LOADING

Type to search

มาม่าขายดีไม่ได้แปลว่าคนจนเยอะขึ้น: ทำไม ‘บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป’ จึงใช้เป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจไม่ได้

มาม่าขายดีไม่ได้แปลว่าคนจนเยอะขึ้น: ทำไม ‘บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป’ จึงใช้เป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจไม่ได้
Share

กระแสข่าวการขึ้นภาษีความเค็มถูกพูดถึงตามมาติดๆ หลังจากราคาเนื้อหมูหน้าแผงพุ่งทะยานกิโลกรัมละ 200 บาท รวมถึงวัตถุดิบในการทำอาหารอื่นๆ ที่ทยอยปรับราคาเช่นกัน

ในยุคที่ข้าวยากหมากแพงเช่นนี้ อาหารทางเลือกที่มีราคาประหยัดและยังทำให้อิ่มท้องได้นานๆ ก็คงจะหนีไม่พ้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือที่คนไทยเรียกติดปากกันตามชื่อแบรนด์ดังว่า ‘มาม่า’

ไม่ช่วงเวลาที่ค่าครองชีพปรับราคาพร้อมๆ กัน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจึงถูกพูดถึงทั้งในแง่ของ ‘เพื่อนพึ่งพายามยาก’ ของคนหาเช้ากินค่ำ ตลอดจนการเป็นตัวชี้วัดดัชนีทางเศรษฐกิจ อย่างในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมายอดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการล็อกดาวน์อย่างเต็มรูปแบบ นำไปสู่คำถามสำคัญที่ว่า ความต้องการซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในตลาดสามารถใช้เป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจได้หรือไม่ ถ้ามาม่าขายดีแปลว่าคนจนเพิ่มขึ้นหรือเปล่า?

คำตอบก็คือ ไม่จริงเสมอไปค่ะ เว็บไซต์สำนักข่าวบีบีซีไทยรายงานว่า บ่อยครั้งที่บรรดาผู้บริหารและผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมักจะถูกถามถึงยอดขายเพื่อนำไปประกอบการวิเคราะห์เศรษฐกิจ แต่อันที่จริงแล้วยอดขายที่เติบโตขึ้นมาจากหลายปัจจัย และไม่อาจสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้นได้อย่างเที่ยงตรง

ผู้บริหารบริษัท คันทาร์ จำกัด บริษัทวิจัยการตลาดเปิดเผยว่า การเลือกบริโภคสินค้าประเภทใดประเภทหนึ่งนั้นผู้บริโภคมีทางเลือกที่หลากหลาย และการเลือกรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็ไม่อาจชี้วัดได้ว่า ปัจเจกบุคคลอ้างอิงกับผลกระทบทางเศรษฐกิจหรือไม่

หากย้อนกลับไปดูยอดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ผ่านมาจะพบว่า ยอดขายที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญคือช่วงกลางปี 2563 ถามว่า สาเหตุสำคัญที่ส่งผลกับยอดขายเกิดจากสภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ แต่เหตุต่อเนื่องมาจากมาตรเว้นระยะห่างทางสังคมหรือ ‘ล็อกดาวน์’ ที่ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคในช่วงนั้นเน้นการกักตุนสินค้า เพื่อลดจำนวนครั้งในการออกจากบ้านให้ลดน้อยลงมากที่สุด

และหากลงลึกไปมากกว่านั้นก็จะพบว่า กลุ่มคนที่ใช้จ่ายเงินไปกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากที่สุดคือกลุ่มราบได้ปานกลางถึงสูงในเขตเมือง ดังนั้น ยอดขายที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงไม่อาจนำมาใช้เป็นดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจได้เลย

ตรงกันข้ามกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือพื้นที่แถบชนบทกลับไม่มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของพฤติกรรมการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป สะท้อนว่าอันที่จริงการเพิ่มขึ้นและขยายตัวของความต้องการซื้อเหล่านี้ อาจไม่ได้เกิดจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ แต่เป็นภาวะที่ผู้บริโภคตกอยู่ภายใต้การเป็น ‘panic buying’ คือสภาวะการณ์ทางสังคมส่งผลให้พฤติกรรมการใช้จ่ายเปลี่ยนแปลงไปอย่างฉับพลัน

พูดอย่างถึงที่สุดก็คือ การกักตุนสินค้าในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา กลุ่มคนที่ทำได้ไม่ใช่คนหาเช้ากินค่ำหรือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพราะพวกเขาจะไม่สามารถใช้จ่ายล่วงหน้าไปกับการกักตุนสินค้าในระยะเวลานานๆ แบบนั้นได้ แต่กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางค่อนสูงต่างหากที่มีความสามารถวางแผนการเงินระยะยาวได้ดีกว่า ใช้จ่ายไปกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นได้มากกว่า

อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยอดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสูงขึ้นก็คือ ไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปแทบจะถาวรจากโควิด-19 การมีอาหารแห้งที่มีอายุยาวนานกว่า ไม่ต้องเสี่ยงต่อการออกไปเผชิญในที่สาธารณะบ่อยๆ ทำให้ ‘มาม่า’ เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกอันดับต้นๆ พอๆ กับการสั่งอาหารเดลิเวอรีที่อาจจะมีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่า

แต่ค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงจากการสั่งผ่านเดลิเวอรี ทำให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจ สอดคล้องทั้งไลฟ์สไตล์ ค่าครองชีพ และความสะดวกสบายที่เกิดขึ้น

Sources: https://bbc.in/3vFy2hR

https://bit.ly/3OyAoaP

Tags::