Type to search

ข้างนอกสดใส ข้างในจนตรอก ‘Quiet Desperation’ เมื่อชีวิตผิดพลาด เลยต้องทำงานที่ไม่ชอบแบบเงียบๆ

November 04, 2022 By Chompoonut Suwannochin
quiet-desperation

“ไม่แฮปปี้กับงาน ต้องฝืนทำในสิ่งที่ไม่ชอบ แค่ลืมตาตื่นขึ้นมาแล้วรู้ว่า วันนี้ต้องไปทำอีกแล้ว ก็หมดไฟไปซะดื้อๆ บางทีก็อยากลาออกให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเลย”

ไม่ได้มีคุณคนเดียวที่รู้สึกไม่มีความสุขกับงานแบบนี้หรอก ในโลกใบนี้ก็ยังมีผู้คนอีกมากมายที่เลือกเส้นทางชีวิตผิดจนต้องทำงานที่ไม่ชอบ เผชิญกับความรู้สึกจนตรอกเช่นกัน

โดยผลสำรวจของเดอะคอนเฟอร์เรนซ์บอร์ด (The Conference Board) ชี้ให้เห็นว่า มนุษย์ออฟฟิศชาวอเมริกันกว่า 50 เปอร์เซ็นต์บอกว่า ตนรู้สึกไม่ชอบงานที่กำลังทำ ความรู้สึกอันแสนอึดอัดเหล่านี้ก่อตัวมานานแล้ว แต่ไม่สามารถบอกใครได้ รวมไปถึงยังเกิดกับผู้คนประเทศอื่นที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และมีการแข่งขันสูงด้วย

quiet-desperation 1
Image by jcomp on Freepik

เฮนรี เดวิด ทอโร (Henry David Thoreau) เคยกล่าวไว้ว่า “The mass of men lead lives of quiet desperation.” คนจำนวนไม่น้อยใช้ชีวิตสิ้นหวังอย่างเงียบๆ

Quiet Desperation คือคำที่ใช้อธิบาย ‘ภาวะการใช้ชีวิตอย่างสิ้นหวังจนตรอก’ บอกใครไม่ได้มาเป็นเวลานาน โดยมีจุดร่วมเดียวกับ Quiet Firing และ Quiet Quitting คือ ‘ความเงียบ’

ซึ่งหลักๆ แล้ว ก็มีต้นตอมาจากการที่หลายๆ คนเอาคุณค่าของตัวเอง (Self-worth) กับหน้าที่การงานมายึดโยงกัน และการเลือกเส้นทางชีวิตที่ผิดพลาดในอดีต หรือพูดง่ายๆ ว่า ปากบอกโอเค แต่ลึกๆ แล้ว ไม่โอเค

ยกตัวอย่างเช่น หมอหรือคนที่ที่บ้านทำธุรกิจปูทางมาให้อย่างดี แม้ภายนอกจะดูสวยหรู หน้าที่การงานดี ชีวิตดี แต่จริงๆ แล้ว เพิ่งมาค้นพบว่า นี่ไม่ใช่เส้นทางที่ใช่ พอจะกลับลำไปตั้งหลักใหม่ ก็ไม่ทันแล้ว

หรืออีกมุมหนึ่งคือ อาจจะมีเงื่อนไขอื่นในชีวิตที่เป็นกำแพงมาขวาง เพราะฉะนั้น เลยต้องกล้ำกลืนฝืนทนทำงานที่ไม่ชอบ นอกจากนี้ การตั้งความหวังสูงลิ่ว (Colossal Expectation) ก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญของเรื่องดังกล่าวด้วย เนื่องจาก ถ้าทำไม่สำเร็จตามเป้า ก็อาจจะรู้สึกว่า คุณค่าของตัวเองลดลง ความสุขในชีวิตหายไป

แต่ถึงอย่างนั้น เงินก็ไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด และเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่เวิร์กกับทุกเรื่องเสมอไป เพราะงานวิจัยเรื่อง Over Long Haul, Money Doesn’t Buy Happiness แห่งมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย (University of Southern California) ระบุว่า การขึ้นเงินเดือนมีผลกับความสุขของคนเราแค่ระยะสั้น

สิ่งที่จะทำให้เราแฮปปี้กับการทำงานระยะยาวนั้นมีอยู่ 3 สิ่งด้วยกัน ได้แก่ อิสระในการตัดสินใจด้วยตัวเอง, ความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน และงานที่มีความหมาย

quiet-desperation 2

บทความบนเว็บไซต์สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) แนะนำวิธีการซ่อมจิตใจจากงานที่ไม่ชอบเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ขั้นตอนแรก ให้ Hack งานของตัวเองด้วยการลิสต์สิ่งที่ชอบของงาน, ความยุ่งยาก ความน่าปวดหัวของงาน และสิ่งที่อยากจะทำ แต่ยังไม่ได้ทำ โดยไม่จำเป็นต้องตรงกับ Job Description ก็ได้ แถมทั้งหมดนี้ก็สามารถเพิ่ม-ลดได้ตลอดเวลาด้วย

เดวิด จี อลัน (David G. Allan) ผู้เขียนบทความอธิบายว่า การทำแบบนี้จะช่วยให้เราเห็นภาพรวมความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และพอเวลาผ่านไป สิ่งที่ไม่ชอบก็จะค่อยๆ ลดน้อยลง ส่วนสิ่งที่ชอบก็จะค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น เมื่อถึงเวลานั้น เราก็จะเจอขั้นบันไดแห่งความสุขของการทำงานในที่สุด

ถัดมา ให้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน ถึงคนเราจะเลือกเกิดไม่ได้ และเลือกไม่ได้ว่าจะเจอคนแบบไหนที่ออฟฟิศ แต่สิ่งที่เรายังพอทำได้อยู่ นั่นก็คือการปรับปรุงความสัมพันธ์ เรียนรู้ว่า เพื่อนร่วมงานต้องการอะไร เราพอจะช่วยพวกเขาบรรลุเป้าหมายตรงไหนได้บ้าง? หรืออาจจะลองทักทายกันบ่อยๆ ชวนไปปาร์ตี้หลังเลิกงาน หรือกินข้าวตอนพักเที่ยงด้วยกันก็ได้

เพราะต่อให้เราจะไม่ชอบงานที่ทำมากแค่ไหน เจอลูกค้าที่เรื่องเยอะสักเท่าไร แต่อย่างน้อยที่สุด ก็ยังมีใครบางคนตั้งหน้าตั้งตารอเราอยู่ที่ออฟฟิศ และมีแหล่งชุบชูจิตใจชั้นดีที่จะช่วยให้ผ่านพ้นวันยากๆ ไปได้

ขั้นตอนสุดท้าย เดวิดบอกว่า ให้สร้างตำแหน่งงานใหม่ในจินตนาการ งานวิจัยเรื่อง Crafting a Job: Revisioning Employees as Active Crafters of Their Work ของเอมี เวอร์เซสสเนปสกี (Amy Wrzesniewski) และเจน อี ดัตตัน (Jane E. Dutton) จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดในโรงพยาบาล อาชีพที่หลายๆ คนมองว่า ต้องข้องเกี่ยวกับสิ่งปฏิกูล และมีปฏิสัมพันธ์กับคนป่วย คนใกล้ตาย ไม่ใช่งานในฝัน และงานที่ดีนัก

อย่างไรก็ตาม แม้จะดูเป็นงานที่น่าเบื่อ แต่งานวิจัยนี้พบว่า เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดในโรงพยาบาลยังคงชื่นชอบงานอยู่ โดยก็เป็นผลมาจากการ ‘Reframe’ ตีกรอบทัศนคติของงานใหม่

พวกเขาเริ่มต้นด้วยสารตั้งต้นอย่างการมองตัวเองว่า เปรียบเสมือน ‘ทูต’ ที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาผู้ป่วย หลังจากนั้น พฤติกรรมการทำงานต่างๆ ก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดในโรงพยาบาลรู้สึกว่า งานตัวเองมีความหมายมากขึ้น มีแรงใจ อยากจะตื่นไปทำในทุกวันเรื่อยๆ

หลายๆ ครั้ง จังหวะชีวิตก็ไม่ได้เหมาะเจาะ โชคชะตาก็ไม่ได้เข้าข้างเราขนาดนั้น บางคนเรียนจบมาแล้วอาจจะโชคดีได้เจองานที่รัก ได้ทำงานที่ใช่ทันที ในขณะที่บางคนต้องจับพลัดจับผลูไปทำงานที่ไม่ได้รักก่อน การเลือกเส้นทางชีวิตที่ผิดพลาดไม่ใช่เรื่องแปลก และเสียหายอะไร แต่อย่าลืมความจริงที่ว่า การทำงานในแต่ละวันกำลังหล่อหลอมเราให้เติบโตขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

Sources: https://bit.ly/3gv8gZW

https://cnn.it/3gu4akt

https://bit.ly/3CR3ehH

https://bit.ly/3CUXwvb

Trending

    Chompoonut Suwannochin

    Chompoonut Suwannochin

    อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง