LOADING

Type to search

หรือนี่จะเป็นความหวังใหม่ให้กับมนุษยชาติ? นักวิจัยค้นพบ ‘Micronova’ ไขปริศนาการเกิดดาวฤกษ์

หรือนี่จะเป็นความหวังใหม่ให้กับมนุษยชาติ? นักวิจัยค้นพบ ‘Micronova’ ไขปริศนาการเกิดดาวฤกษ์
Share

หลังจากที่เห็นชื่อหัวข้อ หลายๆ คนคงเกิดความสงสัยอยู่ไม่น้อยว่า ‘Micronova’ มันคืออะไรกันแน่? ตอนเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ก็ไม่เห็นจะเคยได้ยินเลย เดี๋ยววันนี้ เราจะพาทุกคนไปรู้จักสิ่งนี้กัน!

ถึงจะไม่รู้จักคำว่า ‘Micronova’ มาก่อน แต่เชื่อว่า หลายๆ คนต้องเคยได้ยินคำว่า ‘Supernova’ อย่างแน่นอน เพราะคำนี้ ถูกนำไปใช้ในวงการต่างๆ มากมาย อย่างในวงการสื่อ ก็มีภาพยนตร์โรแมนติก-ดราม่าที่ชื่อว่า Supernova หรือแม้แต่แบรนด์อุปกรณ์กีฬาชั้นนำระดับโลกอย่างอดิดาส (Adidas) ก็นำคำว่า Supernova มาตั้งเป็นชื่อรุ่นรองเท้ากีฬาสุดฮิตของตัวเอง จนทำให้สาวกของแบรนด์คุ้นเคยกับคำๆ นี้ ไปในบริบทนั้นแล้ว

แต่ความหมายที่แท้จริงของคำว่า ซูเปอร์โนวา (Supernova) นั้น หมายถึง การระเบิดของดาวฤกษ์ที่สิ้นสุดอายุขัย โดยจะเปล่งแสงสว่างออกมาเป็นรัศมีสว่างวาบเพียงชั่วครู่ ก่อนที่จะจางลงในเวลาไม่กี่สัปดาห์ หรืออาจใช้เวลาหลายเดือน ซึ่งแสงเหล่านี้ คือตัวแทนที่แสดงถึงพลังงานมหาศาลที่ถูกปลดปล่อยออกมา

หรือในอีกกรณีหนึ่ง ซูเปอร์โนวา สามารถเกิดจากการที่ดาวแคระขาว (white dwarf) ที่เป็นเหมือนช่วงชีวิตสุดท้ายของดาวฤกษ์ทุกดวง สะสมพลังงานจากดาวข้างเคียงในระบบดาวคู่ (binary system) และเมื่อสะสมพลังงานไปถึงจุดหนึ่ง จะเกิดการระเบิดออกมา ซึ่ง Micronova ที่เป็นพระเอกของเรื่องในวันนี้ ก็เกิดมาจากกระบวนการนี้เช่นกัน

แต่ความแตกต่างของ Micronova กับซูเปอร์โนวาทั่วไปที่ทำให้นักดาราศาสตร์ต้องตั้งข้อสงสัย และพยายามหาคำตอบอย่างหนักจนค้นพบความจริง ก็คือการระเบิดของ Micronova นั้น มีพลังงานสูงมาก แต่กลับเปล่งแสงสว่างออกมาน้อยกว่าที่ควรจะเป็น โดยแสงที่เกิดจาก Micronova มีความสว่างน้อยกว่าซูเปอร์โนวาทั่วไปถึง 1 ล้านเท่า ซึ่งมันผิดวิสัยจากสิ่งที่ควรจะเป็นมากๆ

แล้วทำไม Micronova ถึงดูเป็นสิ่งที่ผิดปกติ ทั้งๆ ที่อาจจะมีปัจจัยอื่นที่ทำให้เป็นเช่นนั้นก็ได้?

จริงๆ จะคิดเช่นนั้น ก็ไม่ผิด เพราะมันอาจจะมีปัจจัยอื่นที่เข้ามามีผลจริงๆ แต่โดยปกติแล้ว เมื่อวัตถุมีการรับพลังงานเข้ามาไว้กับตัวมากๆ พลังงานที่ปลดปล่อยออกมาก็ต้องมีความรุนแรงสัมพันธ์กัน หากใครนึกภาพตามไม่ออก ให้ลองนึกถึงเวลาที่ตอนเด็กๆ เราแกล้งเพื่อนด้วยการผลัก ถ้าเราผลักเพื่อนเบา ตัวเพื่อนก็จะไม่ค่อยขยับ แต่ถ้าเราผลักแรง เพื่อนอาจจะถอยไปไกลจากเดิม หรือไม่ก็เซล้มลงไปเลย

[ จุดเริ่มต้นของการค้นพบ Micronova ]
ทีมนักดาราศาสตร์ค้นพบการระเบิดของดาวแคระขาวดวงหนึ่ง จากการตรวจจับสัญญาณด้วย Transiting Exoplanet Survey Satellite (TESS) ของนาซา (NASA) ภายหลังจากการค้นพบ ซิโมน สการิงี (Simone Scaringi) นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเดอร์แฮม (Durham University) หนึ่งในผู้ที่ค้นพบ Micronova กล่าวว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่เราค้นพบปรากฏการณ์นี้ และมีความท้าทายเป็นอย่างมากในการค้นหาความจริงว่า มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร”

และจากผลการศึกษาล่าสุด ทีมนักดาราศาสตร์ได้อธิบายเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เกิด Micronova ว่า ‘ปรากฏการณ์นี้ มีผลจากสนามแม่เหล็กเข้ามาเกี่ยวข้อง’ อย่างที่กล่าวไปในตอนต้นว่า Micronova เกิดจากการระเบิดของดาวแคระขาวที่มีการสะสมพลังงานจากดาวข้างเคียง ซึ่งแน่นอนว่า ดาวแคระขาวกับดาวข้างเคียงมีแรงที่มีมากระทำต่อกันอยู่ และแรงนี้เองที่ทำให้สนามเหล็กเปลี่ยนแปลงไป

การที่สนามแม่เหล็กมีความเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ไฮโดรเจนที่เป็นหัวใจหลักของปฏิกิริยาเทอร์โมนิวเคลียร์ (Thermonuclear Reaction) ไม่ได้อยู่ในสถานะที่พร้อมจะหลอมรวมจนเกิดปฏิกิริยาขนาดนั้น จึงทำให้แสงสว่างที่เปล่งออกมาจากการระเบิดของ Micronova น้อยกว่าการระเบิดของซูเปอร์โนวาทั่วไปได้

แต่จริงๆ แล้ว การเกิด Micronova อาจจะไม่ได้มีสาเหตุมาจากสนามแม่เหล็กของดาวแคระขาวเพียงอย่างเดียว เมื่อลองคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ อย่างการเปลี่ยนรูปพลังงานก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน ซึ่งเราสามารถพบเห็นการเปลี่ยนรูปพลังงานได้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันทั่วไป อย่างการปล่อยของจากตึกสูงลงสู่พื้นดินที่เป็นการเปลี่ยนรูปจากพลังงานศักย์เป็นพลังงานจลน์

ซึ่งในกรณีของ Micronova อาจจะมีการเปลี่ยนรูปพลังงานเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดอื่นที่ไม่ใช่แสงด้วย เช่น คลื่นวิทยุ รังสีอินฟราเรด เป็นต้น จึงทำให้แสงที่เปล่งออกมามีความสว่างน้อย นอกจากนี้ อาจจะมีผลจากปัจจัยอื่นอย่างการดูดกลืนพลังงานเข้ามาเกี่ยวข้องก็ได้เช่นกัน

การค้นพบ Micronova คงทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ อีกมากมายที่เกี่ยวกับการกำเนิดดาวฤกษ์ หรือการเกิดปฏิกิริยาเทอร์โมนิวเคลียร์ที่เป็นหัวใจสำคัญของการสร้างพลังงาน ซึ่งในอนาคต เหล่านักวิจัยอาจจะค้นพบวิธีการสร้างพลังงานแบบใหม่จากการศึกษาเกี่ยวกับ Micronova ก็เป็นไปได้

Sources: https://bit.ly/3rLpiFF

https://bit.ly/37Mo6Ls

https://bit.ly/3vcm4x9

Tags::