LOADING

Type to search

เจาะ Business Model สั่งอาหารไม่หาผลกำไร : Robinhood จะเขย่าวงการ Food Delivery อย่างไรต่อจากนี้

เจาะ Business Model สั่งอาหารไม่หาผลกำไร : Robinhood จะเขย่าวงการ Food Delivery อย่างไรต่อจากนี้
Share

ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 และสภาพแวดล้อมของการ Lockdown ที่ทำให้ผู้คนเก็บตัว ออกมาจากที่พักอาศัยกันน้อยลง ธุรกิจเดลิเวอรี่เติบโตอย่างรวดเร็ว และกลายมาเป็นโซลูชั่นของธุรกิจในภาวะวิกฤต

ที่ผ่านมาธุรกิจ Ordering Platform สำหรับบริการ Delivery ในประเทศไทยนั้นมีเพียงแต่แพลตฟอร์มจากต่างชาติเท่านั้น แต่ล่าสุดธนาคารไทยพาณิชย์ (Siam Commercial Bank) ก็ได้ประกาศรุกหน้าเข้าสู่ธุรกิจ Delivery พร้อมกับการเปิดตัว Robinhood แอปพลิเคชั่นสั่งอาหารรายใหม่สัญชาติไทย

Robinhood ไม่ได้กลายเป็นบริการ Food Delivery ที่คนให้ความสนใจด้วยความเป็นสัญชาติไทยเท่านั้น แต่เพราะว่านี่คือบริการสั่งอาหารที่ประกาศตนเองว่าไม่แสวงผลกำไร และจะไม่เก็บค่า GP จากร้านค้า

คุณสีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด

เมื่อได้เห็นคำประกาศทางธุรกิจอันน่าสนใจนี้ ทำให้ทาง Future Trends สนใจเป็นอย่างยิ่งว่า SCB ได้มีแผนธุรกิจสำหรับ Robinhood ไว้อย่างไร และเราก็ได้รับเกียรติจากคุณสีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ที่ดูแลและพัฒนาแอปฯ Robinhood นี้มาร่วมพูดคุยกับเรา

สิ่งแรกที่เราได้รู้เกี่ยวกับโมเดลธุรกิจของ Robinhood แอปฯ Delivery ไม่คิดค่า GP นี้ คือรูปแบบธุรกิจที่เป็น CSR ที่ตั้งใจสร้างบริการ Delivery ขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ป้ญหาในสังคม

Robinhood เป็น CSR อย่างไร?

แนวคิดตั้งต้นของ Robinhood ที่เรามีไว้ในใจคือการให้มันเป็น Delivery Platform ที่คอยช่วยเหลือร้านค้า และลูกค้าให้มีผลประโยชน์ร่วมกันมากที่สุด เมื่อเราวางแผนธุรกิจตัวนี้ขึ้นมา แล้วเราไม่ได้มองว่าเราทำไปเพื่อหวังผลประโยชน์ หรือผลกำไร เราจึงเลือกที่จะมองมันในลักษณะของธุรกิจกึ่ง CSR ที่มีความรับใช้ต่อสังคม

ในตอนนี้เรามี Delivery Platform อยู่หลายเจ้ามากในเมืองไทย แต่ในขณะนี้มันไม่ได้มีเจ้าไหนเลยที่เป็น Platform ของคนไทย รวมถึง Platform ต่างๆที่มีอยู่ในทุกวันนี้มีรูปแบบในการเก็บค่า GP จากร้านค้าที่สูงมาก โดยเฉพาะกับร้านค้ารายเล็ก ธุรกิจรายย่อยต่างๆ เราจึงตั้งใจจะทำ Platform นี้ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือ โดยไม่เก็บค่า GP จากร้านค้ารายย่อย

หาก Robinhood เป็นธุรกิจที่ไม่แสวงหาผลกำไร อะไรจะเป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้?

ในเบื้องต้นกับ Robinhood เราไม่มองเรื่องผลกำไร เนื่องจากเราต้องการทำเพื่อช่วยให้ร้านค้าเล็กๆนั้นอยู่รอดได้ แต่ในเชิงระยะยาวแล้ว สำหรับ Platform เช่นนี้เราจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาระบบอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาท ดังนั้นในการที่มันจะอยู่ได้เราต้องใช้ความเป็น CSR ของตัวมันเอง ซึ่งธนาคาร และธุรกิจขนาดใหญ่ต่างๆ ก็จะมีค่าใช้จ่ายในการทำ CSR ต่อปีอยู่แล้ว ตกอยู่ที่ปีละประมาณหลายร้อยล้านบาท จึงทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษา Platform Robinhood เป็นเพียงส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่าย CSR เท่านั้น

นอกจากนั้นแล้ว หากมองในระยะยาวขั้นต่ำคือห้าปีหลังจากนี้ เราก็มองว่าเราจะสามารถนำข้อมูลต่างๆ จากใน Ordering Platform จากการใช้จ่ายบนบริการนี้ไปต่อยอดในธุรกิจของเราต่อไป แต่มันจะไม่ใช่สิ่งที่เราทำได้ในวันนี้ เพราะมันเป็นสิ่งที่จะต้องใช้เวลานานมาก เป็นแผนระยะยาวของธุรกิจ แต่ในวันนี้เรามองธุรกิจ Platform ของ Robinhood ในเชิง CSR มากกว่าที่จะเป็นธุรกิจที่ต้องหาผลกำไร ซึ่งทำให้ Robinhood ไม่จำเป็นต้องมองหาผลตอบแทนในระยะสั้น หรือผลกำไร แต่เป็นการมองหาผลตอบแทนในระยะยาว เหมือนที่ในวันนี้เราเองก็ได้นำเครือข่ายร้านค้าที่เราได้มาจากโครงการ แม่มณี ก่อนหน้านี้ และเรายังมีทรัพยากรบุคคลอยู่แล้วที่จะมาทำในเรื่องเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานสาขาที่คอยช่วยในเรื่องของการติดต่อ และนำร้านค้าเข้าระบบ เรามีทีม Developer ที่คอยดูแลระบบได้ ฉะนั้นแล้ว Robinhood จึงดำรงอยู่ได้ในรูปแบบของ CSR ขององค์กร

มาตรฐานใหม่ของธุรกิจ Delivery Platform

อีกเป้าหมายหนึ่งในการช่วยเหลือสังคมของ Robinhood ในฐานะ Delivery Platform นอกจากการช่วยให้ร้านค้ารายเล็กสามารถอยู่ได้แล้ว เรายังมองว่ามันจะเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ในวงการ Delivery Platform ด้วย

อย่างที่เราได้บอกไป สิ่งที่เราเห็นเป็นปัญหาอย่างหนึ่งคือเรื่องของค่า Logistic Service หรือค่า GP โดยปกติร้านค้า ร้านอาหารรายเล็กๆ จะมีค่าใช้จ่ายนี้สำหรับการขึ้นบน Platform อยู่อย่างน้อยคือ 30% แต่ที่เราได้ประกาศตัวออกไป เราคาดหวังให้สิ่งนี้เปลี่ยนแปลง เราประกาศออกไปว่าเราจะไม่เก็บค่าใช้จ่ายเหล่านี้ และหลังจากที่ประกาศออกไปเราก็ได้เห็นผู้ที่ทำ Delivery Platform เจ้าอื่นๆ เริ่มมีการคุยกันเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับร้านค้ารายเล็กแล้ว และนี่คือสิ่งที่เราคาดหวัง

ในการที่เราเข้ามาในธุรกิจ Delivery Platform เราไม่ได้มองว่าตัวเองเข้ามาเพื่อจะแย่งส่วนแบ่งทางธุรกิจ หรือขึ้นเป็นที่ 1 เราเข้ามาเพื่อเป็นหนึ่งในตัวเลือกของ Ordering Platform โดยตั้งราคามาตรฐานของค่าบริการ Delivery ใหม่ให้ไม่เอาประโยชน์ซึ่งกันและกัน

ผลลัพธ์ที่ได้คือ ตอนที่เราประกาศตัวเข้ามาในตลาด บริการเจ้าอื่นๆ ก็เริ่มมีการประกาศลดค่าบริการสำหรับร้านค้าลง แค่เท่านี้ก็ทำให้เรารู้สึกได้ว่าเราได้ทำประโยชน์ให้กับสังคมมากขึ้นแล้ว และนี่คือการสร้างมาตรฐานใหม่ขึ้นมาของเรา

เราพยายามที่จะทำให้ตลาดไม่ได้มีผู้เล่นอยู่แค่ไม่กี่คน และวันหนึ่งหากเราเกิดภาวะวิกฤตขึ้นมา เช่นในช่วงต้นของวิกฤต COVID-19 ที่ผ่านมา เราอาจได้เห็นว่ามีผู้ให้บริการบางเจ้าปรับเพิ่มค่า Service ของพวกเขาขึ้นจากเดิมสูงมาก ร้านค้ารายย่อยแทนที่จะได้ใช้ช่องทางนี้ทำให้พวกเขาสามารถลืมตาอ้าปากได้ มันกลับไม่เป็นเช่นนั้น พวกเขายังคงต้องใช้บริการ ด้วยการจ่ายที่สูงขึ้น เพราะต้องการกระแสเงินสดมาเพื่อใช้จ่ายเป็นเงินเดือนของพนักงาน ทำให้พวกเขาต้องจำใจเสีย 30-40% เพื่อให้อย่างน้อยยังมีรายการเข้ามาบ้างผ่านช่องทางออนไลน์

วันนี้ Robinhood เข้ามาเพื่อเป็นทางเลือก แทนที่เขาจะต้องเสีย 30-40% พวกเขาไม่ต้องเสีย เป็น 0% และทำให้เขามีรายได้ ได้เอาเงินทุกบาททุกสตางค์ที่เขาหาได้ผ่านช่องทางออนไลน์ มาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของเขา และของพนักงาน เพื่อให้พวกเขาลืมตาอ้าปากได้

อะไรคือความคาดหวังที่มีต่อ Robinhood?

สิ่งที่ทางเราคาดหวังจาก Robinhood เป็นแค่สิ่งง่ายๆ เลยครับ เราอยากให้ Robinhood กลายเป็น Platform ที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนซื้อ คนสั่งอาหาร และร้านค้า รวมถึงเป็นโอกาสที่ทำให้เกิดงานใหม่ๆ ขึ้นมา

“Platform ตัวนี้เป็นจุดเชื่อมธุรกิจ จุดเชื่อมเศรษฐกิจไทย ให้วันนี้เรามีเศรษฐกิจที่เป็นระยะยาว มากขึ้นสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก”

เราจะได้ใช้งาน Robinhood เมื่อไหร่?

สีหนาท ล่ำซำ : ในตอนนี้เราอยู่ในขั้นพัฒนามาได้ 60-70% แล้ว เราคาดว่าเราจะสามารถเปิดให้ทดสอบแบบ Soft Launch แบบภายในได้ในเดือนสิงหาคม แต่ในความจริงเราพยายามจะไม่รีบเร่งในเรื่องนี้เพราะเราต้องการพัฒนา User Experience ให้ใช้งานได้ง่ายที่สุด และที่สำคัญคือเราเพิ่งเริ่ม เรายังเป็นแค่จุดเล็กๆ แต่ในความเป็นจุดเล็กๆ เราเองก็อยากเน้นย้ำ 1. UX ที่ดี 2. เราไม่ได้หวังจะเข้ามาเป็นเจ้าตลาด แต่หวังจะเป็นทางเลือก เพราะฉะนั้นเราจะออกไป เมื่อเราพร้อมที่จะให้บริการที่สุด

และนี่คือแนวคิดในการพัฒนาบริการ Delivery Platform ของ Robinhood จากคุณสีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด Delivery Platform ที่จะมาเขย่าวงการ และทำให้ตลาด Delivery Platform ต้องปรบตัว และแข่งขันกันมากขึ้น

ความหวัง และความน่าสนใจที่สุดที่จะเกิดขึ้นจากการให้บริการของ Robinhood อาจไม่ใช่บริการที่ดีที่สุด ราคาถูกที่สุด แต่เป็นการกระตุ้นการแข่งขันในธุรกิจ ที่ท้ายที่สุดแล้ว ผู้ใช้บริการอย่างพวกเรานี่เองที่จะได้ประโยชน์ที่สุดจากมัน

เขียนโดย Siravich