LOADING

Type to search

‘ยาคุมกำเนิดในผู้ชาย’ ทางเลือกใหม่หรือแค่ขายฝัน? เมื่อการคุมกำเนิดไม่ได้เป็นเรื่องของเพศใดเพศหนึ่งอีกต่อไป

‘ยาคุมกำเนิดในผู้ชาย’ ทางเลือกใหม่หรือแค่ขายฝัน? เมื่อการคุมกำเนิดไม่ได้เป็นเรื่องของเพศใดเพศหนึ่งอีกต่อไป
Share

ในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ มีงานวิจัยเกี่ยวกับวงการแพทย์และวิทยาศาสตร์ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่า ถูกพูดถึงจนกลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์กันเลยทีเดียว ทำให้สื่อทั้งในไทยและต่างประเทศต่างก็ต้องหยิบยกเรื่องนี้มาทำข่าวกัน

งานวิจัยที่ว่านั้น เป็นของคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมินิโซตา (University of Minnesota) ประเทศสหรัฐอเมริกา พวกเขาได้ทำการคิดค้น ‘ยาคุมกำเนิดในผู้ชาย’ แบบไม่ใช้ฮอร์โมน และจากการทดสอบในหนูเพศผู้เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่า ยาคุมกำเนิดชนิดนี้ มีประสิทธิภาพมากถึง 99% อีกทั้งยังไม่มีผลข้างเคียงที่อันตรายต่อระบบสืบพันธุ์ด้วย

โดยงานวิจัยชิ้นนี้ เริ่มจากการที่ให้หนูเพศผู้ได้รับโมเลกุลที่ชื่อว่า ‘YCT529’ เข้าสู่ร่างกายเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ซึ่งผลปรากฏว่า จำนวนอสุจิของหนูลดลงอย่างเห็นได้ชัด และหลังจากที่มีการหยุดให้โมเลกุล YCT529 เป็นเวลา 4-6 สัปดาห์ การสร้างอสุจิของหนูก็กลับมาเป็นปกติตามเดิม โดยที่ไม่มีผลข้างเคียงใดๆ เลย

แน่นอนว่า หลังจากที่ได้มีการเปิดเผยผลการทดสอบจากการทดลองในขั้นแรกออกไปนั้น ยาคุมกำเนิดชนิดนี้ ก็ถูกจับตามองเป็นอย่างมากว่า จะสามารถเป็นทางเลือกใหม่ในการคุมกำเนิดได้หรือไม่ แต่ต่อให้งานวิจัยนี้จะน่าสนใจมากเพียงใด การทดลองเกี่ยวกับยาคุมกำเนิดชนิดนี้ก็ยังไม่มีการทดสอบประสิทธิภาพในคนเลยด้วยซ้ำ ดังนั้น เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ยาชนิดนี้จะปลอดภัยเมื่อใช้งานกับคนจริงๆ หรือประสิทธิภาพการคุมกำเนิดจะสามารถทำได้ 100% หรือไม่ ก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอาจรู้ได้

ซึ่งในประเด็นความสงสัยเหล่านี้ เราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า การทดสอบในมนุษย์ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2022 จะทำให้ยาชนิดนี้ได้ไปต่อ หรือจบแบบเป็นแค่งานวิจัยขายฝันชิ้นหนึ่ง

หลังจากที่ผู้เขียนได้ศึกษางานวิจัยดังกล่าว ก็ได้ทำการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมว่ามีงานวิจัยที่คล้ายกันอีกหรือไม่ จนพบว่า ก่อนหน้านี้ มีการคิดค้นยาคุมกำเนิดชนิดเจลทาช่องคลอดของผู้หญิงที่เรียกว่า ’Phexxi’ ซึ่งมีหลักการทำงานเป็นแบบไม่ใช้ฮอร์โมนเหมือนกับงานวิจัยยาคุมกำเนิดในผู้ชายที่เราได้หยิบยกมาเล่าให้ฟังอยู่ด้วย

Phexxi คือยาคุมกำเนิดชนิดเจลทาช่องคลอดที่คิดค้นโดยบริษัท Evofem Bioscience และได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) ของประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นที่เรียบร้อยในปี 2020

และการที่ยา Phexxi สามารถใช้ในการคุมกำเนิดได้โดยไม่ใช้ฮอร์โมนนั้น เป็นเพราะว่า มีส่วนประกอบหลักคือกรดแล็กติก (lactic acid) กรดซิทริก (citric acid) และโพแทสเซียม ไบทาร์เทรต (potassium bitartrate) ซึ่งส่วนประกอบเหล่านี้ จะคอยรักษาระดับค่า pH ในช่องคลอดให้มีความเป็นกรด ทำให้อสุจิไม่สามารถเข้าไปทำการปฏิสนธิในรังไข่ได้

แต่จากผลการทดสอบการใช้ยา Phexxi ก็ยังพบว่า มีผู้ใช้ยานี้จำนวน 0.36% มีอาการทางเดินปัสสาวะอักเสบจากการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ ทำให้ผู้หญิงที่มีประวัติการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะไม่ควรใช้ยานี้

จากกรณีศึกษาทั้งเรื่องยาคุมกำเนิดในผู้ชายและยา Phexxi ทำให้เกิดความสงสัยว่า วิธีการคุมกำเนิดแบบที่ใช้ในปัจจุบัน ก็ดูจะมีประสิทธิภาพดีอยู่แล้ว ทำไมนักวิจัยถึงต้องพยายามคิดค้นการคุมกำเนิดแบบใหม่ๆ ทั้งๆ ที่ก็ไม่รู้ว่าจะมีผลข้างเคียงอะไรตามมาไหม?

โดยปกติแล้ว การคุมกำเนิดชนิดชั่วคราวจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การคุมกำเนิดแบบใช้ฮอร์โมน (hormonal contraception) และการคุมกำเนิดแบบไม่ใช้ฮอร์โมน (non-hormonal contraception) การคุมกำเนิดแบบใช้ฮอร์โมน คือการคุมกำเนิดโดยใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ทำเลียนแบบฮอร์โมนในร่างกาย เช่น การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด การฉีดยาคุมกำเนิด ซึ่งการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ มีประสิทธิภาพในการป้องกันที่สูงก็จริง แต่ในบางครั้ง กลับส่งผลข้างเคียงต่อร่างกาย หรืออาจจะทำให้ผู้ใช้ยาเกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียนได้ด้วยเช่นกัน

ดังนั้น การคุมกำเนิดแบบไม่ใช้ฮอร์โมน อย่างการใช้ถุงยางอนามัยและห่วงคุมกำเนิด จึงเป็นทางเลือกในการคุมกำเนิดที่ทั้งมีประสิทธิภาพ และสามารถกำจัดปัญหาเกี่ยวกับผลข้างเคียงของการคุมกำเนิดแบบใช้ฮอร์โมนไปได้ด้วย แต่การคุมกำเนิดแบบไม่ใช้ฮอร์โมนก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาอะไรเลย เพราะศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (CDC) ได้ประเมินไว้ว่า การใช้ถุงยางอนามัยยังมีโอกาสเสี่ยงฉีกขาดขณะใช้งานสูงถึง 13% หรือหากใช้งานผิดวิธีก็ยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้เช่นกัน

ดังนั้น จากปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งกับการคุมกำเนิดแบบใช้ฮอร์โมนและไม่ใช้ฮอร์โมน ทำให้นักวิจัยเลือกที่จะทำการวิจัยเกี่ยวกับการคุมกำเนิดแบบใหม่ๆ เพื่อให้คนมีทางเลือกในการคุมกำเนิดในแบบที่เหมาะสมกับตัวเองมากขึ้น และเราก็หวังว่าในอนาคต งานวิจัยทุกชิ้นจะประสบความสำเร็จ จนกลายเป็นทางเลือกใหม่ของการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพต่อไป

Sources: https://bit.ly/3rGACDh

https://abcn.ws/3v4oNZH

https://bit.ly/3JWXlRP

Tags::