LOADING

Type to search

“rPET ทางเลือกใหม่ของผู้บริโภค” การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน อีกหนึ่งทางออกของปัญหา “ภาวะโลกรวน หรือ Climate Change” ที่ต้องลงมือทำทันที …

“rPET ทางเลือกใหม่ของผู้บริโภค” การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน อีกหนึ่งทางออกของปัญหา “ภาวะโลกรวน หรือ Climate Change” ที่ต้องลงมือทำทันที …
Share

ภารกิจของบริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายเครื่องดื่มรายใหญ่ คือการกำหนดแนวทางและลงมือทำอย่างจริงจัง เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจไปพร้อมๆ กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ก่อนหน้านี้ ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย เคยมาเล่าเกี่ยวกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธีเพื่อให้เกิดการจัดการขยะพลาสติกอย่างครบวงจรกันไปแล้ว (ใครสนใจไปอ่านกันได้ที่นี่ https://futuretrend.co/growing-for-good/) แน่นอนว่ายังมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับความยั่งยืนให้คุยกันต่ออีกมากมาย Future Trends เลยพาทางผู้ผลิตเครื่องดื่มเจ้าใหญ่รายนี้มานั่งคุยกันอีกครั้งเกี่ยวกับเรื่องที่กำลังจะเป็นเทรนด์ใหม่และอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของทุกคน นั่นคือ ‘ขวดพลาสติก rPET ทางเลือกใหม่ของผู้บริโภค’

คนทั่วไปอาจจะยังไม่ค่อยได้ยิน คำว่า rPET (อาร์-เพ็ท) มากเท่าไหร่ แต่ถ้าพูดถึงพลาสติก PET ก็น่าจะคุ้นหูอยู่มาก เพราะเมื่อมองรอบตัวถึงสิ่งของที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ก็จะพบว่าหลายอย่างทำมาจากพลาสติก PET หรือ Polyethylene terephthalate พลาสติกที่มีความใสและมีความเหนียวสูง สามารถป้องกันการซึมผ่านของไอน้ำ ก๊าซและไขมันได้ดี จึงนิยมใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ ซึ่งพลาสติก PET ที่ใกล้ตัวเราที่สุด คือขวด PET ที่ใส่เครื่องดื่มนั่นเอง

ขวด PET เกือบทั้งหมดเป็นพลาสติกชนิดใช้แล้วทิ้ง (Single-use Plastic) ทั้งที่จริงแล้ว ขวด PET ไม่ควรถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะ เพราะตัวมันเองมีมูลค่ามากและสามารถนำกลับมารีไซเคิล หมุนเวียนใช้ใหม่ได้ 100% ในชื่อของขวดพลาสติกรีไซเคิล หรือ recycled PET (ขวด ‘rPET’) เทรนด์บรรจุภัณฑ์ใหม่ ที่ทั่วโลกกำลังมุ่งหน้าไป

ต้องบอกเลยว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีการรีไซเคิลพัฒนาก้าวหน้าไปมาก ทำให้ขวด rPET ที่ได้ มีคุณภาพดีแทบจะไม่แตกต่างจากการใช้พลาสติกผลิตใหม่เลย ยังคงความใส แข็งแรง ที่สำคัญยังนำกลับมาบรรจุอาหารและเครื่องดื่มได้อย่างปลอดภัยตามมาตรฐานของหน่วยงานด้านความปลอดภัยอาหาร (เช่น FDA)  หลายประเทศทั่วโลกใช้กันมาพักใหญ่แล้ว ในกลุ่มธุรกิจของทั้ง Suntory และ PepsiCo ก็เช่นกัน โดยเฉพาะในโซนอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ในญี่ปุ่น หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างเวียดนาม มีการใช้ขวด rPET กันแล้วและผู้บริโภคก็ให้การตอบรับเป็นอย่างดี

ขวด rPET อาจฟังดูเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย แต่เราไม่ควรพลาดทำความรู้จัก และค้นหาคำตอบว่า…ทำไม rPET จึงจะเป็นทางเลือกใหม่ของผู้บริโภค?

รีไซเคิลไม่ใช่แค่การล้าง แต่สะอาดมากกว่า เพราะคือการแปรสภาพใหม่

กว่าจะได้ขวด rPET แต่ละขวดนั้น ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน เพราะการรีไซเคิลไม่ใช่แค่การล้าง แต่เป็นการนำวัสดุที่ใช้แล้วมาผ่านกระบวนการแปรสภาพ หลอม และปรับปรุงคุณภาพ เพื่อให้กลับมามีคุณสมบัติเทียบเท่าหรือใกล้เคียงของเดิม หรือให้ได้วัตถุดิบใหม่ เพื่อนำกลับมาใช้ผลิตขวดอีกครั้ง

เส้นทางของการรีไซเคิล เริ่มต้นจากขวดพลาสติก PET ที่ผู้บริโภคดื่มเครื่องดื่มจนหมด ถูกคัดแยกอย่างดีออกจากขยะอื่นๆ และส่งไปยังโรงงานรีไซเคิลที่มีกระบวนการที่ทันสมัย

ทุกขั้นตอนของการรีไซเคิลต้องมีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานสากล เมื่อขวด PET ถูกลำเลียงผ่านสายพานเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ขั้นตอนแรกคือการแยกชิ้นส่วนฝาและฉลากออกไป เพราะเป็นวัสดุคนละชนิดที่ไม่สามารถรีไซเคิลร่วมกันได้ จากนั้นขวด PET จะถูกบดเป็นเกล็ดพลาสติกชิ้นเล็กๆ (Flakes) และส่งต่อไปยังกระบวนการล้างทำความสะอาดด้วยเทคนิคพิเศษหลายขั้นตอนเพื่อกำจัดสิ่งปนเปื้อนออกไปให้ได้มากที่สุด ไม่เพียงเท่านี้เกล็ดพลาสติกที่สะอาดแล้วจะถูกส่งไปยังขั้นตอนสำคัญคือการหลอมด้วยความร้อนสูง และใช้เทคโนโลยีเฉพาะในการปรับปรุงคุณภาพ จนได้ออกมาเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล (rPET resin) ที่สะอาด เป็นเกรดที่ใช้สัมผัสอาหารได้

สุดท้าย เม็ดพลาสติก rPET ที่ได้ จะถูกนำไปเป่าขึ้นรูปเป็นขวด rPET และนำกลับมาใส่เครื่องดื่มอีกครั้ง เราเรียกกระบวนการรีไซเคิลแบบนี้ว่า “Bottle-to-Bottle Recycling”

หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าในประเทศไทยมีโรงงานรีไซเคิลขวดพลาสติก PET ที่ได้มาตรฐานระดับสากลอยู่หลายแห่ง แต่ละแห่งนอกจากจะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยแล้ว ยังเป็นเทคโนโลยีที่องค์การอาหารและยาสหรัฐ (United States Food and Drug Administration: USFDA) หรือหน่วยงานตรวจสอบความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority : EFSA) ให้การรับรองอีกด้วย จึงมั่นใจได้เลยว่าขวด rPET จากโรงงานรีไซเคิลในไทยมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล

ขวด rPET ผ่านมาตรฐาน อย. ปลอดภัย ดื่มได้

แล้วขวด rPET ในประเทศไทย ไปถึงไหนแล้ว?

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย สถาบันพลาสติก กลุ่มบริษัทผู้รีไซเคิล ตลอดจนคณะผู้วิจัยจากสถาบันการศึกษา ทำงานร่วมกันจนเกิดการปลดล็อกกฎระเบียบของกระทรวงสาธารณสุขในเดือนมิถุนายน 2565 เพื่ออนุญาตให้ใช้ขวดพลาสติก rPET เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่มได้ นับว่าเป็นอีกก้าวสำคัญที่กฎระเบียบด้านอาหารของประเทศไทยมีความเป็นสากล ตอบรับกับเทรนด์ความยั่งยืนของโลกมากขึ้นไปอีกขั้น

อย่างที่เราทราบกันดี สำหรับ อย. ความปลอดภัยของอาหารถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก โดยกว่าที่ในประเทศไทยจะเริ่มใช้ขวด rPET กับเครื่องดื่มได้ ผู้ผลิตต้องทำให้ อย. มั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยก่อน ดังนั้น กระบวนการผลิตขวดพลาสติก rPET จึงต้องได้รับการตรวจรับรองจาก อย. โดยต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยทั้งจากผู้เชี่ยวชาญและ อย. ถึง 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ กระบวนการรีไซเคิลต้องมีประสิทธิภาพ, เม็ดพลาสติก rPET ต้องไม่มีสารปนเปื้อนเกินจากเกณฑ์ที่กำหนด รวมถึงขวดพลาสติก rPET ที่จะนำมาใช้ ต้องมีคุณภาพ ปลอดภัย โดยใช้มาตรฐานเดียวกับขวดพลาสติกใหม่เลยทีเดียว

และที่สำคัญที่สุด เกณฑ์การประเมินความปลอดภัยของ อย. ไทย เข้มงวดกว่า USFDA (องค์การอาหารและยาสหรัฐ) จึงมั่นใจได้ว่าขวด rPET ที่จะใช้ในประเทศไทย ปลอดภัย ดื่มได้แน่นอน

rPET เทรนด์ใหม่ ที่จะพาโลกนี้ไปต่ออย่างยั่งยืน

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว น่าจะพอเห็นภาพว่าขวด PET มีมูลค่า และไม่ควรถูกทิ้งเป็นขยะแล้วฝังกลบไปเสียเฉยๆ แต่ที่จริงแล้วเป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน เพราะด้วยคุณสมบัติที่สามารถรีไซเคิลได้ เราสามารถนำขวด PET มารีไซเคิลเป็นขวด rPET อีกกี่ครั้งก็ได้ หมุนเวียนไปไม่รู้จบ

ข้อดีของขวด rPET มีอะไรบ้าง? ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ การลดปริมาณขยะไปสู่หลุมฝังกลบ เพราะเราได้นำขวด PET ที่ก่อนหน้านี้ถูกทิ้งเป็นขยะกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ และอาจไม่ใช่แค่นั้น ขวด PET ที่นำมารีไซเคิลมากขึ้นจะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่เล็ดลอดออกสู่สิ่งแวดล้อมได้ด้วย

จากเว็บไซต์ ESG | The Report ให้ข้อมูลสนับสนุนว่าขวด rPET ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการใช้ PET ผลิตใหม่ เพราะช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ ที่สำคัญกระบวนการรีไซเคิลก็ใช้พลังงานน้อยกว่าการผลิตพลาสติกใหม่ได้สูงสุดถึง 50% ใช้พลังงานน้อยลงแบบนี้ ก็จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวการสำคัญของภาวะโลกรวนลงได้ ลองคิดดูเล่นๆ ว่า หากเราสามารถนำขวด PET มาหมุนเวียนรีไซเคิลได้หลายๆ ครั้ง จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกมากมายขนาดไหน (Ref. https://www.esgthereport.com/what-is-rpet-and-why-is-it-important-to-sustainability/)

ถ้ามองให้ใกล้ตัวมากกว่านั้น เราสามารถเก็บขวด PET เพื่อนำไปขายให้กับผู้รับซื้อ สร้างรายได้เล็กๆ น้อยๆ ได้ และหากในอนาคตที่การรีไซเคิลได้รับความนิยมมากขึ้น ขวด PET ที่เป็นวัตถุดิบก็จะเป็นที่ต้องการ จนอาจทำให้ราคารับซื้อสูงขึ้น และสร้างรายได้เพิ่มขึ้นได้

สรุปง่ายๆ ก็คือ การรีไซเคิลขวด PET มาเป็นขวด rPET จะกลายเป็นเทรนด์ใหม่ อีกหนึ่งทางออกของการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญอยู่ และยังเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างเป็นรูปธรรม

ผู้บริโภครักษ์โลก ทุกคนเป็นได้

ทุกคนอาจจะมีคำถามว่า แล้วผู้บริโภคอย่างเราจะมีส่วนสนับสนุนได้อย่างไรบ้าง?  คำตอบง่ายๆ คือ เริ่มจากการเลือกซื้อสินค้าในชีวิตประจำวัน 

พวกเราสามารถสนับสนุนสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ ตัวอย่างเช่น เวลาซื้อเครื่องดื่มต่างๆ ให้สังเกตว่าเป็นขวดพลาสติก PET ใส ไม่มีสี ที่มีสัญลักษณ์สามเหลี่ยมรีไซเคิลหมายเลข 1 ใต้ขวด ขวดเหล่านี้สามารถนำไปรีไซเคิลหมุนเวียนเป็นขวดใหม่ได้  มีปลายทางคือการรีไซเคิล ไม่ใช่การใช้แล้วโยนทิ้งให้ย่อยสลายตามกาลเวลา

และสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการเลือกซื้อ คือ หลังจากใช้ขวด PET เสร็จแล้ว สิ่งที่ต้องเริ่มทำคือการ ‘คัดแยก’ ขวด PET ใส ไม่มีสี ออกจากขยะอื่นๆ เพื่อให้ได้ขวดที่สะอาดกลับสู่กระบวนการรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด สุดท้ายคือนำขวด PET ที่คัดแยกแล้ว มอบให้พี่ๆ พนักงานเก็บขยะ หรือไปส่งตามจุดรับ หรือใส่ถังคัดแยกเฉพาะขวด PET ซึ่งตอนนี้เริ่มมีให้เห็นบ้างแล้วตามตลาดใหญ่ๆ และบางสวนสาธารณะในกรุงเทพมหานคร ซึ่งในปีที่ผ่านมา ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ได้ร่วมสนับสนุนถังแยกขวด PET ให้แก่กรุงเทพมหานคร จำนวนกว่า 50 ถัง  เพื่อส่งเสริมการนำขวด PET ที่ใช้แล้วกลับมารีไซเคิลผลิตเป็นขวดได้ใหม่ (Bottle-to-Bottle Recycling)

ขวด rPET บรรจุภัณฑ์ที่กำลังจะเป็นเทรนด์ใหม่และอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของทุกคน เราคงจะได้เห็นการเริ่มใช้ขวด rPET มากขึ้นในประเทศไทย ในอนาคตอันใกล้นี้

Tags::

You Might also Like