LOADING

Type to search

‘Low Code Platform’ ฮีโร่คนใหม่ของนักพัฒนาในยุคนี้ ExxonMobil หนึ่งในองค์กรไทยที่นำ Low Code มาใช้งานได้จริง

‘Low Code Platform’ ฮีโร่คนใหม่ของนักพัฒนาในยุคนี้  ExxonMobil หนึ่งในองค์กรไทยที่นำ Low Code มาใช้งานได้จริง
Share

ทุกวันนี้ เวลาเราหยิบสมาร์ตโฟนขึ้นมา เชื่อว่าหลายคนคงจะใช้เวลาไปกับแอปพลิเคชันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย หรือแอปฯ ซื้อของออนไลน์กันเป็นปกติ เมื่อมาดูงานวิจัยจาก Digital Stat 2022 ของ We Are Social พบว่า ในแต่ละวันคนเราใช้เวลาไปกับสมาร์ตโฟนเฉลี่ยอยู่ที่ 4 ชั่วโมง 48 นาที โดยที่ 92.50% ของเวลาตรงนี้ใช้ไปกับแอปพลิเคชันต่างๆ

จึงเป็นสาเหตุให้แบรนด์ธุรกิจต่างๆ หันมาสร้างแอปพลิเคชันเป็นของตัวเองกันมากขึ้น เพราะทำให้สามารถเชื่อมต่อกับลูกค้าได้แบบ Real-Time โดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง อีกทั้งด้วยการออกแบบที่ทำมาเพื่ออุปกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะ ลูกค้าจึงได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีกว่า

แต่เมื่อมองกลับมาทางฝั่งนักพัฒนา ต้องบอกว่าจริงๆ แล้วการสร้างแอปพลิเคชันนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะเบื้องหลังของแอปพลิเคชันหนึ่งตัวประกอบไปด้วยโค้ดหลายพันบรรทัด ที่ผ่านการวางแผน และออกแบบอย่างรอบคอบ นอกจากนี้ยังต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบคุณภาพอีกขั้นตอน ก่อนที่แอปฯ จะเปิดให้เราได้ดาวน์โหลดมาใช้งานกัน

นอกจากที่กล่าวไปแล้ว ยังมีสิ่งที่นักพัฒนาต้องคำนึงถึงอยู่เสมอก่อนจะลงมือสร้างแอปฯ ขึ้นมา โดย Future Trends ขอสรุปไว้ดังนี้

ความคาดหวังของผู้บริโภค

งานวิจัยจาก Mindsea ระบุว่า ชาวมิลเลนเนียล (Millennials) กว่า 48% คาดหวังให้แอปพลิเคชัน สร้างประโยชน์ใหม่ๆ ให้กับพวกเขาได้ ทั้งยังต้องประหยัดแบตเตอรี่พร้อมใช้งานด้วยมือเดียวได้อย่างลื่นไหล ขณะที่ชาว Gen X และ Baby Boomers ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยเป็นพิเศษ โดยคาดหวังให้แอปพลิเคชันมีเทคโนโลยีที่ปกป้องข้อมูลส่วนตัวของพวกเขาได้

สเปคของอุปกรณ์ที่มีมากขึ้น

ในอดีตอุปกรณ์หน้าจอที่ผู้บริโภคเลือกใช้หลักๆ จะมีแค่โทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่ในปัจจุบันเรามีทั้งโทรศัพท์ แท็บเล็ต ไปจนถึงโทรศัพท์ที่พับได้ ทำให้นักพัฒนามีความยุ่งยากมากขึ้น ในการออกแบบแอปพลิเคชันให้รองรับกับอุปกรณ์ทั้งหมด

เทคโนโลยีใหม่ๆในอนาคต

ปัจจุบันเรามีทั้ง AR (Augmented Reality) และ VR (Virtual Reality) ไปจนถึงเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) ที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวัน โดยผู้บริโภคยุคใหม่กำลังมองหาอะไรที่สะดวก และรวดเร็ว การที่แอปพลิเคชันทำให้พวกเขาสามารถสั่งการทุกอย่างได้ง่ายๆ จากบนมือถือ จะได้ใจกลุ่มนี้เป็นพิเศษ

ทรัพยากรที่เสียไปกับการสร้างแอปพลิเคชันหนึ่งตัว

ทรัพยากรในที่นี้ไม่ใช่แค่ตัวเงินอย่างเดียว แต่รวมถึงทรัพยากรบุคคล และเวลาด้วย เพราะการสร้างแอปพลิเคชัน นอกจากจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงแล้ว ยังใช้เวลานานในการสร้าง กว่าจะนำไปใช้งานจริงได้ การสร้างแอปพลิเคชันโดยไม่วางแผน อาจทำให้ธุรกิจเจอกับอุปสรรคก้อนใหญ่ในการดำเนินกิจการต่อไปได้

ชวนรู้จักแพลตฟอร์ม ‘Low Code’ มิติใหม่ของการสร้างแอปพลิเคชัน

‘Low Code’ คือแพลตฟอร์มที่ทำให้นักพัฒนาโปรแกรมสามารถทำงานได้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น ด้วยความสามารถที่ตรงกับชื่อของมัน คือนักพัฒนาจะใช้เวลาไปกับการเขียนโค้ดน้อยลง เพราะไม่จำเป็นต้องเขียนโค้ดเป็นหลายพันบรรทัดอีกต่อไป แต่สามารถลาก และวางส่วนประกอบต่างๆ ของแอปพลิเคชันได้อย่างง่ายดาย โดยไม่ต้องเขียนโค้ดเองทั้งหมด

ทีนี้เรามาดูกันว่า Low Code มีเครื่องมือ หรือความสามารถอะไรบ้างที่ช่วยให้นักพัฒนาสามารถสร้างแอปพลิเคชันได้ง่ายขึ้น โดย Future Trends ขอหยิบความสามารถเบื้องต้นของแพลตฟอร์มตัวนี้มายกตัวอย่างกัน

1. Visual Integrated Development Environment: เป็นเครื่องมือในการกำหนด User Interface Workflows และ Data Model ของแอปพลิเคชัน อีกทั้งยังสามารถที่จะใส่โค้ดแบบเฉพาะลงไปได้อีกด้วยถ้าจำเป็น

2. Connectors to Various Back-ends or Services: ซอฟต์แวร์ที่ดึงข้อมูล (Data) หรือการทำงานของแอปฯ ต่างๆ มารวมกันไว้ในที่เดียว ก่อนจะแปลงข้อมูลที่ได้ออกมาในรูปแบบต่างๆ ที่ผู้ใช้งานต้องการ เหมาะสำหรับผู้ที่ทำงานด้าน Marketing หรือ ในวงการตลาด E-Commerce

3. Application Lifecycle Manager: มีเครื่องมือมากมายที่พร้อมให้นักพัฒนาได้ใช้งานตั้งแต่การออกแบบ ไปจนถึงการแก้ไขข้อผิดพลาด (Bug) ก่อนจะนำไปใช้งานจริง และยังมีเครื่องมือที่เตรียมพร้อมสำหรับการอัปเดตแอปพลิเคชันในอนาคตอีกด้วย

ด้วยความสามารถเหล่านี้ จะเห็นได้ว่าค่อนข้างจะครอบคลุมสำหรับการสร้างแอปพลิเคชันแล้ว จึงอยากชวนมาดูกันต่อว่า แล้วการสร้างแอปพลิเคชันผ่าน ‘Low Code’ มันดีกว่าแบบดั้งเดิมอย่างไร

เริ่มต้นใช้งานง่าย: เพราะเครื่องมือต่างๆ ออกแบบมาให้เข้าใจง่าย ทำให้นักพัฒนาสามารถสร้างแอปพลิเคชันได้ทันทีภายในระยะเวลาสองสัปดาห์ แม้จะไม่เคยใช้งาน Low Code มาก่อน

ได้ผลลัพธ์เร็วขึ้นในราคาที่ถูกลง: ด้วยส่วนประกอบพื้นฐานที่สามารถนำมาใช้งานได้ทันที ทำให้การพัฒนาแอปพลิเคชันเร็วกว่าถึง 3-5 เท่า นอกจากนี้การเขียนโค้ดที่น้อยลงยังลดโอกาสในความผิดพลาด และทำให้การดูแลรักษาแอปพลิเคชันนั้นง่ายขึ้นในอนาคต

ยืดหยุ่นกว่า: เพราะเวลาที่ใช้ในการพัฒนา ไปจนถึงการดูแลรักษาน้อยลง นักพัฒนาจึงสามารถที่จะทุ่มเทเวลาในการปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงตามความต้องการทางธุรกิจได้อย่างเต็มที่

ด้วยความสามารถ และข้อดีของ Low Code ในวันนี้เราจึงเห็นการเติบโตของแพลตฟอร์มนี้ไม่น้อยเลย Gartner คาดว่า ในปี 2025 กว่า 70% ของแอปพลิเคชันใหม่ที่พัฒนาโดยองค์กรธุรกิจจะใช้เทคโนโลยี Low Code แทนทั้งหมด เพราะสามารถปรับใช้กับเทคโนโลยีต่างๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะเทคโนโลยี Cloud ที่ Gartner คาดว่า ในปี 2025 นั้น 85% ขององค์กรจะหันมาให้ความสำคัญกับ Cloud เป็นอันดับแรก

ExxonMobil หนึ่งในองค์กรไทยที่นำ Low Code มาใช้งานได้จริง

เมื่อ Low Code มีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นเทคโนโลยีแห่งยุค ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศของเอ็กซอนโมบิล (ExxonMobil Information Technology) จึงได้เริ่มต้นใช้งาน และสนับสนุนการเติบโตของแพลตฟอร์ม Low Code โดยทีม Rapid Application Development หรือ RAD ได้พัฒนาแอปพลิเคชันในชื่อ Norms Planning Utility (NPU) เพื่อใช้ในการวางแผนดำเนินงานของโรงกลั่น และการซ่อมบำรุงที่โรงกลั่น Strathcona

The Strathcona Refinery, Edmonton Alberta Canada

แพลตฟอร์ม Low Code ช่วยให้ทีม RAD ใช้เวลาในการพัฒนาแอปพลิเคชัน NPU เร็วขึ้นถึงสองเท่าโดยใช้งบประมาณเพียงแค่หนึ่งในสี่เท่านั้น นอกจากนี้ด้วยความยืดหยุ่นของแพลตฟอร์ม Low Code ทำให้สามารถนำแอปพลิเคชัน NPU ไปปรับใช้งานกับโรงกลั่นอื่นๆ ของเอ็กซอนโมบิลทั่วโลกที่มีความต้องการคล้ายกันได้อย่างรวดเร็ว

แม้ในวันนี้ แพลตฟอร์ม Low Code จะถูกนำมาใช้กันในองค์กรธุรกิจกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ทำให้เห็นได้ว่าแพลตฟอร์มนี้จะกลายมาเป็นตัวกระตุ้นให้ตลาดแอปพลิเคชันนั้นพุ่งสูงขึ้นไปอีก

ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจะได้เห็นความสามารถใหม่ๆ ของแอปพลิเคชัน ที่ในยุคปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้ และนักพัฒนาอาจจะสามารถทำงานได้ง่ายขึ้นไปอีก

Sources: https://bit.ly/3U3RfES

https://gtnr.it/3zATsiP

https://bit.ly/3FCW1oA

https://bit.ly/3ftFAQR

https://bit.ly/3DW5DJK

Tags::

You Might also Like