LOADING

Type to search

ทำไมคนออกไม่เคยบ่น ‘คนบ่นถึงไม่ลาออก’ สักที?
Share

“ไม่ไหวแล้ว อยากลาออก”

“ฉันจะลาออก คอยดูเลยนะ”

นี่คือประโยคยอดฮิตที่เรามักจะได้ยินจากมนุษย์ที่ขึ้นชื่อว่า ‘เพื่อน’ อยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานที่ออฟฟิศ เพื่อนที่เรียนมหาวิทยาลัยมาด้วยกัน หรือแม้กระทั่งเพื่อนบนโลกโซเชียลที่ชอบอัปสเตตัสระบายอารมณ์ชั่ววูบกับความสุดจะทนในปัญหาต่างๆ ก็ด้วย

แม้เราจะเป็นฝ่ายรับฟังเรื่องหัวเสีย คอยปลอบเพื่อนว่า ไม่เป็นไรนะแก ใจเย็นๆ แต่ในความเป็นจริง หลายๆ คนน่าจะเกิดคำถามขึ้นในหัวทำนองว่า “ประชดเช้าประชดเย็นทุกวันขนาดนี้ จะบ่นทำไม อยากออกก็ออกให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเลยสิ” แถมบางทีเพื่อนร่วมงานที่ออฟฟิศบางคนที่ไม่เคยปริปากพูดเรื่องนี้สักคำ ไม่มีพิรุธอะไรก็ชิงลาออกไปก่อนเพื่อนคนที่ชอบบ่นให้เราฟังเป็นประจำด้วยซ้ำ

ทำไมคนที่บ่นวันแล้ววันเล่า ทั้งเบื่อ ทั้งเครียดถึงยังไม่ไปไหน เพราะอะไรพวกเขาถึงไม่ยอมจรดปลายปากกาเซ็นต์ใบลาออกสักที อาถรรพ์เรื่อง ‘คนออกไม่บ่น คนบ่นไม่ออก’ มีที่มาจากไหน?

reason-why-people-complain-but-no-resign 1

เมื่อประมาณ 60 กว่าปีที่แล้ว มาร์ติน เซลิกแมน (Martin Seligman) และสตีเวน เมเออร์ (Steven Maier) สองนักจิตวิทยาชาวอเมริกันได้ทำการวิจัยเรื่อง ‘Learned Helplessness’ ปรากฏการณ์ของการเรียนรู้ที่จะอยู่อย่างสิ้นหวังเอาไว้อย่างน่าสนใจ

เขาได้แบ่งกลุ่มตัวอย่างหมาออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก ถูกจับล่ามโซ่กับปลอกคอไว้ แต่พอผ่านไป พวกเขาก็ถอดออกแล้วปล่อยมันเป็นอิสระ กลุ่มที่สอง ถูกจับล่ามโซ่กับปลอกคอไว้แบบเดียวกัน แต่มีการช็อตด้วยกระแสไฟฟ้า ซึ่งทางเดียวที่จะหยุดได้ นั่นก็คือมันต้องเอาเท้าไปกดคาน และกลุ่มสุดท้าย ถูกจับล่ามโซ่กับปลอกคออีกเช่นเคย แต่ที่หนักไปกว่านั้นคือ มันโดนช็อตด้วยกระแสไฟฟ้าตลอดเวลา และต่อให้ดิ้น พยายามเอาเท้าไปกดคานแค่ไหน มันก็ไม่มีทางจะหยุดได้

มาร์ติน และสตีเวนสังเกตว่า หลังจากที่ถูกกระแสไฟฟ้าช็อต พฤติกรรมของหมากลุ่มสุดท้ายนั้นดูเซื่องซึม ผิดปกติจากหมาสองกลุ่มแรก จากนั้น พวกเขาจึงทำการทดลองต่อ โดยรอบนี้ได้เอาหมาแต่ละกลุ่มไปใส่ในกล่องที่มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ฝั่งด้วยที่กั้นเตี้ยๆ พอที่หมาทุกตัวจะสามารถกระโดดข้ามได้ ฝั่งหนึ่งมีการปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้ช็อต ส่วนอีกฝั่งหนึ่งไม่มี เปรียบเสมือน Safe Zone ให้พวกมันอาศัย

ต่อมา มาร์ติน และสตีเวนทำการทดลองแบบเดิม แต่รอบนี้พิเศษขึ้นตรงที่ไม่มีการล่ามโซ่กับปลอกคอ และก่อนที่จะปล่อยกระแสไฟฟ้า พวกเขาได้ทำการเปิดหลอดไฟกะพริบ เพื่อส่งสัญญาณล่วงหน้าให้หมาทั้ง 3 กลุ่มเข้าใจว่า แสงที่ปรากฏขึ้นเหล่านี้หมายถึงการถูกกระแสไฟฟ้าช็อตอีกรอบด้วย

ผลปรากฏว่า เมื่อหมากลุ่มแรกกับกลุ่มที่สองเห็นไฟแบบนี้ ก็รีบกระโดดข้ามไปฝั่ง Safe Zone ทันที แต่น่าแปลกตรงที่พอหมากลุ่มที่สามเห็น ทั้งที่เคยผ่านการโดนช็อตอย่างเจ็บปวดมาแล้ว แต่มันก็ไม่ได้แสดงท่าทีว่าจะสะทกสะท้านอะไร หรือกระตือรือร้นพาตัวเองออกจากสถานการณ์แย่ๆ รีบกระโดดย้ายฝั่งเลยสักนิด แต่กลับนอนนิ่งเฉยๆ รอให้กระแสไฟฟ้ามาช็อต ราวกับว่าประสบการณ์อันโชกโชนที่ผ่านมาสอนให้พวกมันเรียนรู้ที่จะอยู่แบบ ‘สิ้นหวัง’ หรือหมาจนตรอกนั่นเอง

ซึ่งหากลองมาไล่เรียงกันจริงๆ แล้ว สถานการณ์ของหมากลุ่มสุดท้ายก็ไม่ต่างอะไรจากเพื่อนบางคนที่มักจะบ่นว่าอยากลาออกให้เราฟังทุกวี่ทุกวัน ส่วนที่กั้นเตี้ยในการทดลองก็เหมือนกับประตูหรือใบลาออกที่อยู่ตรงหน้า แน่นอนว่า หากข้ามไปได้ ทุกอย่างก็จบ

และต่อให้ตามปกติ ร่างกายของคนเราจะมีการตอบสนองด้วยกระบวนการสู้หรือถอย (Fight or Flight) แต่ท้ายที่สุดแล้ว พวกเขาก็เลือกที่จะยอมจำนนต่อชะตากรรมแย่ๆ ปล่อยให้สิ่งต่างๆ เป็นไปตามยถากรรม ติดหล่มความเจ็บปวดต่อไป เกิดความรู้สึกทำนองว่า พยายามไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ใช้ชีวิตด้วยการบ่นไปวันๆ 

เช่นเดียวกับบางคนที่บ่นสภาพเศรษฐกิจ ความไม่เท่าเทียมกันในบ้านเมืองอยู่บ่อยๆ แต่พวกเขากลับถอดใจ ในที่นี้คือ ก็อยากให้สิ่งต่างๆ ดีขึ้นนะ แต่มองว่าสู้ไปก็ไร้ความหมาย อยู่นิ่งๆ ดีกว่านั่นเอง รวมไปถึงความต้องการใน ‘ทฤษฎีลำดับขั้นของมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy of Needs)’ ก็มีแนวโน้มว่า อาจจะอยู่ในลำดับขั้นที่สองอย่างความมั่นคงในหน้าที่การงาน (Safety Need) ด้วย

reason-why-people-complain-but-no-resign 2

นี่เลยเป็นเหตุผลว่า แม้จะรู้สึกอัดอั้น แต่พวกเขาก็ไม่เคยก้าวข้ามความกลัวได้สำเร็จ เพราะหากวันหนึ่งก้าวออกไป ต้องไปอยู่ท่ามกลางสิ่งที่ไม่คุ้นเคย ก็อาจจะไม่รู้สึกมั่นคง ไม่ได้รับการยอมรับมากเท่าออฟฟิศเก่าก็เป็นได้

ดังนั้น ครั้งต่อไปเวลาได้ยินเพื่อนคนไหนบ่น ขู่ว่าจะลาออกอีก ถึงจะรู้อยู่แก่ใจว่า ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น แต่นั่นแปลว่า พวกเขากำลังมีความทุกข์ ไม่สบายใจ อาจจะแค่ต้องการใครสักคนที่คอยรับฟังโดยไม่ตัดสินผิดหรือถูก

เวลาที่เพื่อนบ่นจะลาออกสารพัดแล้วไม่ออกสักที ชอบบอกว่า ชีวิตไม่มีตัวเลือกดีๆ เหมือนคนอื่น แต่จริงๆ แล้ว เขาได้เลือกแล้ว เลือกที่จะอยู่กับสิ่งเดิมๆ ต่อไปต่างหากล่ะ ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร It’s your choice.

แล้วคุณล่ะคิดยังไงกับเรื่องนี้ มีเพื่อนที่บ่นว่าจะออกแต่ไม่ออกสักทีไหม เคยเจอคำบ่นแบบไหนบ้าง คิดว่าเพราะอะไรพวกเขาถึงยังไม่ออก? มาแชร์ในคอมเมนต์กัน!

Sources: https://bit.ly/3E6BFU2

https://bit.ly/3BWsSBk

https://bit.ly/3Clc7Rx

https://bit.ly/3E5H8dv

https://bit.ly/3y6Y6Vk

https://bit.ly/3rjV7VF

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1