LOADING

Type to search

ประเทศไทยอาจต้องเผชิญ ‘ข้าวของราคาแพง’ ตลอดทั้งปี สรุป ที่มาที่ไป ‘ภาวะเงินเฟ้อ’ ต้นตอปัญหาปากท้องที่กำลังระบาดไปทั่วโลก

ประเทศไทยอาจต้องเผชิญ ‘ข้าวของราคาแพง’ ตลอดทั้งปี สรุป ที่มาที่ไป ‘ภาวะเงินเฟ้อ’ ต้นตอปัญหาปากท้องที่กำลังระบาดไปทั่วโลก
Share

บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศเป็นที่น่ากังวลมาตั้งแต่ปลายปี 2564 จนถึงตอนนี้ อย่างที่เราทราบกันดีว่า สินค้าอุปโภค-บริโภคหลายอย่างราคาแพงเป็นประวัติการณ์ อะไรที่ไม่เคยเห็นก็ได้เห็นในยุคนี้ สมัยนี้ ราคาเนื้อหมูแตะกิโลกรัมละ 200 บาท น้ำมันลิตรละ 40 บาท จะเป็นจุดสิ้นสุดของยุคข้าวยากหมากแพแล้วหรือเปล่า?

คำตอบคือ ไม่ใช่ เพราะปี 2565 นี้ มีการคาดการณ์กันว่า คนไทยอาจต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ ‘ของแพง’ กันทั้งปี และสิ่งที่ทำให้เกิดสภาวะเช่นนี้ก็มีหลายปัจจัยประกอบกัน จนทำให้เกิด ‘ภาวะเงินเฟ้อ’ ที่กำลังแพร่ระบาดในหลายประเทศทั่วโลก

Future Trends จะพาไปสำรวจถึงที่มาที่ไปของภาวะเงินเฟ้อ ณ ขณะนี้ อะไรทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบ 11 ปี วิกฤตครั้งนี้จะไปสิ้นสุดตรงไหน และเราในฐานะประชาชนต้องเตรียมความพร้อมอย่างไรบ้าง เพื่อรับมือกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

ความหมายความสำคัญของเงินเฟ้อ

เงินเฟ้อ คือ สภาวะที่ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มปรับขึ้นราคา หรือพูดง่ายๆ ว่า ของซื้อของใช้ในตลาดที่เราต้องจับจ่ายกันทุกวันมีราคาแพงขึ้นนั่นเอง เมื่อราคาสินค้าแพงขึ้นในสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีแบบนี้ด้วยแล้ว การเกิดภาวะเงินเฟ้อที่สูงมากๆ ยิ่งสร้างความน่ากังวลว่า หากเงินเฟ้อยังปรับสูงขึ้นเรื่อยๆ ต่อไป เงินสดในมือเราจะเหลือน้อยลงอีกเท่าไร เพราะการที่เงินเฟ้อปรับตัวมากกว่าเกณฑ์ที่ควรจะเป็น จะทำให้เงินสดที่ถืออยู่ถูกลดจำนวนลงไปด้วยเช่นกัน

หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดขึ้น สมมติว่าเมื่อต้นปีที่ผ่านมาคุณได้รับพิจารณาปรับเพิ่มฐานเงินเดือนขึ้นมาราวๆ 5,000 บาท ไม่ได้หมายความว่า กระแสเงินสดที่คุณมีเยอะกว่าปีที่แล้วเลย เพราะเมื่อเงินเฟ้อสูงขึ้น สินค้าราคาแพงขึ้น คุณต้องควักเงินเพื่อจับจ่ายมากกว่าเดิม ทำให้เงินสดที่มีก็ไม่ได้ต่างอะไรกับปีที่ผ่านมาเลยแม้แต่น้อย

เมื่อประกอบกับไทม์ไลน์การขึ้นราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค อย่างราคาเนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ ผักสด ผลไม้ น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ค่าทางด่วน ค่าไฟบ้าน ฯลฯ ก็ยิ่งทำให้เห็นภาพชัดมากขึ้นว่า ต่อไปสถานการณ์เช่นนี้จะกระทบกับปากท้องประชาชนมากเพียงใด ซึ่งขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติก็ได้ประกาศปรับเงินเฟ้อที่ 4.65% ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก โดยปรกติแล้ว แบงก์ชาติจะรักษาระดับเงินเฟ้อให้อยู่ราวๆ 2-3% เพาะในแง่หนึ่ง อัตราเงินเฟ้อก็ช่วยรักษาระดับการเติบโตของเศรษฐกิจได้ด้วย แต่ต้องเป็นเงินเฟ้ออ่อนๆ เท่านั้น สำหรับประเทศไทยในตอนนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อถือว่าอยู่ในระดับที่น่ากลัว และต้องจับตากันต่อไปเรื่อยๆ

เหตุเกิดจากสงครามและโควิด-19

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ทั้งไทยและต่างประเทศต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อในขณะนี้ มาจากสองส่วนหลักๆ ได้แก่ 1.) สภาวะสงครามระหว่างยูเครน-รัสเซีย ความขัดแย้งครั้งนี้สร้างผลสะเทือนไปทั่วโลก เนื่องจาก รัสเซียเป็นประเทศที่ถือครองปัจจัยการผลิตและส่งออกพลังงาน นานาชาติต่างพึ่งพาพลังงานทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากรัสเซียแทบทั้งสิ้น มาตรการคว่ำบาตรที่เกิดขึ้นจึงกระทบเป็นห่วงโซ่ไปยังสินค้าอื่นๆ แน่นอน

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ได้ออกมาเปิดเผยด้วยว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อตอนนี้หลักๆ มาจากราคาพลังงาน อาหารสด และต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซียก็ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานการค้า การผลิต และการขนส่ง ทำให้ราคาสินค้าภายในประเทศปรับสูงขึ้น จนเกิดเป็นสถานการณ์เงินเฟ้อ

นอกจากความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซียแล้ว ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบปีที่ผ่านมา ก็เป็นอีกเหตุปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นในระยะต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลกระทบจากจีนที่เป็นประเทศส่งออก-ต้นทางการผลิตสินค้าหลายๆ อย่าง ที่มีการหยุดชะงักไปจากช่วงที่จีนเข้าสู่มาตรการ ‘Zero Covid’ ทำให้จีนประสบกับภาวะขาดแคลนพลังงาน เมื่อต้องนำเข้าต้นทุนการผลิตอย่างพลังงานมากขึ้น จึงทำให้ราคาสินค้า และค่าใช้จ่ายในการขนส่งปรับสูงขึ้นตามไปด้วย

เงินเฟ้อในขณะนี้จึงไม่ได้เกิดแค่ในประเทศเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นวาระแห่งชาติของหลายประเทศทั่วโลก ที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือการขยับของธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve System หรือ Fed)ที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบ 22 ปี นั่นแปลว่า ในอนาคตแบงก์ชาติเองก็อาจจะมีแนวโน้มจะปรับดอกเบี้ยตามเฟดด้วย

คนไทยต้องรับมือกับเงินเฟ้ออย่างไร

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา มติจากคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติให้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลในสัปดาห์นี้ไว้ที่ 32 บาท ซึ่งจะช่วยบรรเทาค่าครองชีพให้ประชาชน จากที่ตอนนี้ดีเซลพุ่งไปที่ลิตรละ 38 บาท เพราะหากราคาน้ำมันดีเซลที่เป็นต้นทุนหลักสำหรับการขนส่งสินค้าปรับขึ้น ราคาสินค้าหน้าแผง และสินค้าอุปโภค-บริโภคอื่นๆ ก็จะทยอยปรับตามไปด้วย

แหล่งข่าวนักเศรษฐศาสตร์จากกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิน ให้ข้อมูลกับ Future Trends ว่า สิ่งที่ทุกคนควรเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปนั้น มีด้วยกันหลักๆ 3 ข้อด้วยกัน คือ 1.) เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง ทั้งเรื่องความขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย และการล็อกดาวน์ของจีนที่มีผลต่อเนื่องอย่างมาก 2.) ดอกเบี้ยจะค่อยๆ ทยอยปรับขึ้น สภาพคล่องจะติดขัด-ดูแลยากมากขึ้น พยายามรักษากระแสเงินสดให้ดี และ 3.) ราคาสินค้าทุกอย่างจะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ตั้งแต่ราคาปุ๋ย ซึ่งตอนนี้ปุ๋ยขาดแคลนทั่วโลกทำให้ราคาอาหารจะสูงขึ้นอีก ผลผลิตที่จะกลายมาเป็นอาหารเพื่อการบริโภคที่ต้องพึ่งพาการเกษตรมีอันต้องล่าช้าออกไปอีก เมื่ออาหารไม่เพียงพอ ขาดแคลน อัตราเงินเฟ้อก็มีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้นมากกว่าตอนนี้ไปด้วย

รักษาสภาพคล่อง กระแสเงินสดไว้ให้ดี อะไรที่ไม่จำเป็นตัดทิ้งไปก่อน เพื่อความอยู่รอดตลอดปี 2565 นี้นะคะ

Sources: https://bit.ly/3LTh32x

https://bit.ly/3KXils3

https://bit.ly/3vVImnc

https://bit.ly/3wiKa8H

https://bit.ly/3KZYvfL

https://bbc.in/3yrMe10

Tags::

You Might also Like