LOADING

Type to search

เป็นหัวหน้าไม่ได้แปลว่าต้องเก่งกว่าลูกน้อง ทำความเข้าใจภาวะคิดว่าตัวเองเก่งด้วย ‘Lake Wobegon Effect’
Share

ว่ากันว่า ในโลกของการทำงาน ความมั่นใจถือเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่ทั้งหัวหน้า และลูกน้องทุกคนควรมีติดตัว เพราะยิ่งมีมากเท่าไร ก็ยิ่งจะทำให้พูดคุย ตอบคำถามได้ฉะฉานกว่าเดิม อีกทั้งยังช่วยให้ตัดสินใจ และนำเสนอเรื่องต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้นด้วย

ในทางกลับกัน บางครั้งการมีความมั่นอกมั่นใจในตัวเองที่มากเกินไป ก็อาจทำให้เราประเมินตัวเองสูงกว่าความเป็นจริง ทำลายภาพจำหัวหน้าที่ดีจนกลายเป็นคนที่มีความมั่นใจมากเกินไป ในสายตาของลูกน้อง และเพื่อนร่วมงานคนอื่น หรือที่เรียกว่า ‘Lake Wobegon Effect’ ก็ได้

แล้ว Lake Wobegon Effect คืออะไร เรากำลังเป็นอยู่รึเปล่า ต่างจาก Dunning-Kruger Effect ยังไง? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปดูกัน

Lake Wobegon Effect คืออะไร?

lake-wobegon-effect-is-bad-same-as-dunning-kruger-effect 1

คำศัพท์ทางจิตวิทยานี้มีต้นกำเนิดมาจากทะเลสาบโวเบกอนที่เป็นเมืองสมมติของการ์ริสัน คีลเลอร์ (Garrison Keiller) นักเขียน และนักจัดรายการวิทยุชาวอเมริกัน ซึ่งเขาได้ให้นิยามไว้ว่า ‘เป็นเมืองที่ผู้หญิงทุกคนแข็งแกร่ง ผู้ชายทุกคนหล่อ หน้าตาดี และเด็กทุกคนในเมืองนี้จะฉลาด อยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของเด็กทั่วไป’

Lake Wobegon Effect หรือ Illusory Superiority คือแนวโน้มทางความคิด (Human Tendency) ที่เกิดจากปัญหาในการตัดสินใจที่รวดเร็ว โดยอาจจะมีข้อมูลที่ไม่ครบ ส่งผลให้เราเอาประสบการณ์ในอดีตมายึดโยง มั่นใจกับการตัดสินใจ และความสามารถของตัวเองมากเกินไป หลงคิดว่าตัวเองเหนือกว่า ดีกว่าคนอื่น ทั้งที่ในความเป็นจริง ก็แทบไม่ต่างอะไรจากพวกเขาด้วยซ้ำ คล้ายกับการสร้างภาพมายามาปิดบังความจริงเหมือนกับการคิดว่าโลกใบนี้มีแต่สิ่งดีๆ ให้เรา (Optimism Bias) และการคิดว่าสามารถคุมทุกอย่างได้ (Illusion of Control) 

หรืออธิบายให้ใกล้ตัวหน่อย ก็คือหลายๆ ครั้งหัวหน้าบางคนก็อาจจะมีความคิด ความเชื่อผิดๆ ว่า ความเป็นหัวหน้า มีตำแหน่งที่ใหญ่กว่าทำให้ตนต้องสูงส่งลูกน้อง ดีกว่าลูกน้อง คิดอะไรก็ถูก คิดอะไรก็เวิร์กเสมอ และมีสิทธิ์ที่จะต่อว่า ไม่รับฟังทีมยังไงก็ได้นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม เคสนี้ก็ไม่ได้เกิดแค่กับหัวหน้าเท่านั้น แต่ความมั่นใจแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กเรียน หรือแม้กระทั่งวัยทำงานก็ด้วย อย่างเช่น การสำรวจกลุ่มตัวอย่างคนขับของโอล สเวนสัน (Ole Svenson) ในปี 1981 ที่ชี้ให้เห็นว่า 80 เปอร์เซ็นต์ให้คะแนนตัวเองในอันดับ Top 30 ทั้งหมด

Lake Wobegon Effect ต่างจาก Dunning-Kruger Effect ยังไง?

lake-wobegon-effect-is-bad-same-as-dunning-kruger-effect 2

หากมองเผินๆ ทั้ง 2 เอฟเฟกต์นี้ค่อนข้างเหมือนกันในประเด็นหลอกตัวเอง แต่จริงๆ แล้ว ก็มีบางส่วนที่ต่างกันอยู่ เพราะอย่าง Lake Wobegon Effect นั้นเป็นแค่แนวโน้มทางความคิด (Human Tendency) ที่ได้รับจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้พวกเขาประเมินตัวเองสูงเกินไป

ส่วน Dunning-Kruger Effect คืออคติทางความคิดเชิงรับรู้ (Cognitive Bias) ที่คนไม่เก่ง มีความสามารถต่ำ พอเรียนรู้บางเรื่องไปได้ระดับหนึ่งแล้ว ก็ประเมินว่าตัวเองเก่ง มั่นใจว่ามีความสามารถสูง สวนทางกับความเป็นจริง หรือภาษาบ้านๆ ก็คือ จิตวิทยาของคนโง่ที่อวดฉลาดนั่นเอง

แต่ไม่ว่าจะด้วย Lake Wobegon Effect ก็ดี หรือ Dunning-Kruger Effect ก็ตาม ท้ายที่สุดแล้ว ทั้ง 2 อย่างนี้ต่างก็เป็นแนวคิดที่มีติดตัวไว้แล้วไม่เวิร์กสักเท่าไร ทำให้ลูกน้องไม่อยากร่วมงานด้วยเหมือนกัน ฉะนั้น ในวันนี้หัวหน้าอย่างเราๆ ควร Step Back ย้อนกลับมาดูตัวเองบ่อยๆ ด้วยว่า ความมั่นใจที่มีอยู่เป็นสิ่งที่ถูก ที่ควรไหม กำลังทำร้ายตัวเองอยู่ และกำลังทำให้ทีมพังลงรึเปล่า?

มองทุกอย่างไปตามความเป็นจริง ไม่ยึดโยงตัวเองเป็นไม้บรรทัด เพราะสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะเก่งเบอร์ไหน จะเจ๋ง เทพสักเท่าไร มารยาทการอยู่ร่วมกันขั้นพื้นฐานก็หนีไม่พ้นการรู้จักให้เกียรติคนอื่น และฟังให้เป็นอยู่ดี

Sources: https://bit.ly/3vOJMzA

https://bit.ly/3BM0YJF

https://bit.ly/3BPs2I0

https://bit.ly/3Qb4cLb

https://bit.ly/3Quo23I

https://bit.ly/3d2ZaSf

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1

You Might also Like