LOADING

Type to search

เพราะศูนย์ไม่ใช่แค่เป้าหมาย แต่คือเส้นชัยของเราทุกคน เมื่อองค์กรต้องใส่ใจและไปให้ถึง Net Zero ในปี 2050

เพราะศูนย์ไม่ใช่แค่เป้าหมาย แต่คือเส้นชัยของเราทุกคน เมื่อองค์กรต้องใส่ใจและไปให้ถึง Net Zero ในปี 2050
Share

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคืบคลานและส่งผลกระทบต่อวิถีการใช้ชีวิตประจำวัน  

และเป็นสัญญาณบอกกลายๆ ว่า นี่คือช่วงเวลา ‘หัวเลี้ยวหัวต่อ’ สำคัญ ให้มนุษย์หันกลับตัวมาดูแลรักษาโลกแทนที่จะปล่อยให้โอกาสนี้หลุดลอยไป จนคนรุ่นหลังไม่มีบ้านที่ชื่อว่าดาวโลกอีกต่อไ

ซึ่งปีนี้เป็นปีที่มีการขับเคลื่อนในเรื่องของ Net Zero หรือการรณรงค์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็น 0  จากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะภาครัฐ ประชาชน หรือเอกชนองค์กรใหญ่

มีหนึ่งงานที่จบไปแล้ว แต่ยังมีคนกล่าวถึง อย่าง GC Circular Living Symposium 2022: Together To Net Zero  โดย บริษัท พีทีที  โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC  ซึ่งถือว่าเป็นงานใหญ่ที่น่าจับตามอง โดยครั้งนี้เป็นการจัดงานต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อถ่ายทอดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ GC ยึดถือดำเนินงานมาตลอด ผ่านแนวคิด GC Circular Living โดยต่อยอดปีนี้เพื่อผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์  เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี ค.ศ.2050 

งานครั้งนี้ รวบรวมกว่า 40 ผู้นำทางความคิดและพันธมิตร จากหลากหลายวงการทั้งในประเทศและต่างประเทศ มาร่วมแบ่งปันแนวทาง ประสบการณ์ Success Case รวมถึงบูธนิทรรศการ เวิร์กช็อป เพื่อแชร์ความคิด มุมมอง เพื่อยกระดับความร่วมมือของกลุ่มคนที่มองเป้าหมายในทางเดียวกัน คือการก้าวไปสู่เป้าหมาย Net Zero ร่วมกัน

เพราะเรื่องโลกร้อน เป็นเรื่องที่ต้องทำในระยะยาวและห้ามหยุดลงมือทำ เราเลยขอสรุปไฮไลต์จากงานในครั้งนี้มาให้อ่านกัน เผื่อจะเป็นแรงบันดาลใจสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมของใครหลายคนได้

ทำไมโลกทั้งใบต้องร่วมภารกิจใหญ่ Together To Net Zero ?และเป้าหมายประเทศไทย

Net Zero คืออะไร? และทำไมจึงเป็นเทรนด์สำคัญที่ทั้งโลกต้องให้ความสำคัญ?

แน่นอนว่าจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศทำให้มนุษย์เผชิญความท้าทายในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะไฟป่า พายุ น้ำท่วม อากาศร้อนจัด กระทั่งหิมะตกในทะเลทราย ทำให้เกิดข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เรียกร้องให้ทุกองค์กรใหญ่ระดับโลกต้องร่วมมือกันสู่เป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2050

“โลกของเราต้องถูกสร้างระเบียบขึ้นใหม่ (Reinvented) ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างชาติ ระหว่างผู้คนกันเอง ระหว่างผู้คนและธรรมชาติ” นี่คือถ้อยคำจาก Massamba Thioye ผู้แทนจาก United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) ที่กล่าวบนเวที ถึงการร่วมมือกันของคนทั้งโลก ในการป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ขณะที่ประเทศไทยเองตั้งเป้า Net Zero ไว้ในปี 2065 นอกจากนี้​ ยังมีนโยบายสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ที่นำไปสู่การพัฒนา​ที่ยั่งยืนเช่นกัน การกล่าวเปิดงานโดยคุณวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกว่า Climate Change เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข และเป็นภารกิจใหญ่ของรัฐบาล แต่เรื่องที่น่ายินดี คือการที่เอกชนร่วมขับเคลื่อนนโยบายอย่างเต็มที่ เพราะเขาเชื่อว่า “ความร่วมมือจากภาคเอกชน เป็นส่วนสำคัญไปสู่เป้าหมาย Net Zero”

CEO Panel เมื่อผู้นำ ภาครัฐ-เอกชน ไทย ให้ความสำคัญสูงสุด ต่อสถานการณ์โลกร้อน

แน่นอนว่า การจะสร้างการเปลี่ยนแปลงและแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศได้ทันท่วงที สิ่งสำคัญหนึ่งคือ ผู้นำของหน่วยงานทั้งภาครัฐ (กำกับกฎหมาย) และภาคเอกชน (ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ) ต้องเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นและเร่งด่วน และลงมือทำในส่วนของตัวเอง

ในการจัดงานครั้งนี้ GC นำผู้บริหารจากภาครัฐและเอกชน ขึ้นมานั่งกระทบไหล่เพื่อพูดคุยกัน GC ถือเป็นหนึ่งในองค์กรไทยที่ผลักดันประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังเป็นอันดับต้นๆ โดยทางบริษัทเองได้ประกาศเป้าหมาย Net Zero ไว้ที่ปี 2050 ซึ่งเร็วกว่าเป้าของไทยถึง 15 ปี ภายใต้การนำของ ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง CEO GC พูดถึงภารกิจ และวิสัยทัศน์ แม้ว่าจะดำเนินธุรกิจก็ต้องทำภารกิจรักษ์โลกและใส่ใจสังคมควบคู่ไปด้วย เขาเชื่อว่าโลกวันนี้หมดยุคทุนใหญ่เติบโตคนเดียว การทำธุรกิจให้รอดและเติบโต ต้องพาทั้งสังคมไปพร้อมกันด้วย

“ผมคิดว่ามันเป็นภารกิจสำคัญที่ GC จะสร้างพันธมิตรและ Ecosystem ที่จะรวบรวมทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ เพื่อมุ่งสู่ Net Zero ไปพร้อมกัน” 

ขณะที่อีกหนึ่งสปีกเกอร์ที่ถูกจับตามากที่สุดอย่างคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเอง ได้กล่าวถึงภารกิจในฐานะพ่อเมือง กทม. ว่า ปัจจุบันเมืองหลวงประเทศไทยมีคนอยู่อาศัยถึง 10 ล้านคน แน่นอนว่าประชากรเผชิญกับความท้าทายไม่ว่าจะ PM2.5 หรือ น้ำท่วม ซึ่งเกิดจากปัญหาโลกร้อน ในฐานะผู้บริหารเมืองจะต้องหนุนนโยบาย Net Zero ให้ชัดเจนและเข้าถึงได้ง่าย แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1. บริการที่ดี 2. โครงสร้างพื้นฐานที่ดี และ 3. สร้างสัมพันธ์ที่ดี

และสิ่งสำคัญที่ต้องทำคู่กับ 3 เรื่องข้างต้น คือการเปลี่ยนพฤติกรรมคน เริ่มจากเรื่องเล็กๆ

“ทำอย่างไรจะเปลี่ยนพฤติกรรมคนได้ เราต้อง Think Big, Start Small นะ คือคิดการณ์ใหญ่ได้ แต่เริ่มจากเล็กๆ ก่อน ตอนนี้เราเริ่มบังคับแยกขยะในบางเขตแล้ว นี่คือ Start Small”

บริษัทระดับโลกกับแผนระยะยาวสู่ Net Zero 

ขยับไปที่ผู้นำองค์กรระดับโลกกันบ้าง พวกเขาทำอะไรกัน ณ วันนี้ GC ชวน อาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด และ วิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการ และประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า กางแผนงานของบริษัทระดับ Global ให้ได้ดูกัน ในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ 

อาเบลระบุว่า ในฐานะหัวเว่ยเป็นบริษัทเทคโนโลยี ต้องเริ่มจากการปรับตัวเองด้วยนวัตกรรมเพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอนภายในก่อน และปักหมุดต้องใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมดให้ได้

“เป้าหมายของประเทศไทยคือการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้ถึง 50% แต่ตอนนี้มีแค่ 10%” อาเบลบอก

ส่วนวิคเตอร์บอกว่า เนสท์เล่ตั้งเป้า Net Zero ไว้ที่ปี 2050 ผ่านแผนงาน 4 ด้าน คือ บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก, การดูแลและจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน, การจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

“เราต้องการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้สามารถนำไปรีไซเคิลได้ 100% ภายในปี 2025 ลดการใช้พลาสติกผลิตใหม่ลง 1 ใน 3 ซึ่งปัจจุบันบรรจุภัณฑ์ของเนสท์เล่ในไทยถึง 93% สามารถนำไปรีไซเคิลได้แล้ว ขณะเดียว เราตั้งเป้าใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ทั้งหมด 100% ในปี 2025 เช่นกัน”

ความสำคัญของภาคการเงิน ที่ช่วยขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย Net Zero 

‘ภาคการเงิน’ เป็นหนึ่งในภาคส่วนสำคัญในการลดภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างที่เราคาดไม่ถึงเช่นกัน ข้อสรุปจากเวทีเสวนา ‘Green Recovery: How Sustainable Finance Shape The Future of Business’ น่าสนใจและได้นำเสนอข้อเสนอใหม่ต่อขบวนการเคลื่อนไหว Net Zero 

คุณรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้เลย Climate Change เกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ ดังนั้นในฐานะผู้กำกับ แบงก์ชาติต้องกำหนดทิศทางในกรอบการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวกับ Sustainable Finance เช่น สร้างแรงจูงใจส่งเสริมการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม, กำหนดให้สถาบันการเงินต้องออกผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินด้านสิ่งแวดล้อมที่ตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจ ฯลฯ

ขณะที่ ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย อย่างคุณกฤษฎา แพทย์เจริญ กล่าวเสริมว่า ภาคการเงินสามารถกำหนดทิศทางของการทำธุรกิจยุคปัจจุบันได้ เช่น การปล่อยกู้ให้บริษัทที่คำนึงถึงความยั่งยืน

“ในต่างประเทศ นักลงทุนรายใหญ่ โดยเฉพาะกองทุนและแบงก์ใหญ่ๆ หลายแห่งในยุโรป อเมริกา หรือตะวันออกกลาง จะลงทุนหรือปล่อยกู้หรือไม่ จะให้ความสำคัญกับเรื่องของ Sustainable Risk ซึ่งทาง HSBC ก็เช่นกัน” คุณกฤษฎา กล่าว

คนรุ่นใหม่กับ Passion ในการเปลี่ยนแปลงโลก 

นอกจากเวทีหลักที่เต็มไปด้วยภาครัฐและองค์กรเอกชนขนาดใหญ่มานั่งล้อมวงพูดคุยหาข้อสรุป ภายในงานครั้งนี้ ก็มีเวทีของคนรุ่นใหม่ ที่ชวนคนตัวเล็กมาร่วมภารกิจใหญ่ไปด้วยกัน 

หัวข้อที่นำมาพูดคุยในประเด็นพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวกับคนทั่วไปมากที่สุดเรื่องหนึ่งก็ว่าได้ โดยหัวข้อนี้ได้ภาคเอกชนมาแลกเปลี่ยนแนวคิด Circular Economy การบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้วอย่างเป็นรูปธรรม และเพิ่มมูลค่าพลาสติกที่ใช้แล้ว 

ดร.ชญาน์ จันทวสุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กร GC เล่าให้ฟังว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ในภาคธุรกิจ สิ่งที่ทำคือ ผลิตอย่างไรก็ได้ให้ Zero Waste หรือมีของเสียเหลือทิ้งน้อยที่สุด รวมถึงเราจะสามารถดึงทรัพยากรเก่ามาแปรรูปใช้แทนทรัพยากรใหม่ได้หรือไม่ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียน ซึ่งปัจจุบัน GC ได้นำเอาพลาสติกรีไซเคิลมาแปรรูปทำแบรนด์สินค้าของตัวเอง ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจที่จะดำเนินขึ้นจริง

ด้าน อาเธอร์ หวง  CEO และผู้ก่อตั้ง บริษัท Miniwiz ไต้หวัน บริษัทที่นำเอาขยะมาแปรรูปใหม่ และสร้างในสิ่งใหญ่ นั่นคือเรือ และเครื่องบิน เขาบอกว่ามันสำเร็จไม่เต็มร้อย แต่สำหรับเขามันคือก้าวแรกที่สำคัญ หากมองภาพกว้างถึงโลกทั้งใบ นี่คือวิธีจะช่วยโลกในการกำจัดขยะ  Upcycle ให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

ทั้งบอกตรงกันว่า การจัดการขยะ เป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดของมนุษย์ และเป็นการช่วยโลกในมิติที่เล็กที่สุดโดยเริ่มได้จากตัวเอง จากที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นการ reuse  ของใช้ซ้ำ หรือการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัสดุรีไซเคิล และหากคนทั้งโลกทำสิ่งนี้ร่วมกัน การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก

อย่างไรก็ตาม ดร.สิงห์ เพิ่มอีกมุมมองที่น่าสนใจบนเวทีนี้ว่า Circular Economy เป็นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ไม่สามารถทำกันเองภายในองค์กร หรือ Loop ของตัวเองได้ แต่ต้องทำเป็นเครือข่าย โดยจะต้องเริ่มต้นจาก Close Loop ก่อน แล้วจึงขยายต่อไปหาพาร์ทเนอร์อื่น แต่สิ่งสำคัญคือ การทำเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น การนำวัสดุรีไซเคิลมาสร้างบ้านใหม่ ก็มักจะมีคนเสียผลประโยชน์ ดังนั้น เรื่องนี้เป็นโจทย์สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องคิดให้ครบถ้วนว่า จะทำอย่างไรให้การ ‘รักษ์โลก’ เป็นเรื่อง Win Win ของทุกฝ่ายให้ได้ด้วย

Green Career อาชีพสีเขียว สร้างรายได้ ไปพร้อมรักษ์โลก

เพราะโลกวันนี้ ไม่ใช่แค่ธุรกิจใหญ่ต้องปรับตัว แต่ธุรกิจ SMEs หรือธุรกิจรายย่อยเอง ก็ต้องขยับมาร่วมขบวนรักษ์โลกด้วย ตามเทรนด์ของผู้บริโภคที่กำลังให้ความสำคัญในประเด็นนี้

เวทีเสวนา Green Career ชวนคุยถึงเทรนด์อาชีพสีเขียว งานที่สร้างรายได้พร้อมกับดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน บนเวทีได้ข้อสรุปว่า ธุรกิจสีเขียว หลายคนคิดว่าจำเป็นต้องใช้ทุนเยอะกว่าธุรกิจดั้งเดิมทั่วไป แต่อันที่จริงไม่ได้ใช้ทุนเยอะจนขาดทุนแน่นอน และจะสร้างกำไรในระยะยาว ทั้งกำไรที่เป็นเม็ดเงิน รวมถึงกำไรที่จะคืนสู่สังคมด้วย 

ยกตัวอย่างจาก ‘แพรรี่พาย’ คุณอมตา จิตตะเสนีย์ อดีตเมคอัพอาร์ทิสต์ที่ผันตัวมาเป็น Urban Farmer และ Student of Earth เธอเล่าถึงสิ่งที่เธอทำอยู่ นั่นคือการถ่ายทอดเรื่องผ้าไทยท้องถิ่นจากทั่วประเทศ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก จนเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนทั่วประเทศไทย เธอเชื่อว่ามนุษย์กับธรรมชาติ พึ่งพากันมาอย่างยาวนาน และตอนนี้ถึงเวลาที่เราต้องดูแลพวกเขาให้ดีกว่าเดิม

หรือจะเป็นพลังจากคนรุ่นใหม่คุณณัฏชนา เตี้ยมฉายพันธ์ ผู้ก่อตั้ง Trumpkin Cheese อาหารประเภท Plant-Based Food  ซึ่งเป็นเนื้อสัตว์ที่ผลิตจากพืช เธอเชื่อว่าสิ่งนี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากปริมาณการทำปศุสัตว์ลงอย่างชัดเจน และเธอเชื่อว่าจะเป็นเทรนด์อาหารแห่งโลกอนาคต ที่ผู้คนจะหันมาสนใจจนกลายเป็นอาหารหลักในวันข้างหน้า

รวมไปถึง คุณมุก-เพลินจันทร์ วิญญรัตน์ ดีไซเนอร์ Co – Founder แบรนด์ Mook V และ Art Decorator ที่ใช้วัสดุรีไซเคิล ไม่ว่าจะกระดาษ ขวดพลาสติก ถุงน่องที่ไม่ใช้แล้ว หรือขยะจากทะเล มาสร้างสรรค์ศิลปะถักทอใหม่ๆ และสร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคม

และอาจารย์กิตติพงษ์ อุตตมะเวทิน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคนิคมอุตสาหกรรมระยอง ผู้ก่อตั้งร้าน ควินินคาเฟ่ ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ที่ดูแลและใส่ใจเมนูที่ดูแลสุขภาพของแต่ละช่วงวัย  รวมถึงการตกแต่งร้านจากของเหลือใช้ ทั้ง เหล็ก เศษไม้ มาใช้ในการทำเฟอร์นิเจอร์ เช่น โต๊ะ หรือประดิษฐ์ของตกแต่ง เช่น โคมไฟ ซึ่งถือเป็นการสร้างความยั่งยืน ทั้งด้านอาหารและการหมุนเวียนวัสดุเท่านั้น แต่เป็นความยั่งยืนระหว่างชุมชนและวิทยาลัย และเป็นการสร้างความยั่งยืนทางด้านฝีมือให้กับนักศึกษาด้วย

เดินเที่ยวในงาน ท่องประสบการณ์ไปกับ Net Zero City 

จบจากเซสชันบนเวที เรายังได้เดินชมบูธต่างๆ ที่น่าสนใจไปกับ Net Zero City  เติมความน่าสนใจด้วยเทคโนโยโลยีในแบบฉบับ GC 

Betterlivingland เป็น Net Zero City ที่จำลองการใช้ชีวิตในเมืองแห่งอนาคตในรูปแบบ Metaverse เพื่อให้ผู้เล่นเห็นภาพว่า ชีวิตจะเป็นอย่างไรในวันข้างหน้า หากโลกบรรลุเป้าหมาย Net Zero แล้ว

โดยผู้เล่น สามารถสร้าง Avatar ลองสวมใส่เสื้อผ้าที่ทำจากพลาสติกใช้แล้วจากแบรนด์รักษ์โลกอย่าง UPTOYOU  พร้อมเดินเที่ยว UPTOYOU Virtual Store ร้านค้าเมตาเวิร์ส ที่นำเอาสินค้า Upcycling ทั้งเสื้อผ้า หมวก กระเป๋า รองเท้า และของแต่งบ้าน ที่มีส่วนผสมของวัสดุจากพลาสติกใช้แล้ว มาวางจำหน่ายจริง โดยมาในดีไซน์เท่ ร่วมสมัย จนมองไม่ออกเลยด้วยซ้ำว่าผลิตมาจาก ‘เส้นใยยั่งยืน Revife Fiber by GC Upcycling’ โดยสินค้าไลน์ UPTOYOU เปิดตัวครั้งแรกในงานนี้  ได้บอกเล่าแนวคิดการออกแบบผ่าน 3 คอลเล็กชัน โดยมีสินค้าที่ UPTOYOU ออกแบบเอง และคอลเล็กชันที่เกิดจากการ Collaboration กับดีไซนเนอร์ผลงานระดับโลก UPTOYOU X Pomme Chan: Cool the Earth Collection และ UPTOYOU X Greyhound: Design Our Planet Collection

นอกจาก Betterlivingland นี้ยังมีโซนรักษ์โลกน่าสนใจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น

  • Net Zero Farm & Café ฟาร์มคาเฟ่สายกรีน ที่เสิร์ฟเมนู Plant-Based บนภาชนะ Bioplastic ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ พร้อมโซน Smart Farming สำหรับเรียนรู้การปลูกผักในฟาร์มและในเมือง 
  • Net Zero Living บ้านรักษ์โลก พื้นที่จัดแสดงผลิตภัณฑ์จาก Upcycling Products จากพลาสติกใช้แล้วที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • Net Zero Industry เรียนรู้เรื่อง Clean Energy กังหันลม พลังงานจากคลื่นทะเล Solar และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ในโรงงานสีเขียวด้วยพลังงานจากธรรมชาติ 

ความร่วมมือ มุ่งสู่เส้นชัยหมายเลข 0  

GC Circular Living Symposium 2022 ในปีนี้ แสดงให้เห็นถึงการยกระดับความจริงจังต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมจากภาคเอกชน จากจุดเริ่มต้น Circular Economy มุ่งสู่เป้าหมาย ‘Together To Net Zero’ มุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ โดยที่ไม่ได้ไปคนเดียว แค่จับมือพันธมิตรไปพร้อมกัน ร่วมแชร์ประสบการณ์ มีการสร้าง Platform เพื่อให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม 

เชื่อว่างานในครั้งนี้จะเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนแนวคิด นโยบาย แนวทางการดำเนินงานในระยะสั้นและระยะยาว และที่สำคัญคือ สร้างแรงบันดาลใจและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เกี่ยวกับการรักษาโลกใบนี้ของเรา

เพราะ “ศูนย์ไม่ใช่แค่เป้าหมาย แต่คือเส้นชัยของเราทุกคน” ดังนั้น Net Zero จึงเป็นงานกลุ่มที่คนทั้งโลก ต้องร่วมมือกัน เพื่อให้เรายังเหลือโลกที่สวยงามใบนี้ ส่งต่อให้แก่คนรุ่นหลังต่อไป

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 

FB page: https://facebook.com/gable.thWebsite: https://bit.ly/3ARcV01

Tags::