LOADING

Type to search

ถ้าไม่มีหมูเราจะอยู่กันยังไง? ทำไมคนไทยชอบกินหมู แล้ว ‘หมูแพง’ ส่งผลอย่างไรกับเศรษฐกิจไทยบ้าง

ถ้าไม่มีหมูเราจะอยู่กันยังไง? ทำไมคนไทยชอบกินหมู แล้ว ‘หมูแพง’ ส่งผลอย่างไรกับเศรษฐกิจไทยบ้าง
Share

ตั้งแต่ปลายปี 2564 กระทั่งขึ้นศักราชใหม่มาได้ไม่กี่สัปดาห์ นอกจากข่าวไวรัสกลายพันธุ์ที่ยังไม่รู้ว่าจะไปสิ้นสุดตรงไหน ค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราคาหมูที่สูงเป็นประวัติการณ์ทะลุกิโลกรัมละ 200 บาท และยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลงแต่อย่างใด

ด้วยราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นห่วงโซ่อุปทานจึงกระทบถึงกันหมด ตั้งแต่ราคาหมูหน้าเขียง ร้านอาหารทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก ราคาบุฟเฟต์ที่มีเนื้อหมูเป็นวัตถุดิบสำคัญ รวมถึงเนื้อสัตว์ประเภทอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากราคาเนื้อหมูก็ด้วย

น่าสนใจว่า ในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ที่แม้จะมีวัตถุดิบในท้องตลาดสูงขึ้นแต่ก็ยังไม่ได้รับความสนใจในวงกว้าง เท่ากับราคาเนื้อหมูมาก่อน ทำให้เรานึกตั้งคำถามย้อนกลับไปว่า ถ้าไม่มีเนื้อหมูเป็นส่วนประกอบในอาหารเราจะใช้ชีวิตอยู่กันยังไง? เพราะสำหรับบางประเทศแล้วเนื้อหมูไม่ใช่ประเภทเนื้อสัตว์ที่ได้รับความนิยมมากเท่ากับเนื้อวัวหรือเนื้อไก่ แล้วตั้งแต่เมื่อไรกันที่คนไทยนิยมบริโภคเนื้อหมู ทีเด็ดของมันอยู่ตรงไหน และถ้าราคาหมูยังถูกตรึงไว้ในระดับราคาเท่านี้จะผลกับเศรษฐกิจไทยมากน้อยแค่ไหน

ผศ.ดร.ดินาร์ บุญธรรม อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเคยให้ข้อมูลไว้ว่า หากย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่นักโบราณคดีค้นพบในหลุมขุดค้นเกี่ยวกับวัฒนธรรมการกินก็คือ เศษซากกระดูกของหมูป่า ซึ่งเป็นหมูพันธุ์ท้องถิ่นที่ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว มนุษย์ในยุคนั้นก็นิยมล่านำมาบริโภคเนื้อ และเอาเข้าจริงจนถึงทุกวันนี้มนุษย์เราก็ยังนิยมรับประทานเนื้อหมูป่าอยู่เช่นกัน

ส่วนเนื้อหมูบ้านหรือเนื้อสุกรนั้นนักประวัติศาสตร์คาดการณ์กันว่า ผู้ที่นำเข้ามาน่าจะเป็นคนจีนในยุคที่ไทยเริ่มมีการค้าขายแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐ ช่วงนั้นกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองท่าศูนย์กลางการค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีคนจีนโพ้นทะเลเข้ามาตั้งถิ่นฐานถาวร

และแน่นอนว่าเมื่อเข้ามาอยู่พำนักเป็นหลักเป็นแหล่งแล้ว ก็ต้องมีการนำอาหารการกินของตนเองมาด้วย จากนั้น จึงเผยแพร่สู่คนพื้นเมือง ซึ่ง ณ ขณะนั้นเนื้อหมูบ้านยังไม่ใช่ของที่นิยมรับประทานกันทั่วไป รวมถึงยังไม่ใช่ของราคาถูกที่หากินได้ทั่วไปเท่ากับเนื้อหมูป่า

กระทั่งในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์เนื้อหมูบ้านเริ่มได้รับความนิยมในหมู่คนไทยมากขึ้น และหมูบ้านก็กลายเป็นวัตถุดิบสำคัญของคนไทย เป็นอาหารจานหลักที่นิยมบริโภคกันมาจนถึงปัจจบุัน ฉะนั้น เมื่อมองย้อนกลับไปในเชิงประวัติศาสตร์แล้วเราจะพบว่า คนไทยมีการบริโภคหมูมายาวนานหลายร้อยปี หากถามว่า ไม่มีหมูแล้วจะอยู่ได้ไหม? ก็คงจะอยู่ได้

แต่มากไปกว่านั้นก็คือ ทำไมเราต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยการตัดข้ามวัตถุดิบดังกล่าวออกไป เพียงเพราะมีราคาที่แพงขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จากการเพิกเฉยต่อปัญหาของหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ และบทบาทรับผิดชอบการแก้ปัญหาราคาสินค้าแพง

พูดอย่างถึงที่สุดแล้ว ราคาเนื้อหมูราคาสูงที่สุดในตอนนี้อย่างเนื้อหมูสามชั้นมีราคาเกือบจะเทียบเท่าค่าแรงขั้นต่ำแล้วด้วยซ้ำ ปัญหาราคาเนื้อหมูแพงจึงต้องกลับไปแก้ไขที่ต้นเหตุอย่างโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (AFS) จะทำอย่างไรกับแม่พันธุ์หมูที่ตายไป จะทำอย่างไรเพื่อเยียวยากลุ่มผู้เลี้ยงหมูรายย่อย และไม่ทำให้เกิดการผูกขาดเนื้อหมูในมือนายทุนใหญ่หรือผู้ผลิตเจ้าใดเจ้าหนึ่ง

ในมุมของเศรษฐกิจภาพใหญ่นั้น อย่างที่เริ่มเห็นกันเป็นทอดๆ มาตั้งแต่ปี 2564 แล้วว่า เค้าลางของราคาสินค้าในตลาดเริ่มมีการปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ราคาผัก ราคาเนื้อหมู กระทั่งวันนี้ (วันที่ 10 มกราคม 2565) ราคาไข่ไก่ก็มีการปรับตัวขึ้นเช่นกัน เพราะเมื่อสินค้าประเภทหนึ่งปรับตัวสูงขึ้น สินค้าอื่นๆ ในท้องตลาดก็มักจะถีบตัวตามไปเช่นเดียวกัน นี่เป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลและกระทรวงที่มีหน้าที่ควบคุม ตรึงราคา แก้ปัญหาราคาสินค้าโดยเฉพาะ

ขณะที่โควิด-19 ยังจ่อกลายพันธุ์ไม่สิ้นสุด วัคซีนที่มีประสิทธิภาพอย่าง mRNA ก็ยังกระจายไม่ทั่วถึง ราคาสินค้าที่พาเรตดีดตัวขึ้นเรื่อยๆ และค่าแรงขั้นต่ำที่ยังถูกตรึงไว้ 300 บาทต่อชั่วโมงตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก็คงต้องจับตาและระมัดระวังการใช้จ่ายเงินดีๆ เพราะนาทีนี้คงหวังพึ่งภาครัฐคงไม่ใช่คำตอบของทางรอดเศรษฐกิจไทยได้เลย

Sources: https://bit.ly/3MwKXK1

https://bit.ly/3EFoGa7

Tags::