LOADING

Type to search

ทีมเวิร์กหดหาย ทำอะไรก็ติดขัด ‘Moonshot Thinking’ เทคนิคการคิดเพื่อพิชิตเป้าหมายร่วมกับทีม

ทีมเวิร์กหดหาย ทำอะไรก็ติดขัด ‘Moonshot Thinking’ เทคนิคการคิดเพื่อพิชิตเป้าหมายร่วมกับทีม
Share

เหลือเวลาเพียง 1 เดือนกว่าๆ ก่อนที่ปี 2022 จะหมดลง ช่วงนี้คงเป็นช่วงเวลาที่หลายๆ คนเริ่มสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเองและคนรอบตัวมากขึ้น เพราะยิ่งเข้าใกล้ปีใหม่ ความรู้สึกของการเริ่มต้นใหม่จะเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จนมีอิทธิพลต่อความคิดและการตัดสินใจเกี่ยวกับก้าวต่อไปของชีวิตด้วย

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้บางคนวางมือจากสิ่งที่ทำอยู่ เพราะต้องการเตรียมพร้อมสู่การเริ่มต้นใหม่ หรือในทางตรงข้าม บางคนอาจจะไฟแรงรีบทำทุกอย่างให้เสร็จโดยเร็ว เพราะถือคติ ‘ทิ้งเรื่องเก่าไว้กับปีเก่า’ เพื่อต้อนรับสิ่งใหม่ที่เข้ามาโดยไม่ต้องพะวงกับสิ่งใด จนกลายเป็นว่า ช่วงเวลานี้ได้หล่อหลอมให้เกิดคน 2 ประเภทที่ต่างกันอย่างสุดขั้วขึ้นมา

และเมื่อคน 2 ประเภทนี้มาอยู่ในสังคมการทำงานเดียวกัน โจทย์สุดหินคงตกมาอยู่ที่คนกลางอย่าง ‘หัวหน้า’ ว่าจะสร้างสมดุลการทำงานให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และทำให้ทีมเวิร์กที่เริ่มสั่นคลอนจากเป้าหมายช่วงปลายปีที่ต่างกันกลับมาแข็งแกร่งได้อย่างไร?

Future Trends จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ ‘Moonshot Thinking’ หรือเทคนิคการคิดพิชิตดวงจันทร์ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของบริษัทระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นแอปเปิล (Apple) สเปซเอกซ์ (SpaceX) กูเกิล (Google) และอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อที่หัวหน้าทุกคนจะได้ลองไปปรับใช้ และผลักดันทีมที่มีแนวคิดการทำงานต่างกันให้ทำตามเป้าหมายที่วางไว้ได้สำเร็จ

‘Moonshot Thinking’ คืออะไร?

Moonshot Thinking
Image by ArtPhoto_studio on Freepik

Moonshot Thinking เป็นคำเปรียบเปรยวิธีคิดแบบสุดโต่ง ไม่มีอะไรที่เป็นไม่ไปได้ ทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้เมื่อเราเชื่อว่า “ตัวเองทำได้!” ต่อให้ยากแค่ไหนก็ไม่หวั่น ถือเป็นเทคนิคที่ช่วยทลายกรอบความคิด และทำให้ทีมรู้สึกถึงเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ร่วมกัน

ต้นกำเนิดของ Moonshot Thinking มาจากความตอนหนึ่งในสุนทรพจน์ปี 1962 ของ ‘จอห์น เอฟ. เคนเนดี’ (John F. Kennedy) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กล่าวว่า “เราต้องไปเหยียบดวงจันทร์ภายในทศวรรษนี้ให้ได้” ถึงแม้ใจความของสุนทรพจน์จะเต็มไปด้วยความท้าทายและมีโอกาสสำเร็จน้อยมากๆ แต่ก็เป็นการจุดประกายความหวังให้กับเหล่านักวิจัย จนทำให้เกิดโครงการสเปซเรซ (Space Race) ที่ประสบความสำเร็จในเวลาเพียง 10 ปี

สุนทรพจน์ของจอห์นและโครงการสเปซเรซ ทำให้ 50 ปีต่อมา ‘ทีมเอกซ์’ (X) หรือทีมวิจัยและพัฒนาจากกูเกิล (Google) ได้ถือกำเนิดขึ้น เพื่อเจริญรอยตามความสำเร็จ โดยทีมตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น 10 เท่า ไม่ใช่ 10 เปอร์เซ็นต์ อย่างที่ตั้งเป้าหมายกันทั่วไป ซึ่งความสุดโต่งของทีมเอกซ์สะท้อนถึงวิธีคิดแบบ Moonshot Thinking ได้เป็นอย่างดี

Moonshot Thinking เป็นวิธีคิดที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของผลผลิตทางนวัตกรรมมากมาย เช่น แมคอินทอช (Macintosh) คอมพิวเตอร์ในตำนานของแอปเปิล เวย์โม (Waymo) รถยนต์ไร้คนขับของกูเกิล โครงการท่องอวกาศของสเปซเอกซ์ เป็นต้น

การประยุกต์ใช้ ‘Moonshot Thinking’ ในการปั้นทีม

Moonshot Thinking Framework

ถึงแม้ Moonshot Thinking จะดูเป็นวิธีคิดสำหรับเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ แต่จริงๆ แล้วสามารถนำมาปรับใช้ในการบริหารทีมเล็กๆ ได้ด้วยเฟรมเวิร์ก (Framework) ที่มี 3 องค์ประกอบหลักเชื่อมโยงกัน ได้แก่ การกำหนดเป้าหมาย วิธีการไปถึงเป้าหมายแบบสุดโต่ง และสิ่งที่ช่วยให้เป้าหมายสำเร็จ

3 องค์ประกอบที่กล่าวถึง ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของ Moonshot Thinking ซึ่งหัวหน้าต้องทำให้ทีมเห็นความสำคัญขององค์ประกอบเหล่านี้ก่อนผ่านกระบวนการทั้งหมด 2 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1 : ปรับวิธีการคิดของทีม

ด้วยความที่ลูกทีมแต่ละคนมีแนวคิดการทำงานที่ต่างกัน บางคนยังคงทำงานแบบไฟแรง ส่วนบางคนพร้อมวางมือจากสิ่งที่ทำอยู่ หัวหน้าต้องพยายามหาสมดุลของคน 2 กลุ่ม และปรับระดับการทำงานให้ใกล้เคียงกัน เช่น สร้างแรงกระตุ้นด้วยคำพูดว่า “งานนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน” หรือ “งานจะสำเร็จได้ ถ้าทุกคนช่วยกัน”

นอกจากนี้ สิ่งที่จะช่วยให้ทีมไปถึงเป้าหมายเร็วขึ้นคือ ‘การคิดนอกกรอบ’ บางทีทีมอาจจะมีความคิดดีๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน แต่ถูกข้อจำกัดหรือคำว่า ‘เป็นไปไม่ได้’ กดทับไว้ เมื่อหัวหน้าทลายข้อจำกัดเหล่านั้น และยอมรับความเป็นไปได้ของความคิดทั้งหมด การทำงานของทีมจะสนุกขึ้นจนทำให้คนที่พร้อมวางมือกลายเป็นคนไฟแรงขึ้นมาได้เช่นกัน

ส่วนที่ 2 : สร้างการเรียนรู้ให้กับทีม

การเรียนรู้ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการเรียนรู้ทักษะการทำงานให้เก่งขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงการเรียนรู้ประสบการณ์และความผิดพลาดที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น

ดังนั้น หัวหน้าควรส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้ในทีมเสมอ เช่น แบ่งปันแหล่งความรู้เพื่อพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ถอดบทเรียนความผิดพลาดมาเล่าสู่กันฟัง ให้คำปรึกษาเพื่อปรับปรุงการทำงาน เป็นต้น

หลังจากที่หัวหน้าทำให้ทีมมองเห็นความสำคัญของ 3 องค์ประกอบได้แล้ว การคิดแบบ Moonshot Thinking จะค่อยๆ แฝงอยู่กับการทำงานของทีมจนกลายเป็นวิธีทำงานที่ติดตัวไปตลอด ไม่ว่าจะมีอุปสรรคหรือเป้าหมายที่ยากแค่ไหนผ่านเข้ามา การพิชิตเป้าหมายให้สำเร็จจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

Sources: https://bit.ly/3tuFPi5

https://bit.ly/3zYqtpo

https://bit.ly/3UEtCmo

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like