LOADING

Type to search

หัวตื้อ ไอเดียตัน คิดงานไม่ออก รู้จักวิธีสร้าง Productive flow ให้สมองกลับมาแล่นอีกครั้ง!

หัวตื้อ ไอเดียตัน คิดงานไม่ออก รู้จักวิธีสร้าง Productive flow ให้สมองกลับมาแล่นอีกครั้ง!
Share

ในเวลาทำงาน เชื่อว่าหลายๆ คนคงจะเคยมีช่วงเวลาที่รู้สึกว่า อะไรๆ ก็ติดขัดไปหมด ไม่มีสมาธิกับงาน สมองตื้อ คิดอะไรก็ไม่ออก เวลาผ่านไปช้ากว่าปกติ แต่ขณะเดียวกัน ก็มีบางครั้งที่รู้สึกว่า อะไรๆ ก็ลื่นไหลไปหมด มีสมาธิจดจ่อกับงานอย่างเต็มที่ หัวแล่น ไอเดียพรั่งพรู หนึ่งชั่วโมงผ่านไปเร็วเหมือนหนึ่งนาที

แล้วช่วงเวลาที่ว่านี้คืออะไร จะสร้างได้ยังไง? วันนี้ Future Trends จะพาไปรู้จักกับ Productive flow ที่จะช่วยให้สมองทุกคนกลับมาแล่น ไอเดียกลับมาลื่นอีกครั้งกัน

Productive flow คืออะไร?

Productivity flow เป็นสภาวะของจิตใจเมื่อความคิดสร้างสรรค์พุ่งขึ้นสูงสุด โฟกัสกับสิ่งที่ทำได้ดีขึ้น สตีเวน คอตเลอร์ (Steven Kotler) ผู้เขียนหนังสือ The Rise of Superman: Decoding the Science of Ultimate Human Performance อธิบายว่า “ในสภาวะนี้ เราจะจดจ่อกับงานที่ทำจนไม่รับรู้อย่างอื่น การรับรู้ถึงตัวตนกับเวลาจะหายหรือถูกบิดเบือนไป และ Performance ของเราจะทะลุขีดจำกัด” ซึ่งนอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานแล้ว ยังทำให้ทำงานอย่างมีความสุขมากขึ้นด้วย

วิธีสร้าง Productive flow มีอะไรบ้าง?

อันที่จริงแล้ว วิธีการเข้าสู่สภาวะ Productive flow ของแต่ละคนก็มีรายละเอียดที่ต่างกัน อย่างไรก็ตาม Productive flow ก็เป็นประสบการณ์ที่ทุกคนสามารถมีได้ และน่าจะเคยผ่านกันมาบ้างแล้ว ไดแอน อัลเลน (Diane Allen) นักไวโอลินชื่อดังได้แนะนำเรื่องนี้บนเวทีเท็ดทอล์ก (TED talks) ว่า ให้สังเกตตัวเองว่าชอบทำอะไร ช่วงก่อนจะเข้าสู่สภาวะ Productive flow มีอารมณ์แบบไหน อะไรคือสิ่งที่ทำแล้วรู้สึกว่าช่วยรวมสมาธิ และโฟกัสก่อนเริ่มงาน? เพราะคำตอบเหล่านั้นอาจเป็นวิธีการเข้าสู่สภาวะ Productive flow ของเราก็ได้ รวมไปถึงสามารถใช้ตัวช่วยบางอย่างสร้างสภาวะ Productive flow ได้ด้วย ดังนี้

1. เลือกงานที่จะทำให้ดี

การเลือกงานทำที่เหมาะสมจะช่วยให้เราเข้าถึง Productive flow ได้ง่ายขึ้น โดยควรเลือกงานที่มีความสำคัญ หรือระดับความท้าทายที่ ‘พอดี’ เป็นหลัก เนื่องจาก งานที่ขาดความท้าทายนั้นอาจทำให้เรารู้สึกเบื่อจนจิตใจไม่อยู่กับงานได้ ในทางกลับกัน งานที่เต็มไปด้วยความท้าทายก็สามารถสร้างแรงจูงใจให้เราจดจ่ออยู่กับงานได้มากขึ้นเช่นกัน

2. ฝึกฝนขั้นตอนเข้าสู่สภาวะ Productive flow

อย่างที่กล่าวไปในก่อนหน้านี้ว่า แต่ละคนมีวิธีการเข้าสู่ Productive flow ที่ไม่เหมือนกัน นอกจากการสังเกตให้รู้ถึงวิธีการของตัวเองแล้ว การฝึกฝนทำซ้ำอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้กลายเป็นนิสัย หรือกลไกติดตัว ก็สามารถช่วยให้เราเข้าสู่ Productive flow ในเวลาที่ต้องการมากขึ้นด้วย

3. ขจัดสิ่งรบกวนออกไป

ถ้าอยากตั้งโฟกัสให้ได้มากขึ้น ก็ต้องขจัดสิ่งรบกวนสมาธิออกไปให้มากที่สุดก่อน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งรบกวนภายนอก และในก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น สิ่งรบกวนภายนอก ทั้งโซเชียลมีเดีย แจ้งเตือนข้อความต่างๆ และเสียงรบกวนทั้งหลาย ส่วนสิ่งรบกวนภายใน ทั้งความเครียด และอารมณ์ที่ไม่ดี เป็นต้น เพราะการขจัดสิ่งเหล่านี้ก่อนเริ่มงานถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

4. เลือกช่วงเวลาที่เหมาะสม

แต่ละคนมีช่วงเวลาที่ทำงานได้ดีต่างกัน บางคนก็ตอนเช้า บางคนก็ตอนบ่าย หรือบางคนก็ตอนกลางคืนลงไปด้วยซ้ำ ดังนั้น การเลือกทำงานในช่วงเวลาที่เหมาะกับตัวเองที่สุดจะสามารถช่วยให้เราเข้าถึง Productive flow ได้เช่นกัน

แม้วิธีการเหล่านี้จะไม่ได้เข้าใจยาก หรือซับซ้อนมาก แต่ในทางปฏิบัติ ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทายอยู่ เพราะจริงๆ แล้ว เราไม่สามารถบังคับ หรือกำหนดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า อยากจะมี Productive flow เมื่อไร แถมยังมีปัจจัยอีกมากมาย ทั้งที่ควบคุมได้ และไม่ได้ ซึ่งก็พร้อมจะขวางเราไม่ให้เข้าสู่สภาวะนี้อยู่ทุกเมื่อ ฉะนั้น ความมีวินัย และการฝึกฝนตัวเองให้พร้อมจะเข้าสู่ flow การทำงานตลอดเวลาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

Sources: https://bit.ly/3OV6Ns1

https://bit.ly/3ORyNgn

Tags::

You Might also Like