LOADING

Type to search

ไม่รู้เรื่องโค้ด แต่นายเองก็เป็นได้นะ! ‘Prompt Engineering’ อาชีพใหม่ที่สร้างรายได้หลักล้าน

ไม่รู้เรื่องโค้ด แต่นายเองก็เป็นได้นะ! ‘Prompt Engineering’ อาชีพใหม่ที่สร้างรายได้หลักล้าน
Share

สมัยก่อน หากเอ่ยถึงงานสายเทคโนโลยี แน่นอนว่า สิ่งแรกๆ ที่หลายๆ คนมักนึกถึงก็คงหนีไม่พ้นการเขียนโค้ดเป็น การใช้โปรแกรมที่มีความเฉพาะทางเป็น

แต่กาลเวลา และยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวล้ำมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2023 ที่อาจเรียกได้ว่า เป็นปีทองของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) เลยก็ว่าได้

เห็นได้จากยักษ์ใหญ่ของโลกหลายๆ เจ้าที่พาเหรดกันเปิดตัวเครื่องมือต่างๆ ที่ถูกพัฒนาจากปัญญาประดิษฐ์ออกมาฟาดฟันกัน ไม่ว่าจะเป็น ChatGPT, Midjourney, DALL-E หรือแม้กระทั่งเครื่องมือน้องใหม่อย่าง Bard AI ของกูเกิล (Google) ก็ด้วย

แต่นอกเหนือจากการเติบโตของปัญญาประดิษฐ์ที่ทำให้ชีวิตของมนุษย์ง่ายขึ้นแล้ว มันก็ยังสร้างโอกาสให้เราด้วย โดยมาในรูปแบบของอาชีพใหม่ที่สร้างรายได้หลักล้าน นั่นก็คือ ‘Prompt Engineering’

แล้วอาชีพนี้ทำหน้าที่อะไรบ้าง และทำเงินได้มากน้อยแค่ไหน? บทความนี้ Future Trends จะพาไปดูกัน

Prompt Engineering ทำหน้าที่อะไรบ้าง?

prompt-engineering-job 1
Image by Lifestylememory on Freepik

Prompt Engineering หรือวิศวกรชุดคำสั่ง คืออาชีพที่เกิดจากความก้าวล้ำของเทคโนโลยี ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก มีหน้าที่ในการสื่อสารกับปัญญาประดิษฐ์ด้วยการเขียนข้อความ และชุดคำสั่ง ‘ภาษามนุษย์’ (Input) เพื่อให้ปัญญาประดิษฐ์ประมวลผลลัพธ์ได้ตรงกับความต้องการ และจดจำ นำไปใช้กับเคสอื่นๆ ต่อในภายหลัง (Output)

สอดคล้องกับที่ไรลีย์ กูดไซต์ (Riley Goodside) Prompt Engineer ในสตาร์ตอัปแห่งหนึ่งเผยว่า ก่อนหน้านี้ได้ใช้ GPT-3 ไป แม้จะเป็นเครื่องมือที่ดี แต่มันก็ยังไม่สมบูรณ์นัก ยังจำเป็นจะต้องเชื่อฟังคำสั่งที่ตนพูดอยู่

แต่ถ้าสมมติเกิดปัญญาประดิษฐ์เกิดประมวลผลผิดพลาด ไรลีย์ก็จะป้อนชุดคำสั่งให้ระบบจดจำอีกรอบหนึ่ง หรือถ้าต้องการลองอะไรใหม่ๆ ตนก็จะเชื่อมกับโปรแกรมอื่นที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะจริงๆ 

อย่างไรก็ตามคนที่ทำอาชีพนี้ไม่จำเป็นต้องรู้โปรแกรมเฉพาะทาง และไม่ต้องเขียนโค้ดเป็นเลยด้วยซ้ำ คล้ายกับ No Code Platform ที่แม้ผู้ใช้จะไม่รู้เรื่องโค้ด แต่ก็สามารถสร้างเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งโปรแกรมเมอร์อีกต่อไป!

Prompt Engineering สำคัญอย่างไร?

prompt-engineering-job 2
Image by Freepik

บางคนอาจเกิดคำถามว่า ปัญญาประดิษฐ์ก็เก่งอยู่แล้วรึเปล่า ทำไมถึงต้องมีอาชีพนี้ด้วย? ซึ่งที่ต้องมีอาชีพ Prompt Engineering ก็เพราะต่อให้ปัญญาประดิษฐ์จะเก่งกาจมากแค่ไหน แต่ท้ายที่สุดแล้ว มันก็ยังมีจุดอ่อนอยู่ดี

เนื่องจาก ก่อนที่จะสร้างผลลัพธ์ให้เรา ปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ได้รับการเทรนนิ่งชุดข้อมูลที่เป็นตัวหนังสือจากแหล่งต่างๆ ที่เป็นโมเดลด้านภาษา ส่งผลให้ผลลัพธ์ที่ออกมามีแนวโน้มจะเกิดการลอกเลียนแบบชุดข้อมูลที่เรียนรู้มาสูง

อีกทั้งหากไม่ป้อนชุดคำสั่งที่มีความเฉพาะเจาะจงมากๆ มันก็อาจจะประมวลผลลัพธ์ออกมาได้ไม่ค่อยดี แต่ที่หนักไปกว่านั้นก็คือ บางเคสอาจจะถึงขนาดที่ให้ผลลัพธ์ได้ไม่ตรงกับชุดคำสั่ง และบริบทเลยทีเดียว

ดังนั้น การมีอยู่ของ Prompt Engineering จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะไม่ต่างอะไรจากคุณครูที่พร่ำสอนลูกศิษย์ให้เติบใหญ่ และป้องกันการเกิดขึ้นของสร้างประวัติศาสตร์ที่ซ้ำรอยเดิมนั่นเอง

Prompt Engineering ทำเงินได้มากน้อยแค่ไหน?

prompt-engineering-job 3
Image by drobotdean on Freepik

ทุกวันนี้อาชีพ Prompt Engineering กำลังเนื้อหอมในตลาดแรงงานเป็นอย่างมาก บริษัทหลายๆ แห่งเริ่มมีการประกาศรับสมัครกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แถมยังพร้อมสู้ราคาค่าตัวที่สูงลิ่วด้วย

อย่างเช่น แอนทรอปิก (Anthropic) บริษัทคู่แข่งโอเพนเอไอ (OpenAI) ที่ได้รับการสนับสนุนจากกูเกิลก็ได้มีการประกาศรับสมัคร Prompt Engineering โดยตั้งค่าตอบแทนไว้สูงถึง 335,000 ดอลลาร์ต่อปี หรือตีเป็นเงินไทยราวๆ 12 ล้านบาท เฉลี่ยตกอยู่ที่เดือนละ 1 ล้านบาท

หรืออย่างแคร์ริที (Klarity) บริษัทรับตรวจสัญญาว่าจ้างที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการประมวลผล ล่าสุดก็ได้มีการประกาศรับสมัครเช่นกัน โดยให้ค่าตอบแทนมากถึง 230,000 ดอลลาร์ หรือเป็นเงินไทยประมาณ 7.9 ล้านบาท

แม้นาทีนี้ Prompt Engineering จะเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ได้เป็นกอบเป็นกำ และเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจของการรีบเก็บ รีบเกษียณ ไม่ต้องนั่งทำงานหลังขดหลังแข็งไปจนแก่ หรือเราเรียกว่า F.I.R.E. Movement

แต่หากพูดกันตามเนื้อผ้าแล้ว ท่ามกลางยุคที่สิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ก็มีความเป็นไปได้พอสมควรว่า มันก็อาจจะมาเร็วไปเร็ว ในวันที่ปัญญาประดิษฐ์เก่งกว่านี้อีกหลายเท่าตัว พอถึงเวลานั้น การมีอยู่ของ Prompt Engineering ก็อาจจะไม่จำเป็นอีกแล้วก็ได้

เหมือนกับที่สไตน์เนิร์ด โตรเคล (Steinert-Threlkeld) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (University of Washington) เปรียบเทียบว่า มันเหมือนกับอาชีพ Search Specialist ในยุคแรกๆ ของกูเกิลที่ต้องคอยคิดคำค้นหาบนกูเกิล เพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาสมบูรณ์แบบ แต่เมื่อเวลาผ่านไป Search Specialist ก็กลายเป็นอาชีพที่ไม่จำเป็นนั่นเอง

เพราะฉะนั้น ใครที่กำลังสนใจอาชีพนี้อยู่ก็อย่าลืมรีบไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมกันล่ะ 🙂

Sources: https://wapo.st/3IkSThz

https://bloom.bg/3BDhbiY

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1

You Might also Like