะนำดีๆ จากเขา และแน่นอนว่า เขาก็มอบสิ่งนั้นกลับให้ผู้คนเสมอ แต่หากไปไล่เรียงไปที่ชีวิตส่วนตัวของโซโลมอนแล้ว จะเห็นว่า ชีวิตเขายุ่งเหยิงมาก จัดการปัญหาได้ไม่ค่อยดี อย่างการใช้เงินฟุ่มเฟือย ทั้งจากการสร้างวัง และมีสนมหลายร้อยคน ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ในท้ายที่สุดแล้ว อาณาจักรต้องล่มสลาย จบลงในยุคนั้น

เช่นเดียวกับ Rubber Duck Debugging ที่วางเป็ดไว้เป็นที่ปรึกษา แต่แท้จริงแล้ว นี่ก็ไม่ต่างอะไรกับการคุยกับตัวเองสักเท่าไร เพราะการถอยออกมาไม่กี่ก้าว เล่าปัญหาตั้งแต่ต้นจนจบจะช่วยให้เราได้ตกผลึกความคิด ได้ยินเสียงความคิดที่ลอยฟุ้งอยู่ในหัว เห็นภาพของสิ่งที่ซับซ้อนเป็นเรื่องง่ายขึ้น อีกทั้งยังทำให้โฟกัสข้อผิดพลาดได้ละเอียด และดีกว่าเดิมด้วย

หรืออย่างการเล่าปัญหาให้เพื่อนร่วมงาน หัวหน้าที่อยู่ในแวดวงเดียวกันฟัง ข้อดีอย่างหนึ่งเลยก็คือ พวกเขาเข้าใจมันเป็นอย่างดี เนื่องจาก มีความรู้ พื้นหลัง และประสบการณ์ทำนองเดียวกัน ทว่า หากเราเล่าให้เป็ดยางฟัง อีกสิ่งหนึ่งที่มันชนะขาดรอยพวกเขาแน่ๆ ก็คือ การรับฟังอย่างตั้งใจจริง ไม่หนี ไม่แทรก ไม่ขัด และไม่ตัดสินผิด-ถูก รวมไปถึงเราก็ไม่ต้องกลัวด้วยว่า จะไปรบกวนคนอื่น และระแวงว่า เจ้าเป็ดตัวน้อยนี้จะเอาเรื่องของเราไปเล่าต่อรึเปล่า?

อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่า การคุยกับคนอื่นจะเป็นเรื่องไม่ดีไปทั้งหมด บางสถานการณ์ก็เหมาะจะขอคำปรึกษาจากพวกเขา แต่ในขณะเดียวกัน บางสถานการณ์ก็เหมาะจะคุยกับตัวเองมากกว่า ทุกวันนี้เราอยู่ในสังคมที่โดดเดี่ยวมากขึ้น ไม่แปลกเลยถ้าบางคนอยากจะได้ใครสักคนรับฟัง ดังนั้น เป็ดยางที่มีแววตาใสซื่อเลยกลายเป็นเหมือน ‘พื้นที่ปลอดภัย’ สำหรับทุกคน มันจะอยู่รับฟังจนจบ หรือจนกว่าจะสบายใจพอที่จะหาหนทางต่อไปได้นั่นเอง

ในวันนี้น้องเป็ดสีเหลืองจึงไม่ใช่แค่เพื่อนประจำอ่างอาบน้ำ สัญลักษณ์ทางศิลปะ การเมือง โล่ห์ป้องกันความอยุติธรรม และสัตว์ที่ถูกตราหน้าว่า ไม่เอาไหนอีกต่อไป! แต่ได้กลายเป็นเทพเจ้าเป็ดในตำนานที่ใครๆ ก็เคารพ บูชาความเก่งกาจ เป็นตัวช่วยประจำชีวิตเวลางานไม่เดินต่างหาก

ตาคุณแล้ว! ครั้งหน้าถ้าคิดอะไรไม่ออก ลองบอกน้องเป็ดหรือสัตว์เลี้ยงแสนรักดู ให้การคุยกับพวกมันเป็นเหมือนน้ำที่คอยปลอบประโลมจิตใจ ไม่ต่างจากเป็ดที่อารมณ์ดีหลังอาบน้ำในคลอง แล้วคุณล่ะคิดยังไงกับเรื่องนี้ นานแค่ไหนแล้วนะที่ไม่ได้คุยกับตัวเอง มาแชร์ในคอมเมนต์กัน!

Sources: https://bit.ly/3xeTmf6

https://bit.ly/3xzVXl9

https://bit.ly/3muZ4UX

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1

You Might also Like