LOADING

Type to search

ปล่อยให้ทำไปแล้วดูอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ รู้จัก ‘Laissez-faire Leader’ ที่เวิร์กกว่าผู้นำแบบชอบหายหัวทุกทีที่มีเรื่อง

ปล่อยให้ทำไปแล้วดูอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ รู้จัก ‘Laissez-faire Leader’ ที่เวิร์กกว่าผู้นำแบบชอบหายหัวทุกทีที่มีเรื่อง
Share

หลังจากที่เคยพูดถึง Absentee Leader ผู้นำแบบ ‘ชอบหายหัว’ กันไปแล้ว รูปแบบการนำที่ไม่ค่อยเวิร์กเท่าไร เพราะดูท่าน่าจะพาทีมพังมากกว่าปังเป็นพลุแตก ในบทความนี้ Future Trends จะพาทุกคนไปรู้จักกับ Laissez-faire Leader ผู้นำแบบ ‘ปล่อยให้ทำไป’ ที่เป็นเส้นบางๆ ระหว่าง Absentee Leader ผู้นำแบบ ‘ชอบหายหัว’ กัน

แล้ว Laissez-faire Leader ผู้นำแบบ ‘ปล่อยให้ทำไป’ คืออะไร มีข้อดี-ข้อเสียยังไง แตกต่างจาก Absentee Leader ผู้นำแบบ ‘ชอบหายหัว’ ตรงไหน และเวิร์กกว่าไหม?

Laissez-faire Leader คืออะไร?

หากแปลตรงตัวคำว่า “Laissez-faire” มีรากศัพท์มาจากภาษาฝรั่งเศสว่า ‘ปล่อยให้ทำไป’ ผู้นำประเภทนี้จะเป็นขั้วตรงข้ามกับการ Micromanagement ที่คอยจ้ำจี้จ้ำไช จู้จี้จุกจิก หรือการบริหารงานแบบเข้าไปใกล้ชิดแนบแน่น ทั้งกับตัวเนื้องาน และทีม โดย Laissez-faire Leader จะเป็นการบริหารทีมผ่านวิธีการ ‘วางมือลง’ แล้วมอบอำนาจการตัดสินใจให้กับคนอื่น ซึ่งส่วนใหญ่มักจะพบผู้นำแนวนี้ได้ในวงการสตาร์ตอัปที่มีการเปิดกว้าง ให้อิสระทางความคิด หรือมีวัฒนธรรมการทำงานที่ตั้งอยู่บนแนวคิดว่า ‘จะทำอะไรก็ทำ จะเป็นอะไรก็เป็น ขอแค่งานเสร็จก็พอ’

ในทางกลับกัน ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง การปล่อยให้ทำแล้วคอยดูอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ ว่าผลลัพธ์เป็นเช่นไร ก็ถือเป็นการนำที่มีประสิทธิภาพต่ำหรือมีผลแค่บางครั้งเท่านั้น เนื่องจากไม่ค่อยมีการโต้ตอบ และกระตือรือร้นเท่าที่ควร

ทั้งนี้ หลักใหญ่ใจความของการนำประเภทนี้ก็หนีไม่พ้นกุญแจสำคัญอย่าง ‘ความไว้วางใจ’ อีกเช่นเคย ซึ่งก็เป็นไปได้ว่า ถ้าปล่อยให้ทำถี่ๆ เข้า ก็อาจนำไปสู่ Absentee Leader ผู้นำแบบ ‘ชอบหายหัว’ ที่ไม่สนใจใยดีทีมได้ในที่สุด

Laissez-faire Leader ต่างจาก Absentee Leader ตรงไหน?

ถึงจะดูคล้ายกันในแง่ของการปล่อยให้ทีมทำเอง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้ง 2 คำนี้มีเส้นบางๆ ระหว่างกัน แถมอย่างหลังก็มีพลังทำลายล้างองค์กรสูงกว่าด้วย เพราะไม่ใช่แค่บทบาทที่คลุมเครือ แต่ยังมีเรื่องของความไม่แยแส ไม่คุมงาน และไม่ดูแลสารทุกข์สุขดิบของทีมเข้ามาเกี่ยว อย่างไรก็ตาม แม้ Laissez-faire Leader จะปล่อยให้ทีมทำด้วยตัวเอง แต่ก็ยังเจียดเวลาเข้ามาดูผลลัพธ์ของงานนั้นบ้าง ไม่ได้ปัดความรับผิดชอบไปซะทีเดียว หรือพยายามหาร้อยแปดเหตุผลมาบังหน้าให้ดูดีขึ้น

ข้อดีของ Laissez-faire Leader มีอะไรบ้าง?

อย่างที่บอกไปว่า ผู้นำประเภทนี้เปิดกว้าง ให้อิสระทีมอย่างเต็มที่ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เมื่อมีอิสระในตัวเองสูง ความคิดสร้างสรรค์ก็ย่อมสูงขึ้นตาม อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมความกล้าคิด กล้าริเริ่ม กล้าเสี่ยง ก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัย (Comfort Zone) ผ่านการลองผิด ลองถูกด้วยการเรียนรู้ ช่วยให้ทีมเติบโตไปเป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ดีกว่าเดิมในทุกโปรเจกต์

รวมไปถึงยังเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่น ความคล่องตัวในการตัดสินใจ สอดรับกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อ และช่วยสร้างความจงรักภักดีเพิ่มขึ้นอีกทาง อารมณ์เดียวกับเวลาที่เจ้านายจู้จี้กับเราเยอะเกิน ทำให้บางครั้งก็เกิดความรำคาญ ในทางตรงกันข้าม หากเจ้านายให้ความไว้วางใจ เชื่อมั่นในศักยภาพ ก็ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันขึ้นอีกหลายเท่า ส่งผลให้เราอาจจะใช้เวลาทำงานที่องค์กรแห่งนั้นนานกว่าปกติหรือเรียกเป็นภาษาชาวบ้านว่า ‘อยู่ทน’ นั่นเอง

ข้อเสียของ Laissez-faire Leader มีอะไรบ้าง?

ในหยินย่อมมีหยาง ในขาวก็ย่อมมีดำ และแน่นอนว่า ถึงจะมีข้อดีมากมาย แต่ก็มาพร้อมกับเดิมพันที่สูงด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ความกดดันของทีม ประกอบกับโครงสร้าง บทบาท และทิศทางของการทำงานที่ไม่ชัดเจนแล้ว ก็ยิ่งอาจทำให้เกิดความสับสนได้ว่า ท้ายที่สุด เรื่องราวที่เกิดขึ้นควรมีบทสรุปต่อไปอย่างไร? ซึ่งก็เป็นไปได้ว่า สิ่งเหล่านี้อาจสร้างความรู้สึกท่วมท้นจนทีมต้องขอโบกมือลาองค์กรเอาได้

ถึงแม้ล่าสุดจะมีข้อมูลบอกว่า สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) ผู้บุกเบิกแอปเปิล (Apple) และวอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) มหาเศรษฐีระดับโลกได้เคยนำรูปแบบการนำนี้ไปใช้บริหารทีมแล้วก็ตาม ทว่า ก็ไม่ได้การันตีความสำเร็จไปซะทีเดียว เนื่องจาก ส่วนใหญ่ทีมของพวกเขานั้นก็ล้วนแต่เป็นคนเก่ง มากความสามารถเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ดังนั้น การปล่อยให้ทำไปแล้วดูอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ เลยกลายเป็นผลดีซะมากกว่า

แต่หากตอนนี้ทีมของคุณอาจจะยังไม่ได้ปีกกล้า ขาแข็งมากนัก รูปแบบการนำ Coaching Leader สไตล์สายสอนก็อาจจะเวิร์กกว่าการปล่อยให้ Let them do. หรือ Let it go. เอาเอง

ขอไม่สรุปว่า Laissez-faire Leader นั้นดีที่สุด เพราะ ‘One size will not fit all’ ฉันใด ขนาดเดียวก็อาจไม่เหมาะกับทุกคนฉันนั้น

Sources: https://bit.ly/3MsnARB

https://indeedhi.re/3OzroCs

https://indeedhi.re/3rM8lLC

https://bit.ly/3v8ZC89

https://bit.ly/3ka5urr

https://bit.ly/3vc5Wvy

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1

You Might also Like