LOADING

Type to search

ทำไม ‘มาม่า’ อาหารที่คนซื้อไม่หวังว่ากินแล้วสุขภาพจะดีถึงมีสัญลักษณ์ Healthier Choice

ทำไม ‘มาม่า’ อาหารที่คนซื้อไม่หวังว่ากินแล้วสุขภาพจะดีถึงมีสัญลักษณ์ Healthier Choice
Share

‘มาม่า’ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่อร่อย ทานง่าย อยู่ท้อง เมนูที่เปรียบเสมือนเพื่อนยามยากของทุกชนชั้น ทุกช่วงเวลา เมนูที่หลายๆ คนที่ซื้อรู้กันดีว่า อุดมไปด้วยโซเดียมที่ ‘สูง’ ซึ่ง ‘ไม่ดีต่อสุขภาพ’ เมนูที่ครั้งหนึ่งกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขเคยออกมาเตือนว่า หากกินบ่อยๆ จะเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง และหัวใจวายเอาได้…

ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่า มันไม่ดี แต่หลายคนก็ยังเลือกที่จะทานเป็นประจำ ใช่ค่ะ! ผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในมิตรรักแฟนคลับของมาม่าเช่นกัน ตั้งแต่จำความได้ เวลาที่ขี้เกียจออกจากบ้าน ไม่รู้จะทานอะไรดี ก็มักจะนึกถึงเมนูนี้เสมอ หรืออย่างเวลาไปห้าง เดินผ่านชั้นวางสินค้าประเภทนี้ทีไร ก็ต้องหยิบติดมือ ซื้อกลับมาตุนที่บ้านทุกที เผื่อวันฝนตกหรือมีเหตุการณ์ฉุกเฉินอะไรเกิดขึ้น

โดยหัวข้อในวันนี้ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ค้างคาใจผู้เขียนมาสักพักใหญ่แล้ว เพราะบ่อยครั้งที่ซื้อมาม่า สังเกตว่า มักจะมีสัญลักษณ์วงกลมสีน้ำเงินขนาดเท่าหัวแม่มือ ตรงกลางเป็นใบไม้สีเขียวแปลกๆ วางทับกันคล้ายกับรูปคนยกมือขึ้นที่ด้านหน้าซองเสมอ พอลองเข้าไปอ่านใกล้ๆ ก็พบว่า เป็นฉลากโภชนาการ ‘สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)’ ทำให้ดิฉันเองเกิดความสงสัยเกี่ยวกับความย้อนแย้งในคุณค่าทางโภชนาการของเมนูนี้ขึ้นมา

ทำไมมาม่าอาหารที่คนซื้อไม่หวังว่าจะกินแล้วสุขภาพจะดีถึงมี ‘สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ’ นี้ด้วย? วันนี้ Future Trends จะพาทุกคนไปหาคำตอบพร้อมๆ กันค่ะ

บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด ผู้ผลิตมาม่ามีปณิธานอย่างหนึ่งว่า ต้องการจะผลิตสินค้าออกมาให้ครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภค ‘ทุกกลุ่ม’ ให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้บางไลน์สินค้าจะขายไม่ค่อยดี คนไม่ค่อยชื่นชอบสักเท่าไร แต่ก็ยังคงผลิตสินค้านั้นออกสู่ตลาดอยู่เสมอ

เช่นเดียวกัน เทรนด์สุขภาพที่กำลังมาแรงในตอนนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่ทางบริษัทได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ ในช่วงปีหลังมานี้ คนเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น ทางผู้ผลิตจึงได้ปรับสูตรส่วนผสมใหม่ในบางไลน์สินค้าเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่ต่างออกไป

และนี่ก็เป็นหนึ่งในที่มาของสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพที่ดิฉันพูดถึงค่ะ โดยถ้าซองไหน รสชาติไหน มีการปรับลดปริมาณโซเดียมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพลง (บะหมี่ 50 กรัม ปริมาณโซเดียมน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1,000 มิลลิกรัมต่อหน่วยบรรจุ หรือบะหมี่ 70 กรัม ปริมาณโซเดียมไม่เกิน 1,400 มิลลิกรัมต่อหน่วยบรรจุ) ก็จะมีสัญลักษณ์นี้แปะด้านหน้าซอง จะว่าไปก็คล้ายๆ กับการันตีแบบป้ายเชลล์ชวนชิมหรืออินฟลูเอนเซอร์อะไรทำนองนั้นค่ะ ที่การันตีว่า อร่อย และ ‘ดีต่อสุขภาพ’

รวมไปเรื่องนี้เองก็อาจจะส่งผลดีต่อตัวธุรกิจในอนาคตไม่น้อยเลย เพราะในช่วงที่ผ่านมา มีกระแสข่าวว่าจะมีการจัดเก็บภาษีความเค็มในอนาคตเกิดขึ้น นโยบายที่จะเรียกเก็บภาษีความเค็มตาม ‘สัดส่วนของความเค็ม หรือปริมาณโซเดียม’ ในสินค้าประเภทบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทั้งจากสินค้าภายในประเทศ และนำเข้าจากต่างประเทศ ‘ยิ่งเค็มมากก็ยิ่งเสียภาษีในอัตราภาษีที่สูง ยิ่งเค็มน้อยก็ยิ่งเสียภาษีในอัตราภาษีที่ต่ำ’ โดยนโยบายนี้รัฐบาลก็ได้อ้างว่า เป็นผลมาจากแนวโน้มของคนไทยที่ ‘กินเค็มเยอะ’

จากผลงานวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาคมโลกไตแห่งประเทศไทยชี้ให้เห็นว่า ในแต่ละวันคนไทยบริโภคโซเดียมเฉลี่ย 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่ากับ 1.8 ช้อนชา ซึ่งปริมาณที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) แนะนำจะอยู่ที่ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน เรียกได้ว่า คนไทยเราทานโซเดียมเกินกว่ามาตรฐานถึง 2 เท่าตัวกันเลยทีเดียว

และแน่นอนว่า ยิ่งคนทานเยอะมากเท่าไร จำนวนประชากรที่ป่วยเป็นโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคไตเรื้อรัง โรคความดัน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หรือแม้กระทั่งโรคเบาหวานก็เยอะขึ้นตามไปด้วย

นับว่าเป็นเรื่องราวดีๆ ที่สร้างความตื่นรู้ให้ทั้งฟากฝั่งผู้บริโภค และผู้ประกอบการให้ตระหนักถึงเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น ซึ่งถึงแม้จะลดลงกว่าเดิมเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยก็อุ่นใจขึ้นเยอะใช่ไหมล่ะคะ? แถมเวลาจะเลือกซื้อก็ง่ายขึ้นเป็นกอง

แอบกระซิบว่า ไอเจ้าสัญลักษณ์นี้ไม่ได้มีเพียงแค่มาม่าที่ผ่านการรับรองอย่างเดียวนะคะ พวกโจ๊ก ซุปต่างๆ ของแบรนด์อื่นก็มีด้วย ถ้าใครอยากรู้ว่ามีสินค้าไหน แบรนด์อะไรบ้าง ก็เข้าไปดูกันได้ที่ http://healthierlogo.com/product-profile/5-กลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จร/

ไว้ครั้งหน้ามีเรื่องราวไหนน่าสนใจ ดิฉันจะมาเล่าให้ทุกคนฟังกันอีกแน่นอน ส่วนวันนี้เขียนจบ ก็ขอตัวไปต้มมาม่าที่รักก่อนค่ะ ฮ่า

Sources: https://bit.ly/3k6wRT7

https://bit.ly/3K5OpJE

https://bit.ly/3EDwkBW

https://bit.ly/3K4u7Aj

https://bit.ly/3K4u2wv

https://bit.ly/3L5PLpj

https://bit.ly/3L7tZ4p

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1