LOADING

Type to search

อ่านเกม ‘Ophtus’ แว่นเบิกเนตรเกมเมอร์ กับคอนเซ็ปต์ Eyewear for all ผ่าน Macro-influencer marketing

อ่านเกม ‘Ophtus’ แว่นเบิกเนตรเกมเมอร์ กับคอนเซ็ปต์ Eyewear for all ผ่าน Macro-influencer marketing
Share

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่แบรนด์แว่นตาเกมเมอร์ออปตัส (Ophtus) ประกาศเปิดตัวพรีเซนเตอร์คนใหม่อย่าง ‘ปวิน ชัชวาลย์พงศ์พันธ์’ รองศาสตราจารย์แห่งศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต (Kyoto university) ผู้ลี้ภัยทางการเมืองในต่างแดนนั้นก็เกิดกระแสฮือฮาอย่างมากบนโลกโซเชียล

ออปตัส คือแว่นตาสัญชาติไทยที่คนในวงการรู้จักเป็นอย่างดีในฐานะแว่นถนอมสายตาสำหรับเล่นเกมโดยเฉพาะ เคยมีวลีฮิตไวรัลที่ว่า “ถ้าไม่อยากจะตาบอด ต้องมาที่ออปตัส” รวมไปถึงยังเป็นแบรนด์แว่นที่เอก ฮาร์ดร็อคเกอร์ (Heartrocker) นักแคสต์เกมชื่อดังที่มีผู้ติดตามหลักล้าน และมิกกี้ ปองภพ รัตนแสงโชติ อดีตนักแข่งอีสปอร์ต (E-sports) เคยใส่ในการแข่งขันระดับโลกมาแล้วด้วย

ถ้าใครติดตาม จะรู้กันดีว่า ออปตัสได้มีการชูกลยุทธ์ ‘การตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer marketing)’ มาโดยตลอด และนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรก

แล้วทำไมออปตัสถึงต้องจ้างอินฟลูเอนเซอร์เยอะขนาดนี้ด้วย การตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์มีดียังไง? วันนี้ Future Trends จะมาเล่าให้ฟังกันค่ะ

หากย้อนกลับไปช่วงสิบกว่าปีก่อน สื่อยังไม่ค่อยหลากหลายนัก ยุคนั้นผู้บริโภคเปรียบเสมือนผู้รับสารแบบไม่มีทางเลือก (Passive audience) แบรนด์ต่างๆ ส่งโฆษณาอะไรคนก็เชื่อไปหมด แต่เมื่อเวลาผ่านไป สื่อใหม่ (New media) ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด ใครๆ ก็เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างง่ายดาย อำนาจของสื่อดั้งเดิม (Traditional media) ถูกท้าทายอีกครั้ง บทบาทของผู้บริโภคเปลี่ยนไปเป็นผู้แสวงหาข่าวสาร (Active audience) เลือกที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ทำหรือไม่ทำตามก็ได้

ในวันที่ผู้บริโภคเริ่มไม่ค่อยไว้ใจดารา นักแสดง เพราะส่วนใหญ่คนเหล่านี้มักจะเป็น ‘เสียงจ้าง’ มากกว่า ‘เสียงจริง’ คำว่า “อินฟลูเอนเซอร์หรือผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด” จึงถูกพูดถึงอย่างแพร่หลาย และกลายเป็นหนึ่งในข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อสำหรับหลายคน ไม่ว่าจะเป็นจากคำแนะนำ หรือการใช้จริงก็ล้วนแล้วแต่ส่งผลไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และแน่นอนว่า ก็ได้ผลดีมากจนอาจถึงขั้นเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ออปตัสต้องหยิบมาใช้เลยทีเดียว

จากรายงาน State of Influencer Marketing 2021 ของเคลียร์รีเสิร์ช (Klear research) ชี้ว่า การใช้อินฟลูเอนเซอร์เข้ามาช่วยโปรโมตทำให้ผลตอบรับของแบรนด์ดีขึ้นถึง 57 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ รวมไปถึงผลวิเคราะห์โดยเนลสัน แคททารีน่า (Nielsen Catalina) และแท็ปอินฟลูเอน (TapInfluence) ถึงกรณีศึกษาการใช้กลยุทธ์การตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ของเครื่องดื่มแบรนด์ซิลค์ (Silk) ที่ระบุว่า ช่วยให้เกิดคอนเวอร์ชัน (Conversion) และผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on Investment หรือ ROI) สูงกว่าเดิมถึง 11 เท่า

โดยล่าสุดทางแบรนด์ก็ได้ชูกลยุทธ์ใหม่ ขยายไปในกลุ่มตลาดมวลชน (Mass) มากขึ้น ปรับคอนเซ็ปต์เป็น ‘Eyewear for all’ ผ่าน Macro-influencer (กลุ่มคนที่มีผู้ติดตามตั้งแต่ 100,000-1,000,000 คน) ปวิน ชัชวาลย์พงศ์พันธ์ นักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวทางสังคม ตอกย้ำภาพลักษณ์แว่นตาแห่งความเท่าเทียมสำหรับ ‘ทุกคน’ ควบรวมทั้งนักเรียน นักศึกษา อาจารย์ ผู้ใช้งานบนโซเชียลมีเดีย หรือแม้กระทั่งผู้ลี้ภัยอย่างตัวปวินเองที่สามารถใช้ได้เช่นกัน

ด้วยฐานผู้ติดตามของปวินที่มีจำนวนมาก บุคลิกส่วนตัวที่ใส่แว่นตาเป็นประจำ ภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือในบทบาทอาจารย์ ผู้มากความรู้ความสามารถ และเจ้าของตลาดหลวงที่ใหญ่ที่สุดบนเฟซบุ๊ก (Facebook) เรียกได้ว่า การทุ่มงบโฆษณาครั้งนี้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เพราะที่แน่ๆ สร้างการรับรู้ (Awareness) ของผู้คนบนโลกโซเชียลได้เป็นอย่างดี เกิดการพูดถึงแบบปากต่อปาก (Word of mouth) อีกทั้งสื่อ สำนักข่าวต่างๆ ก็มีการตีข่าวประเด็นนี้ให้ โดยที่ทางแบรนด์ไม่ต้องเสียเวลา และเสียค่าโฆษณาเพิ่มแต่อย่างใด (Earned media) หรือพูดง่ายๆ ว่า ‘ยิงปืนนัดเดียวแต่ได้นกกลับมาถึง 2 ตัว’

อย่างไรก็ตาม แม้จะเข้าถึงกลุ่มคนได้หลากหลาย หากมองอีกมุมหนึ่ง ความสนใจของเหล่าผู้ติดตามอินฟลูเอนเซอร์รายนี้ก็ดูจะไปกับกลุ่มคนในตลาดมวลชนทั้งหมดแบบที่ออปตัสตั้งเป้าเอาไว้ไม่ได้สักเท่าไร เนื่องจากไม่ได้สนใจเรื่องเกมเป็นพิเศษ ประกอบกับความเชี่ยวชาญเฉพาะ และค่านิยมส่วนตัวที่ตรงกันข้ามกับกลุ่มคนอีกฟากฝั่งหนึ่ง ซึ่งพูดกันตามตรง หากเป็นกลุ่มคนในวงการเกมหรือเชี่ยวชาญเฉพาะด้านแว่นตามานำเสนอ ก็อาจจะดูจริง น่าสนใจ และให้ความมั่นใจในคุณภาพได้มากกว่า

ในทางกลับกัน ปีที่ผ่านมาเทรนด์ไม่เน้นสวยหล่อแต่ขอสาระ (Reliable idols) กำลังมาแรง เดิมทีเวลาเลือกติดตามใครสักคนบนโลกโซเชียล ส่วนใหญ่มักจะเลือกจากหน้าตา รูปลักษณ์ภายนอก หรือไลฟ์สไตล์เป็นหลัก แต่พอโควิด-19 เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต การอวดสวยหล่อ ไลฟ์สไตล์ก็เป็นเรื่องยาก เพราะทุกคนต้องระมัดระวังการใช้ชีวิตกันยิ่งกว่าเดิม

อีกทั้งในยุคที่ข่าวปลอมมีให้เห็นเต็มหน้าฟีด การนำเสนอสาระ ข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนต่างมองหา และสำคัญขึ้นเรื่อยๆ โดยจากกิจกรรม และโพสต์ต่างๆ ในอดีตของปวินก็ยิ่งเป็นแรงเสริมให้ผู้ติดตามเชื่อ และไว้วางใจมากขึ้นอีกทาง

ณ วันนี้ อินฟลูเอนเซอร์กลายเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ ช่วยให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างง่ายดาย ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อไม่น้อย เป็นเหมือน ‘พลังขายไร้ตัวตนที่ทรงอานุภาพมาก’ พลังหนึ่ง และทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น สุดท้ายแล้ว ไม่อาจสรุปได้ว่า หากธุรกิจไหนใช้แล้วจะประสบความสำเร็จทันที เพราะในโลกของธุรกิจไม่มีสูตรความสำเร็จที่ตายตัว ทุกอย่างคือ ‘การเรียนรู้ ทดลอง และลงมือทำไปเรื่อยๆ’

Sources: https://bit.ly/3Lhu0mg

https://bit.ly/3vGodAu

https://bit.ly/37F9RYO

https://bit.ly/3OwRd6m

https://bit.ly/399Jrir

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1