LOADING

Type to search

ใครว่า NFT มีแต่งานศิลปะ? เมื่ออนาคต NFT อาจกลายมาเป็น ‘Big Data’ ด้านการแพทย์

ใครว่า NFT มีแต่งานศิลปะ? เมื่ออนาคต NFT อาจกลายมาเป็น ‘Big Data’ ด้านการแพทย์
Share

เห็นชื่อหัวข้อมาเป็น ’NFT’ (Non-Fungible Token) แบบนี้ ทุกคนกำลังนึกถึง NFT ที่เป็นงานศิลปะกันอยู่หรือเปล่า?

ถ้ากำลังนึกถึงอยู่ เราอยากให้ทุกคนลืมภาพจำแบบเดิมๆ ที่มีเกี่ยวกับ NFT ไปก่อน เพราะในตอนนี้ นักจริยธรรมการแพทย์ (medical ethicist) บางส่วน กำลังพัฒนาให้ NFT กลายมาเป็น ‘Big Data’ ที่เก็บรวบรวมข้อมูลทางการแพทย์ไว้อย่างมากมาย

ในปัจจุบัน ข้อมูลทางการแพทย์อย่างประวัติการรักษา ประวัติการรับยาหรือวัคซีน และประวัติการผ่าตัดของคนไข้ จะถูกเก็บอยู่ในรูปแบบเอกสารดิจิทัลบนเซิร์ฟเวอร์หรือระบบคลาวด์ (cloud) ของแต่ละสถานพยาบาล ซึ่งก็ดูเป็นวิธีทั่วไปที่หลายๆ อุตสาหกรรมใช้กันอยู่ และไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่สำหรับวงการแพทย์ ไม่ใช่แค่บุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ที่ต้องใช้ข้อมูลในการรักษาคนไข้ อย่างบริษัทผู้ผลิตยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงนักวิจัยเองก็ต้องใช้ข้อมูลตรงนี้ ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาคนไข้ และทำให้วงการแพทย์มีความก้าวหน้ามากกว่าเดิม

แน่นอนว่า บริษัทและนักวิจัยเหล่านี้ ต่างก็ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ เพื่อแลกกับการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งมันได้กลายเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำไปโดยปริยาย เพราะบริษัทหรือนักวิจัยตัวเล็กๆ คงไม่มีกำลังและเงินทุนมากพอในการเข้าถึงข้อมูลส่วนนี้ จึงทำให้ข้อมูลส่วนใหญ่ตกไปอยู่ในมือของบริษัทที่เป็นเจ้าตลาดอยู่แล้วมากกว่า

เมื่อมองอีกนัยหนึ่ง ถึงแม้ว่า บริษัทใหญ่ๆ จะสามารถเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์ของคนไข้ได้อย่างถูกต้อง และใช้เพื่อพัฒนาวงการแพทย์เท่านั้น แต่ก็ถือว่าเป็นการรุกล้ำข้อมูลส่วนตัว ‘แบบเทาๆ’ รูปแบบหนึ่งหรือเปล่า? เพราะขนาดข้อมูลทั่วไปอย่างหมายเลขโทรศัพท์ วันเกิด ที่อยู่ เรายังไม่ค่อยอยากให้ใครรู้เลย แต่นี่เป็นถึงข้อมูลการรักษาของเราเลยนะ จะปล่อยให้ใครก็ไม่รู้ มาเอาข้อมูลเหล่านี้ ไปใช้จริงๆ เหรอ?

ด้วยเหตุนี้ นักจริยธรรมการแพทย์บางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดเผยข้อมูล ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้รับความยินยอมจากคนไข้ จึงพยายามหาแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ จนเกิดเป็นไอเดียที่จะนำ NFT มาใช้ในการเก็บข้อมูลนั่นเอง และเมื่อไอเดียนี้ เกิดขึ้นมา ก็ต้องมีนักจริยธรรมการแพทย์คนอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว จนกลายเป็นความขัดแย้งของสองขั้วความเห็นที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

[ ความเห็นของนักจริยธรรมการแพทย์ จากฟากฝั่งที่เห็นด้วยกับการใช้ NFT ]
การที่คนไข้ถือครอง NFT ที่มีข้อมูลทางการแพทย์ของตัวเองอยู่ ก็เหมือนมียามคอยปกป้องข้อมูล และมีผู้เฝ้าประตูคอยตรวจสอบการเข้าถึงข้อมูลของบุคคลที่สามเสมอ โดยที่คนไข้สามารถเลือกได้ว่า จะเปิดสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลในส่วนใด และสามารถใช้ข้อมูลตรงนี้ ในการทำอะไรได้บ้าง ผ่านสิ่งที่เรียกว่า ‘Smart Contract’ คือเมื่อบริษัทยาหรือนักวิจัยสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คนไข้ตั้งไว้ได้ ก็จะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทันที

[ ความเห็นของนักจริยธรรมการแพทย์ จากฟากฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ NFT ]
การใช้ NFT เพื่อเก็บข้อมูลการรักษาของคนไข้ ไม่ได้มีความสมเหตุสมผลเลย เพราะโดยปกติ ข้อมูลที่ถูกเก็บในรูปแบบเอกสารดิจิทัล จะมีการกำหนดขอบเขตในการเข้าถึงอยู่แล้ว อีกทั้งข้อมูลการรักษาบางอย่างจะต้องถูกเก็บเป็นความลับเท่านั้น การปล่อยให้คนไข้ตัดสินใจเปิดสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลได้เอง โดยไม่ปรึกษาคนกลางอย่างแพทย์ เป็นเรื่องที่อันตรายมาก และหากข้อมูลเหล่านั้น ตกไปอยู่ในมือของผู้ไม่หวังดี ก็จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความมั่นคงของวงการแพทย์ได้ หรือต่อให้การนำ NFT มาใช้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากขนาดไหน ก็ยังต้องศึกษาเพิ่มจนกระจ่างอยู่ดี

และหากในอนาคต NFT ที่เป็น Big Data ด้านการแพทย์ประสบความสำเร็จขึ้นมาจริงๆ ในมุมของคนไข้จะได้ประโยชน์อย่างไร?

แน่นอนว่า ข้อมูลการรักษาพยาบาลตลอดทั้งชีวิตจะถูกเก็บไว้ใน NFT ไม่ว่าจะไปรักษาที่ไหน ก็สามารถนำประวัติการรักษาที่มีมาแต่เดิม ไปทำการรักษาต่อได้ทุกที่ ลองจินตนาการเล่นๆ ว่า คุณในช่วงอายุ 20 ปี เป็น first jobber ที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัวอยู่ในไทย จนเมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 30 ปี คุณมีหน้าที่การงานมั่นคง และได้โอกาสไปทำงานที่ต่างประเทศ แต่ดันโชคร้าย เกิดประสบอุบัติเหตุเล็กน้อยขึ้นมา แล้วต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลในประเทศนั้น เมื่อพยาบาลเข้ามาซักประวัติคุณ คุณก็ให้สิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์บน NFT ที่มีประวัติการรักษาในไทยไป ซึ่งมันก็อาจจะช่วยให้แพทย์และพยาบาลสามารถวางแผนการรักษาคุณได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

ท้ายที่สุดแล้ว ความสำเร็จของการใช้ NFT ในการเก็บข้อมูลทางการแพทย์ อาจจะขึ้นอยู่กับผลการต่อสู้ของสองขั้วความเห็นที่แตกต่างกันมากกว่าปัจจัยอื่นๆ ถ้าหาทางลงไม่ได้ ก็คงจบแบบวิน-วิน (Win-Win) อย่างการได้ผลลัพธ์เป็น Big Data ที่มีหน้าตาเป็นลูกผสมระหว่าง NFT กับการเก็บข้อมูลบนเซิร์ฟเวอร์แบบเดิมหรือเปล่า?

Sources: https://bit.ly/3EAEgnl

https://bit.ly/3v0udoi

Tags::

You Might also Like