LOADING

Type to search

I love you in every Multi-Metaverse Multiverse มีจริงไหม ต่างกันอย่างไรกับ Metaverse

I love you in every Multi-Metaverse Multiverse มีจริงไหม ต่างกันอย่างไรกับ Metaverse
Share

ช่วงนี้ หากพูดถึงภาพยนตร์ที่กำลังออกฉายอยู่ คงไม่มีเรื่องไหนที่จะมีกระแสร้อนแรงไปกว่า ‘จอมเวทย์มหากาฬ ในมัลติเวิร์สมหาภัย’ (Doctor Strange in the Multiverse of Madness) หรือที่สาวกแฟนหนังมาร์เวล (Marvel) เรียกกันจนติดปากว่า ‘หมอแปลก’ นั่นเอง

หลังจากที่หนังออกฉายได้ไม่นานคำว่า ‘มัลติเวิร์ส’ (Multiverse) ก็กลายเป็นคำฮอตฮิตติดลมบนที่ไม่มีใครไม่รู้จัก และถูกใช้ในโลกออนไลน์อย่างเป็นวงกว้าง จนบางคนเริ่มคิดไปไกลแล้วว่า หรือตอนนี้ จะมี ‘เราอีกคน’ ที่อยู่ในเวิร์สอื่นจริงๆ ?

จริงๆ แล้ว แนวคิดเกี่ยวกับมัลติเวิร์ส หรือพหุจักรวาลเป็นสิ่งที่มีมานานมาก คาดว่า มีการบัญญัติคำนี้ ขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เลยด้วยซ้ำ และต่อมาก็ได้กลายป็นแนวคิดที่ถูกนำมาใช้เป็นพล็อตหลักในการดำเนินเรื่องของภาพยนตร์ไซไฟ (Sci-fi) มากมาย จนกระทั่งความยิ่งใหญ่ของจักรวาลมาร์เวลก็ทำให้คำๆ นี้ เฟื่องฟูไปถึงหูคนดูได้ในที่สุด

ว่าด้วยความหมายของคำว่า ‘มัลติเวิร์ส’

มัลติเวิร์ส เป็นแนวคิดที่ก่อตัวมาพร้อมกับ ‘ทฤษฎีจักรวาลคู่ขนาน’ (Parallel Universe) ที่ทุกคนต่างต้องเคยได้ยินชื่อมาอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต โดยแนวคิดนี้ อธิบายว่า จักรวาลที่เราอาศัยอยู่ไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว แต่ยังมีจักรวาลอีกมากมายที่อาจจะมีหน้าตาแบบนั้น หน้าตาแบบนี้ หรือมีจักรวาลแฝดที่หน้าตาเหมือนกับเราเป๊ะๆ ก็เป็นได้

นอกจากนี้ ชีวิตของผู้คนในแต่ละจักรวาลอาจจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงไปเลย อย่างในจักรวาลนี้ เราคือพนักงานออฟฟิศที่เป็นมนุษย์เงินเดือนธรรมดาๆ แต่ในจักรวาลอื่น เราคือนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องที่คลุกตัวอยู่แต่กับงานวิจัยชิ้นเอกของตัวเอง

นั่นเท่ากับว่า เราหนึ่งคนคงมีตัวตนอีกมากมายนับไม่ถ้วน ตามจำนวนของจักรวาลที่ก็ไม่มีใครนับได้ แต่เมื่อนึกถึงความหลากหลายตัวตน และการสร้างตัวตนที่หลากหลาย จะทำให้เรานึกถึงอีกคำหนึ่งขึ้นมาทันที นั่นก็คือ ‘เมตาเวิร์ส’ (Metaverse) หรือโลกเสมือนใบใหม่ที่อาจกลายเป็นที่พักพิงในการหาประสบการณ์ใหม่ๆ ของผู้คนในอนาคต

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายๆ คนอาจจะเริ่มรู้สึกว่า ทั้งคำว่า ‘มัลติเวิร์ส’ กับ ‘เมตาเวิร์ส’ ต่างก็เหมือนกัน และต่างกันในบางมุม ดังนั้น เราจึงอยากชวนทุกคนมาร่วมกันวิเคราะห์ในมิติต่างๆ ถึงความเหมือนและแตกต่างกันของสองคำนี้

Multiverse VS Metaverse กับคำอุปสรรคบอกความหมาย

มาเริ่มกันที่การวิเคราะห์คำอุปสรรค (Prefix) ของทั้งสองคำกันก่อน ‘มัลติ’ (Multi) แปลว่า มาก หรือหลากหลาย ส่วน ‘เมตา’ (Meta) แปลว่า ท่ามกลาง หรือการเปลี่ยนแปลง จากความหมายของคำ ทำให้เราพอสรุปได้ว่า มัลติเวิร์ส คือสิ่งที่ถูกคาดว่า มีอยู่เดิมในธรรมชาติ ส่วนเมตาเวิร์ส คือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นความแตกต่างอย่างแรกที่เราสามารถสังเกตได้ง่ายที่สุด และยังตรงกับความเข้าใจเดิมที่เรามีต่อสองสิ่งนี้ด้วย

Multiverse VS Metaverse กับลักษณะของตัวมันเอง

ถ้าพูดถึงลักษณะของสองสิ่งนี้ แน่นอนว่า มันเหมือนกันตรงที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับการมีตัวตนอื่นในโลกอีกใบ เพียงแต่มัลติเวิร์ส คือการถ่ายทอดความเชื่อออกมาในรูปของแนวคิดที่รอการพิสูจน์ ส่วนเมตาเวิร์ส คือการเชื่อมโยงความเชื่อเข้ากับเทคโนโลยีโลกเสมือนอย่าง Virtual Reality (VR) แล้วแสดงออกมาเป็นภาพ 3 มิติ ให้ผู้คนได้สนุกสนานกับอีกตัวตนของตัวเอง
.
และหากจะกล่าวถึงความจับต้องได้ ก็ต้องบอกว่า เมตาเวิร์สดูจะถือไพ่เหนือกว่าในประเด็นนี้อยู่ เพราะในปัจจุบัน มีคนที่ได้รับผลประโยชน์จากเมตาเวิร์สอยู่มากมาย ทั้งภาคธุรกิจและกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป ส่วนมัลติเวิร์สก็ยังเป็นเพียงแนวคิดนามธรรมที่ถูกนำไปใช้ในการผลิตซีรีส์หรือภาพยนตร์เท่านั้น

Multiverse VS Metaverse กับการนิยามของมนุษย์

ทั้งสองสิ่งนี้ ล้วนเกิดจากการนิยาม และถูกพัฒนาให้มีตัวตนขึ้นมาโดยฝีมือของมนุษย์ทั้งสิ้น หากมนุษย์ไม่เชื่อว่า การมีตัวตนในโลกใบอื่นนั้น เป็นไปได้ ทั้งมัลติเวิร์สและเมตาเวิร์ส คงไม่เกิดขึ้นมาอย่างแน่นอน เพียงแต่สองสิ่งนี้ มันถูกทำให้เป็นจริงด้วยเวลาและบริบททางสังคมที่ต่างกัน

อย่างที่กล่าวไปตั้งแต่ตอนแรกว่า แนวคิดเกี่ยวกับมัลติเวิร์ส เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ลองนึกภาพในยุคนั้น ดูว่า เทคโนโลยีก็ไม่ได้ทันสมัยเท่ากับในปัจจุบัน จะใช้คอมพิวเตอร์สักเครื่องก็ลำบากเหลือเกิน ยิ่งเทคโนโลยี VR ยิ่งไม่ต้องคิดถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นเลย

ดังนั้น การที่จะกล่าวว่า เมตาเวิร์ส คือผลผลิตที่เกิดจากแนวคิดมัลติเวิร์ส หรือทฤษฎีจักรวาลคู่ขนานก็คงไม่ใช่เรื่องที่ผิดนัก

ถึงแม้ว่า เรื่องราวของมัลติเวิร์ส จะยังไม่ได้รับคำตอบที่แน่ชัดว่า มันมีจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงเรื่องปั่นประสาทที่ทำให้ทุกคนหลงเชื่อ เพราะจากการทดลองล่าสุดที่เกิดขึ้นในปี 2019 ก็ยังไม่ให้ผลการทดลองที่ชี้ชัดในเรื่องนี้ได้ แต่ถ้าในอนาคต มัลติเวิร์สกลายเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงขึ้นมา เมตาเวิร์สที่เป็นโลกเสมือน 3 มิติ อาจจะชิดซ้ายไปเลย

Sources: https://bit.ly/397pBEB

https://on.natgeo.com/3vSN4SP

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1