LOADING

Type to search

เมื่องานหินแรกของการเป็นหัวหน้าคือ ‘ลูกน้องที่อายุมากกว่า’ เรียนรู้ศิลปะแห่งการบริหารฉบับหัวหน้าอายุน้อย

เมื่องานหินแรกของการเป็นหัวหน้าคือ ‘ลูกน้องที่อายุมากกว่า’ เรียนรู้ศิลปะแห่งการบริหารฉบับหัวหน้าอายุน้อย
Share

ท่ามกลางยุคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สิ่งต่างๆ ที่พร้อมเข้ามา disrupt อยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้หลายองค์กรเริ่มปรับวิธีคิดเรื่องระบบการทำงานจากลำดับขั้นตำแหน่งด้วยอายุ และประสบการณ์เป็น Flat Organization ที่เปิดกว้างทางความคิด และความสามารถมากยิ่งขึ้น

การเติบโตที่ไม่ได้อิงจากอายุ หรือค่าประสบการณ์ในอดีต แต่อิงจากไอเดีย ความรู้ ความสามารถของคนเก่งหรือที่เราเรียกว่า ‘Talent ขององค์กร’ โดยแท้จริง อย่างที่เห็นกันว่า ทุกวันนี้คนหนุ่มสาวไฟแรงสามารถก้าวกระโดด เติบโตไปอยู่ในตำแหน่งหัวหน้าได้ไว

ในทางกลับกัน แม้จะเก่งกล้าสามารถมากแค่ไหน บางครั้งตัวเลขของอายุก็มีความสำคัญอยู่ไม่น้อย เนื่องจากมาพร้อมกับความเก๋าเกม การผ่านร้อน ผ่านหนาวกับเรื่องราวมากมาย ประเด็นความละเอียดอ่อนของอายุจึงเป็นเรื่องท้าทายในการบริหารต่อหัวหน้ามือใหม่ ‘อายุน้อย’ เป็นอย่างมาก เพราะกับบางคนแล้ว ก็อาจจะอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพ่อ-แม่ ในขณะที่บางคนอาจจะต่างกันแค่ไม่กี่ปี

แล้วเราจะรับมือกับงานโหดหินแรกอย่างการมี ‘ลูกน้องที่มีอายุมากกว่า’ ได้ยังไงบ้าง? ในบทความนี้ Future Trends จะพาทุกคนไปเรียนรู้ศิลปะแห่งการบริหารฉบับหัวหน้าอายุน้อยกัน

1. เชื่อมั่นในตัวเอง
การที่จะทำให้ทีมยอมรับในตัวเราได้ อันดับแรกต้องรู้จักเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเองก่อน หากมีความสงสัย (Self-Doubt) หรือคำถามผุดขึ้นมาในหัวว่า จะทำได้รึเปล่า หรือคู่ควรกับตำแหน่งหัวหน้านี้หรือไม่? ให้รีบทุบความไม่มั่นใจนี้ทิ้งทันที ท่องเอาไว้ว่า “ถ้าเราไม่เก่ง เจ้านายคงไม่เลือกให้โอกาสหรอก” เพราะถ้าเราไม่เริ่มจากการเชื่อในตัวเอง ก็เป็นเรื่องยากที่คนอื่นจะหันมาเชื่อเรา

2. เปิดใจ ยอมรับในความสามารถของลูกน้อง
การฟังเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญของการเป็นหัวหน้า อายุที่มากกว่าไม่ได้แปลว่าฉลาดกว่า ตำแหน่งหัวหน้าก็ไม่ได้แปลว่าจะเหนือกว่าทีมเช่นกัน เป็นไปไม่ได้เลยที่หัวหน้าอายุน้อยจะรู้เยอะไปกว่าลูกน้องที่อายุมากกว่า ผ่านประสบการณ์มาเพียบ

เปิดหู เปิดใจให้กว้าง เรียนรู้จากประสบการณ์อันยาวนานของทีม จากนั้น นำไปปรับใช้เพื่อหาแนวทางของงานออกมาให้ดีกว่าเดิม ใส่ใจกับทุกความคิดเห็น ทำให้ลูกน้องรู้สึกว่า มีตัวตนในตำแหน่งแห่งที่นั้น และกำลังถูกรับฟังด้วยความตั้งใจจริง หรือพูดง่ายๆ ว่า มองผ่านเลนส์ Outward Mindset ที่พร้อมจะทำความเข้าใจคนอื่นนั่นเอง

3. ไม่ปีนเกลียว ไม่ใช้อำนาจมากไป
ถึงจะอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจการตัดสินใจ และควบคุมมากกว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะบงการ ชี้นิ้วสั่งจนไม่เหลือความเกรงใจให้แก่กันได้ หาจุดสมดุลระหว่างประสิทธิภาพกับความพอดีให้เจอ วางตัวเองเป็นผู้ร่วมงาน ไม่ใช่คนที่อยู่สูงกว่า แม้อำนาจที่มีจะหอมหวน แต่ถ้าใช้ไม่เป็น ศรัทธาที่พวกเขามอบให้ก็อาจจะหมดลงในวันใดวันหนึ่งเอาได้

ในโลกใบนี้ ไม่เคยมีใครบัญญัติไว้ว่า การเป็นหัวหน้าที่ดี มีประสิทธิภาพจะต้องมีขั้นต่ำของอายุ และประสบการณ์เท่าไร? จงทุ่มเท ตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ แล้วเดี๋ยวผลงาน ความสำเร็จเหล่านั้นจะพิสูจน์ออกมาให้คนรอบข้างเห็นเองว่า สุดท้ายแล้ว อายุก็เป็นเพียงแค่ตัวเลข และไม่ใช่ปัญหาของการทำงานอีกต่อไป!

Sources:

https://bit.ly/3KYmgFF

https://bit.ly/3JUCJJT

https://bit.ly/3vvUWbx

https://bit.ly/3jPtekr

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1

You Might also Like