‘Michael Bloomberg’ อดีตผู้ว่าการแห่งนครนิวยอร์ก ที่ตั้งใจรับเงินเดือนเพียงแค่ 1 ดอลลาร์
บางครั้งการรับหน้าที่แสนสำคัญก็ไม่ได้มีเรื่อง ‘เงิน’ มาเป็นปัจจัยในการทำงาน เรามักจะเห็นผู้นำที่มีต้นทุนชีวิตค่อนข้างสูงประกาศทำเพื่อส่วนรวมโดยไม่หวังสิ่งอื่นใดตอบแทน ในวันนี้ Future Trends จะพามารู้จักกับอดีตผู้ว่าการแห่งนครนิวยอร์ก ‘Michael Bloomberg’ ไมเคิล บลูมเบอร์ก ผู้นำที่รับเงินเดือนเพียงแค่ 1 ดอลลาร์เท่านั้น!
[ Michael Bloomberg และการรับเงินเดือนเพียง 1 ดอลลาร์ ]
ไมเคิล บลูมเบอร์ก มหาเศรษฐีชาวอเมริกา ผู้เป็นเจ้าของอาณาจักร “บลูมเบอร์ก แอล.พี.” (Bloomberg L.P.) โดยมีธุรกิจที่อยู่ภายใต้ 2 ส่วนด้วยกัน คือ ธุรกิจสื่อ และ ธุรกิจการให้บริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงิน
ในปี 2560 ได้มีการเปิดเผยทรัพย์สินของบลูมเบอร์กออกมาทำให้เขาเป็นมหาเศรษฐีลำดับที่ 8 ของสหรัฐอเมริกา และ ลำดับที่ 10 ของโลก ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 47,800 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท)
การเป็นผู้ว่าแห่งนครนิวยอร์กสมัยแรกของเขา อยู่ในช่วงความอ่อนไหวทางความรู้สึกของประชนชาวอเมริกา เพราะเป็นช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ 9/11 นอกจากผลงานทางด้านการจัดการอาชญากรรมที่ลดลงของนิวยอร์กแล้วเขายังมีความโดดเด่นในเรื่องการรับเงินเดือน
ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนั้นเขาควรที่จะได้รับเงินเดือนประมาณ 2.7 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 100 ล้านบาท) แต่ในความเป็นจริงตลอดระยะเวลา 12 ปี เขาประสงค์ที่จะรับเงินเพียงแค่ปีละ 1 ดอลลาร์เท่านั้น (One-dollar Salary) เท่ากับว่าเขาได้รับเงินเดือนจากการเป็นผู้ว่านครนิวยอร์กเพียงแค่ 12 ดอลลาร์ หักภาษีไป 93 เซ็นต์
ความคิดของบลูมเบอร์กในความตั้งใจว่าจะรับเงินเดือนเพียงแค่ปีละ 1 ดอลลาร์นั้น มีผลมาจากแนวคิดที่เขายึดถือว่า “รับงาน ไม่ใช่รับเงิน” หมายความว่า เขามองเนื้อหาของงานว่ามันมีความสำคัญ มีประโยชน์ และสร้างผลกระทบต่อส่วนรวมอย่างไร โดยไม่สนใจว่างานนั้นจะมอบเงินมหาศาลเพียงใดให้กับเขา
เขายังเล่าเสริมเกี่ยวกับประสบการณ์ของเขาในอดีตอีกว่า “เมื่อผมยังเป็นเด็กผมเคยทิ้งงานที่ได้รับเงินเดือน 14,000 ดอลลาร์ เพื่อไปรับงานที่ได้รับเงินเดือนเพียง 9,000 ดอลลาร์ ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือฉันชอบงานนั้น”
บลูมเบอร์กได้เสริมคำแนะนำให้กับคนรุ่นใหม่ว่า “ตัดคำว่าเงินเดือนออกจากสมการของการตัดสินใจ และสร้างสมการใหม่ที่มีแต่คำว่า การเติบโตในอนาคต เพื่อตัดสินใจเลือกงานแทน”
นอกจากบทบาทของการเป็นผู้ว่าแล้วเขายังเป็นนักการกุศลอีกด้วย เขาชอบที่จะช่วยเหลือองค์กรต่างๆ ที่ทำเพื่อส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม(Bloomberg Philanthropies) ด้านการสร้างและพัฒนาคนที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นต้น
ทว่า บลูมเบอร์ก ไม่ใช่ผู้นำคนเดียวที่ปฏิเสธเงินมหาศาลในการทำงานที่ตนเองต้องการ อดีตผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย อาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ อดีตผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์ มิตต์ รอมนีย์ หรือแม้กระทั่ง สตีฟ จอบส์ ก็เคยรับเงินเดือนเพียงแค่ 1 ดอลลาร์เท่านั้น
ดังนั้น การเข้ามารับตำแหน่งผู้นำ หรือตำแหน่งสำคัญต่างๆ อาจจะมีหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้รับตำแหน่งเลือกเนื้อหางานมากกว่า จำนวนเงินที่จะได้รับ แต่ข้อสังเหตบางอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ ต้นทุนที่สูงอยู่แล้วของชีวิต อาจจะเป็นอีกหนึ่งอิทธิพลที่ช่วยตัดสินใจในการเลือกรับเงินเดือนนั้นเอง
ของประเทศไทยเราเองก็มีเหมือนกัน กับกรณีของคุณเศรษฐา ทวีสิน ที่ขอส่งต่อเงินเดือน และเบี้ยประชุมของทุกเดือนที่ได้รับจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรมว. คลังตลอดการดำรงตำแหน่งให้มูลนิธิต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้เปราะบาง
[ 5 บทเรียน ที่ Michael Bloomberg ได้เรียนรู้จากการเป็นผู้ว่าการนครนิวยอร์ก และอยากส่งต่อให้ทุกคน ]
นอกจากการเป็นผู้นำที่ได้รับเงินเดือนเพียงแค่ 1 ดอลลาร์ต่อปีแล้วนั้น จากการรับตำแหน่ง บลูมเบอร์ก ยังได้บทเรียนสำหรับการเป็นผู้นำอีกด้วย มีด้วยกัน 5 ข้อ เรามาดูกันว่าบทเรียนเหล่านี้สามารถสอนอะไรพวกเราได้บ้าง
1.ทำงานให้มากกว่าทีมของคุณ เขามองว่าการเป็นผู้นำไม่ควรมีชั่วโมงการทำงานที่น้อยกว่าคนในทีม ไม่ว่าทีมของคุณจะทำงานต่อสัปดาห์กี่ชั่วโมงก็ตามคุณต้องทำให้มากกว่านั้น
2.ทีมของคุณจะต้องรู้ว่าคุณอยู่ที่ไหน เขามองว่าการโผล่หน้ามาให้เห็นในที่ทำงาน ทำให้ทีมรับรู้ว่าหากมีปัญหาอะไร จะหาตัวคุณได้ที่ไหน
3.เฉลิมฉลองให้กับสิ่งที่สำเร็จถึงแม้มันจะเล็กน้อยก็ตาม กำลังใจในการทำงานเป็นสิ่งสำคัญในมุมมองของเบอร์ก ไม่ว่าทีมของคุณจะทำความสำเร็จในด้านใดก็ตามการเฉลิมฉลองเป็นสิ่งที่จำเป็น
4.สร้างกลุ่มที่รวมทีมของคุณเข้ามาด้วย เปรียบเสมือนการสร้างวัฒนธรรมของทีม ที่แสดงจุดยืนให้ชัดเจนว่า คุณเป็นหนึ่งเดียวกับพวกเขา ไม่ใช่ว่าคุณจะสังสรรค์กับคนระดับเดียวกันเท่านั้น
5.ทำงานดีก็ให้รางวัล เป็นการกระตุ้นให้ทีมรับรู้ว่าการทำงานดีจะได้ผลตอบแทน
ทั้งหมด 5 ข้อคือบทเรียนที่ บลูมเบอร์กได้รับมาจากการเป็นผู้ว่านครนิวยอร์กระยะเวลากว่า 12 ปี ถึงแม้จะไม่ได้รับเงินเดือนที่มากมาย แต่มันเต็มไปด้วยประสบการณ์ และตอกย้ำแนวคิดของเขาที่ว่า “รับงาน ไม่ใช่รับเงิน”
เขียนโดย ธนพนธ์ หัสกรรัตน์
https://money.com/donald-trump-1-salary-president-ceo/
https://finance.yahoo.com/news/michael-bloomberg-talks-frugality-career-142103314.html