Type to search

ทำไม ‘อินโดนีเซีย’ กลายเป็นโอเอซิสแห่งการลงทุนของ Big Tech?

July 02, 2022 By Witchayaporn Wongsa

เทสลา’ (Tesla) เตรียมสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งใหม่ในอินโดนีเซีย

‘ฟ็อกซ์คอนน์’ (Foxconn) เตรียมลงทุนใน ‘นูซันตารา’ เมืองหลวงใหม่ของอินโดนีเซีย

ช่วงนี้ เราคงได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับการลงทุนของบริษัทเทคโนโลยีในอินโดนีเซีย โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งยักษ์ใหญ่จากอเมริกาอย่าง ‘เทสลา’ ของ ‘อีลอน มัสก์’ (Elon Musk) และยักษ์ใหญ่จากไต้หวันอย่าง ‘ฟ็อกซ์คอนน์’ ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลก โดยทั้งสองบริษัททำการเจรจากับ ‘โจโค วิโดโด’ (Joko Widodo) ประธานาธิบดีของอินโดนีเซียเป็นที่เรียบร้อย ทำให้ในอนาคต อินโดนีเซียอาจจะก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของอาเซียนก็เป็นได้

นอกจากที่อินโดนีเซียจะมีความเนื้อหอมในสายตาของบริษัทเทคฯ แล้ว ยังฉายแววความเป็น ‘ตลาดเกิดใหม่’ (Emerging Market) มาแรง หรือประเทศที่มีลักษณะเฉพาะของตลาดที่พัฒนาแล้ว แต่ยังไม่มีศักยภาพเทียบเท่า เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา อินโดนีเซียมีการเติบโตทางเศรษฐกิจแซงหน้าหลายๆ ประเทศอย่างเห็นได้ชัด

การบรรยายในหัวข้อ ‘World Economic Outlook’ จากงาน ‘Creative Talk 2022’ โดยรวิศ หาญอุตสาหะ มีใจความตอนหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ก็คือปี 2036 อินโดนีเซียจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจาก McKinsey ที่ระบุว่า เศรษฐกิจของอินโดนีเซียจะขยายตัว จนมีมูลค่าสูงถึง 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2040

จากประเทศมวยรองที่ไม่มีใครพูดถึงในเวทีโลก กลับกลายเป็นประเทศที่ใครๆ ก็ต้องการเข้ามาลงทุนด้วย และมีโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุดในอาเซียน อินโดนีเซียพัฒนาประเทศให้มาถึงจุดที่ดึงดูดการลงทุนจากบริษัทต่างชาติมากมายได้อย่างไร? เราจะมาไล่เรียงให้ทุกคนเห็นภาพไปพร้อมๆ กัน

จาก ‘จาการ์ตา’ เมืองหลวงที่ใกล้จมน้ำ สู่ ‘นูซันตารา’ เมืองหลวงแห่งอนาคต

เมื่อช่วงต้นปี 2022 ที่ผ่านมา รัฐสภาของอินโดนีเซียผ่านร่างกฎหมายอนุมัติให้ย้ายเมืองหลวงจาก ‘จาการ์ตา’ ไปยังเกาะบอร์เนียว และใช้ชื่อเมืองหลวงแห่งใหม่ว่า ‘นูซันตารา’ เป็นที่เรียบร้อย จริงๆ แล้ว แผนการย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซียมีมาตั้งแต่ปี 2019 แต่กลับเกิดความล่าช้า เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19

สาเหตุที่อินโดนีเซียต้องทำการย้ายเมืองหลวง เป็นเพราะว่า จาการ์ตาเป็นหนึ่งในเมืองที่มีความเสี่ยงจะจมน้ำเร็วที่สุดในโลก จากปัญหาดินทรุดตัวประมาณ 25 เซนติเมตรต่อปี อีกทั้งยังมีจำนวนประชากรแออัด เนื่องจาก เป็นเมืองที่ความเจริญกระจุกตัวมากที่สุดในประเทศ ทำให้ผู้คนต่างพากันมาทำงานและอาศัยอยู่ที่เมืองแห่งนี้

ดังนั้น การย้ายไปที่เมืองหลวงใหม่ ไม่ใช่แค่การจัดการกับปัญหาทางภูมิศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการกระจายความเจริญไปสู่พื้นที่อื่นๆ ภายในประเทศด้วย
.
การย้ายเมืองหลวง ถือเป็นงานสุดหินสำหรับรัฐบาลอินโดนีเซียอยู่ไม่น้อย เพราะนอกจากที่จะต้องคิดแผนการพัฒนาเมืองตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ยังต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการพัฒนาเมืองให้สำเร็จ ซึ่งนี่คือหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้อินโดนีเซียต้องผลักดันประเทศให้กลายเป็น ‘โอเอซิส’ แห่งการลงทุนของบริษัทต่างชาติ เพื่อสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศให้คุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไป

ในตอนนี้ อินโดนีเซียเหมือนมีโชคชั้นใหญ่หล่นทับ เพราะเป็นจังหวะเดียวกับที่จีนกลับมาบังคับใช้นโยบายซีโร่ โควิด (Zero COVID) และมาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง ทำให้บริษัทส่วนใหญ่ที่มีฐานการผลิตในจีน เลือกที่จะย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นที่มีความพร้อม เพราะไม่ไว้วางใจการบังคับใช้นโยบายของจีนอีกต่อไป ส่งผลให้อินโดนีเซียที่พร้อมโอบรับการลงทุนจากบริษัทต่างชาติ กลายเป็นผู้ถูกเลือกในการสร้างฐานการผลิตใหม่แทน

เราจะพาทุกคนไปสำรวจความพร้อมในการเป็น ‘ฮับ’ (hub) ทางเทคโนโลยีของอินโดนีเซียที่เกิดจากปัจจัยของลักษณะทางภูมิศาสตร์และรัฐบริหาร หรือการบริหารงานของรัฐบาลในประเด็นต่างๆ

ปัจจัยจากลักษณะทางภูมิศาสตร์

1. พื้นที่ทางทะเล

หากทุกคนพิจารณาแผนที่โลก จะพบว่า พื้นที่กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของอินโดนีเซียล้อมรอบไปด้วยทะเล และยังเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยหมู่เกาะ ทำให้การขนส่งกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ อีกทั้งการขนส่งวัตถุดิบในระบบอุตสาหกรรม จะใช้ ‘เรือ’ เป็นช่องทางหลัก เพราะเป็นวิธีที่ใช้ต้นทุนน้อยที่สุด

ดังนั้น อินโดนีเซียที่มีพื้นที่ทางทะเลมาก และมีการขนส่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงเป็นตัวเลือกแรกในการตั้งฐานการผลิตของบริษัทเทคโนโลยี เพราะมียุทธศาสตร์ที่เหมาะสมกับการทำธุรกิจจริงๆ

2. แหล่งแร่ ‘นิกเกิล’ ขนาดใหญ่ของโลก

แร่นิกเกิล คือส่วนประกอบหลักในการผลิตแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า และอินโดนีเซียก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีแหล่งแร่นิกเกิลขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้อินโดนีเซียกลายเป็นประเทศเนื้อหอมในสายตากลุ่มธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า เพราะหากจัดตั้งโรงงานได้สำเร็จ ก็ไม่จำเป็นต้องเสียค่านำเข้าวัตถุดิบเพิ่ม เป็นการประหยัดต้นทุนได้อย่างมหาศาล

ปัจจัยจากรัฐบริหาร

1. ความตื่นตัวของ ‘โจโค วิโดโด’

หากใครติดตามข่าวสารด้านเทคโนโลยีในช่วงนี้ คงได้ยินชื่อของ ‘โจโค วิโดโด’ หรือประธานาธิบดีของอินโดนีเซียอยู่บ่อยๆ เขาเป็นคนที่มีความตื่นตัวในการเจรจาทางธุรกิจอยู่เสมอ และหากจะกล่าวว่า เขาวางตัวในฐานะนักธุรกิจมากกว่านักการเมือง ก็คงไม่ผิดนัก และต้องยอมรับว่า ความสำเร็จในการสร้างโรงงานกับเทสลา ก็มาจากการที่เขาไปเข้าพบมัสก์โดยตรง เพื่อเจรจาเงื่อนไขต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา

2. นโยบายส่งเสริมการลงทุนของบริษัทต่างชาติ

ด้วยความที่เป้าหมายในการสร้างเมืองหลวงใหม่อย่าง ‘นูซันตารา’ คือการเป็นเมืองแห่งอนาคตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ทำให้รัฐบาลพยายามสร้างภาพลักษณ์ และผลักดันนโยบายให้ไปในทิศทางนั้น ซึ่งสิ่งที่ทำก็ไปเตะตาบริษัทที่อยากจะเข้ามาลงทุนด้วย โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า เพราะตรงกับวิสัยทัศน์ของตัวเอง

การทำธุรกิจในพื้นที่ที่มีนโยบายสนับสนุนกับวิสัยทัศน์ของบริษัท ไม่เพียงแต่สร้างความอุ่นใจในการทำธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการการันตีถึงผลประกอบการในอนาคตได้ด้วย เช่น หากรัฐบาลออกนโยบายลดภาษีสำหรับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า บริษัทเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าก็ได้ประโยชน์ เพราะคนจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นนั่นเอง

จากกรณีศึกษาเกี่ยวกับความพร้อมในการเป็นฮับทางเทคโนโลยีของอินโดนีเซีย สะท้อนให้เห็นถึงจังหวะในการสร้างโอกาสการทำธุรกิจอันชาญฉลาด กล่าวคือเมื่อประเทศมีความพร้อมที่ประจักษ์ชัดในด้านของทรัพยากร กฎหมาย และนโยบายที่สนับสนุน จะทำให้เกิดการลงทุนภายในประเทศตามมา

Sources: https://bloom.bg/3buZecJ

https://mck.co/3Aa0U5R

https://bit.ly/3I1KGh9

https://bit.ly/3NqNaGJ

การบรรยายในหัวข้อ ‘World Economic Outlook’ จากงาน ‘CTC 2022’

Trending

    Witchayaporn Wongsa

    Witchayaporn Wongsa

    อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)