LOADING

Type to search

ปราบลูกน้องอีโก้สูงด้วย ‘Put the right man on the wrong job’ กฎทองการบริหารสไตล์บุญเกียรติ โชควัฒนา แม่ทัพใหญ่แห่ง I.C.C.

ปราบลูกน้องอีโก้สูงด้วย ‘Put the right man on the wrong job’ กฎทองการบริหารสไตล์บุญเกียรติ โชควัฒนา แม่ทัพใหญ่แห่ง I.C.C.
Share

“Jack of all trades.” คือคำเปรียบเทียบในภาษาอังกฤษที่หมายถึง ‘มนุษย์ผู้เก่งกาจ’

ความหมายที่ดูเผินๆ แล้วดี เพราะหยิบจับอะไรก็ดูทำเป็น และเก่งไปซะหมด แต่หากมองให้ลึกลงไปอีกขั้น พฤติกรรมเหล่านี้ก็ทำให้ติดกับดักทางความคิด เกิดความรู้สึกว่า ‘ตัวเองเก่งกว่าคนอื่น’ หรือที่เรียกว่า ‘อีโก้ที่ไม่ดี (Unhealthy Ego)’ ซึ่งเป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่ทำให้ชีวิตของหลายคนไม่เจริญเท่าที่ควร

ไซมอน ซิเน็ก (Simon Sinek) นักพูดที่โด่งดังในเวทีเท็ดทอล์ก (TED Talks) และผู้เขียนหนังสือขายดีอย่าง Start With Why เคยให้คำอธิบายไว้ว่า บนโลกใบนี้ ไม่ว่าใครก็มีอีโก้ในตัวเองกันหมด ขึ้นอยู่กับว่า แต่ละคนจะเลือกใช้อีโก้ที่ดีหรือไม่ดีในการใช้ชีวิต

ในโลกของการทำงาน การได้ร่วมงานกับคนเก่งเป็นหนึ่งในกุญแจดอกสำคัญสู่ความสำเร็จ ทว่า บรรดากระบวนท่าระดับกระบี่ชั้นเซียนพวกนี้ก็มักมาพร้อมกับ Unhealthy Ego ที่สูงปรี๊ดจนทำให้ทีมคนอื่น และเราที่เป็นหัวหน้าถึงกับปวดหัวไปตามๆ กัน

ดังนั้น นี่จึงเป็นต้นตอปัญหาหลักที่หัวหน้าควรรีบแก้ไข เพราะไม่อย่างงั้น ก็อาจลุกลามไปสู่ปัญหาอื่น ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศการทำงานที่เป็นพิษ การแบ่งพรรค แบ่งพวก การไม่รัก ไม่สามัคคีกัน รวมไปถึงยังทำให้คนอื่นๆ ในทีมยกโขยงหนีจนเกิดอัตราการลาออก (Turnover Rate) ที่สูงเป็นประวัติการณ์ด้วย

แล้วเราจะหยุดกับดักความสำเร็จของพวกเขา ปราบบรรดาลูกน้องอีโก้สูงปรี๊ดได้ยังไง? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปรู้จักกับ ‘Put the right man on the wrong job’ กฎทองการบริหารคนของบุญเกียรติ โชควัฒนา ซีอีโอบริษัท ไอ.ซี.ซี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กัน

อย่างที่บอกไปแล้วว่า ส่วนใหญ่คนเก่งๆ มักมีอีโก้ติดตัว ตามปกติ จะมีแนวคิดที่ว่า Put the right man on ‘the right job’ หรือ Put the right man on ‘the like job’ หยิบเอาคนที่ใช่ไปทำงานที่ใช่หรืองานที่ชอบ เพราะเวลาพวกเขาที่ได้ทำงานที่ชอบ และถนัด โอกาสที่จะสำเร็จก็มากกว่า

ทว่า หากพิจารณาแนวคิดอย่างถี่ถ้วนแล้ว กลับพบว่า โอกาสสำเร็จที่มากนี้ก็ส่งผลให้ความมั่นใจในตัวเองของพวกเขามากขึ้นตาม ซึ่งเมื่อความมั่นใจสูงปรี๊ดก็เกิดเป็นความรู้สึกหยิ่งลำพอง ดูถูกความคิดของคนอื่น ไม่ยอมฟังหัวหน้าอย่างเราๆ เป็นธรรมดา

บุญเกียรติ โชควัฒนา มองว่า แทนที่จะ ‘Put the right man on the right job’ ให้ลองเปลี่ยนมาใช้แนวคิดขั้วตรงข้ามอย่าง ‘Put the right man on the wrong job’ แทน

โดยก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานว่า ใช้คนแบบ ‘ผิดที่ ผิดทาง’ เอาคนที่ใช่แบบเดิมไป ‘ทำงานที่ไม่ใช่’ เพื่อลดอีโก้ที่มีลง ทำให้พวกเขาเรียนรู้ว่า นอกเหนือจากงานที่ตัวเองชอบ และถนัด ก็ยังมีงานอื่นที่ไม่ถนัด และไม่ได้เก่งไปหมดทุกอย่าง เรียนรู้ที่จะถ่อมตัว รู้จักไปขวนขวาย ขอความรู้จากคนอื่น พัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการบ่มเพาะจิตใจ สร้างนิสัยก้าวสู่การเป็นผู้นำที่ดีในอนาคตไปในตัวด้วย

วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) มหาเศรษฐีระดับโลกเคยกล่าวไว้ว่า “ความล้มเหลวนั้นมาจากอีโก้ ความโลภ ความอิจฉา ความกลัว และการลอกเลียนแบบ” ไม่ต่างจากบุญเกียรติ โชควัฒนาที่มีวิสัยทัศน์ว่า “จุดจบของการเรียนรู้นั้นเกิดจากจุดเริ่มต้นของการรู้สึกว่าตัวเองเก่งกว่าคนอื่น”

อย่างบางคนที่เรียนมาสูง จบการศึกษาจากสถาบันดีๆ ก็อาจรู้สึกว่า ตัวเองเหนือกว่า พอเวลาใครพูดอะไรก็ไม่ฟัง ไม่สนใจ ก็ยิ่งทำให้ไม่มีใครชอบ ไม่มีใครอยากสนับสนุน ไม่ได้รับการยอมรับในการก้าวขึ้นไปสู่อีกระดับ ฉะนั้น จึงไม่แปลกเลยว่า ทำไมพวกเขาเหล่านี้ถึงไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตจริงแบบที่ผ่านมา

ในทางกลับกัน ถึงแม้แนวคิดการบริหารคนแบบผิดฝา ผิดตัวเช่นนี้จะมีผลดีอยู่ไม่น้อย แต่ว่ากันตามตรงแล้ว ก็กลับไปลดทอนความสุขในการทำงาน ที่นอกเหนือจากจะสร้างความรู้สึกไม่อยากทำงาน ไม่เกิดงานแล้ว ยังนำหายนะมาสู่องค์กรด้วย

เนื่องจาก เป็นการสูญเสียศักยภาพในการแข่งขันท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือด แถมถ้าบางคนไม่ได้มีกรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) ที่มากพอ พวกเขาก็อาจตัดสินใจโบกมือลาด้วยเหตุผลที่ว่า ‘อยู่ผิดที่ ต่อให้ขยันอีกกี่สิบปีก็ไม่โต’

ซึ่งทั้ง ‘Put the right man on the right job’ และ ‘Put the right man on the wrong job’ ก็ล้วนแต่มีข้อดี-ข้อเสีย และจุดจบไม่สวยอย่าง ‘การแยกย้ายกันไปเติบโต’ เหมือนกันหมด เพราะฉะนั้น การหยิบแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งมาใช้อย่างสุดโต่งก็เป็นเรื่องที่ไม่เวิร์กเท่าไร

การนำแนวคิด ‘Put the right man on the wrong job’ มาเป็นกฎทองในการบริหารคนให้ประสบความสำเร็จได้นั้นสิ่งสำคัญเลยก็คือ ‘ทุกคนในทีมต้องมีกรอบความคิดแบบเติบโต’ มองว่า Wrong job ที่ได้ทำเป็นโอกาสในการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ

สุดท้ายแล้ว จงหาจุดสมดุลแบบพอประมาณ อย่า Wrong job เยอะจนลูกน้องเกิดความรู้สึก ‘เหนื่อยก็พัก ถ้าเขาไม่รักก็พอเถอะ’ แต่ในขณะเดียวกัน ก็อย่า Right job เยอะจนลูกน้องเหลิง คิดว่า ตัวเองเหนือกว่าคนอื่น

ส่วนในฟากฝั่งของลูกน้อง ถึงบางครั้งการมีอีโก้จะเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องขีดเส้นใต้ไว้ว่า ต้องเป็นอีโก้ที่ดี (Healthy Ego) ด้วย เพราะการภูมิใจในตัวเอง เห็นคุณค่ารู้ว่า ‘ฉันมีดี’ โดยไม่ต้องรอให้คนอื่นมาบอกก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสู่ความสำเร็จ แต่ก็ต้องเตือนตัวเองด้วยว่า แม้เราจะเก่ง แต่ก็มีอีกหลายเรื่องที่คนอื่นเก่งกว่า เหมือนกับวิสัยทัศน์ของบุญเกียรติ โชควัฒนาที่มองว่า “ตัวเองไม่ได้เก่งที่สุด” หรือน้ำที่ไม่มีวันเต็มแก้วนั่นเอง…

Sources: https://bit.ly/3MiyPfH

https://bit.ly/37MRUHW

https://bit.ly/3Mi0Ggj

https://bit.ly/3wjr1VK

https://bit.ly/3FMoHJU

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1

You Might also Like