Type to search

ถามได้ ตอบได้ แม้ไม่ใช่อับดุล 3 วิธีง่ายๆ ใช้ ‘ChatGPT’ ไม่ให้เป็นภัย

January 14, 2023 By Chompoonut Suwannochin
how-to-use-chatgpt-ethically

หลังจากแชตจีพีที (ChatGPT) เปิดตัวในเดือนธันวาคม 2565 ไปหมาดๆ เรียกได้ว่า เกิดกระแสฮือฮาบนโลกโซเชียลมากมาย เพราะความอัจฉริยะและล้ำหน้า ไม่ว่าจะเป็นการโต้ตอบกับคนอย่างเป็นธรรมชาติ ตอบคำถามยากๆ ทำการบ้าน ตัดต่อคลิปวิดีโอ การเปลี่ยนภาพเซลฟี่ให้กลายเป็น AI Portrait ในเลนซา เอไอ (Lensa AI) การเขียนโค้ด และบทความ นี่จึงทำให้หลายๆ คนจับตามองว่า ในอนาคตอันใกล้ แชตบอตสารพัดประโยชน์นี้จะเป็นผู้สั่นสะเทือนโลก และกลายเป็น The Next Big Thing ของวงการไอทีต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้ ChatGPT จะเข้ามาทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น ประหยัดทั้งแรงและเวลา แต่หากพูดกันตามเนื้อผ้า มันย่อมมีทั้งคุณและโทษ ไม่ต่างจากกัญชาที่ถ้าใช้เป็น ก็จะมีประโยชน์อนันต์ ในทางกลับกัน ถ้าใช้ไม่เป็น ก็อาจก่อให้เกิดโทษต่อร่างกายอย่างมหันต์

แล้วเราจะใช้ ChatGPT อย่างไรให้เวิร์ก? Future Trends จะพาไปดูวิธีการใช้เครื่องมือที่ไม่สร้างอันตรายให้กับตัวเอง และผู้อื่นกัน

1. เข้าใจขีดความสามารถ และผลกระทบ

ถึง ChatGPT จะขึ้นชื่อเรื่องความเก่งกาจ คุณภาพ แต่ปกติแล้ว ปัญญาประดิษฐ์ของมันจะเรียนรู้ทักษะต่างๆ และประมวลผลจากข้อมูลที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต โดยประเด็นดังกล่าวถือเป็นช่องโหว่สำคัญที่ทำให้ผลลัพธ์ออกมาไม่เป็นกลาง สร้างอคติ และความเกลียดชังได้

อย่างที่ทราบกันว่า ไม่ใช่ทุกข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตที่จะถูกต้อง และบางเว็บไซต์ก็เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามาแก้ไขข้อมูลได้ตลอด นั่นแปลว่า ข้อมูลนั้นอาจเป็นข้อเท็จจริงหรือเรื่องแต่งได้ทั้งนั้น

ดังนั้น สิ่งสำคัญก็คือ เราต้องเข้าใจในขีดความสามารถ กลไกของมัน ไม่เชื่อข้อมูลทุกอย่างที่ได้รับ หมั่นตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อไม่ให้ส่งต่อข้อมูลผิดๆ และเป็นอันตรายกับผู้อื่นโดยไม่ได้ตั้งใจ

2. ตระหนักว่า ‘กำลังเล่นอยู่กับอะไร?’

how-to-use-chatgpt-ethically 1

จากที่เล่าไปก่อนหน้าว่า ChatGPT เป็นเอไอชั้นสูงที่ถูกฝึกให้เรียนรู้ข้อมูลมหาศาลจากอินเทอร์เน็ต แน่นอนว่า ข้อมูลที่เราป้อนลงไป ทั้งรูปภาพที่อัปโหลดใน Lensa AI และข้อความที่ละเอียดอ่อนก็จะถูกแชร์ให้มันเรียนรู้ด้วยเช่นกัน

แม้พริสมา แล็ป (Prisma Labs) จะเผยว่า รูปภาพที่อัปโหลดจะถูกลบภายใน 24 ชั่วโมง และ ChatGPT จะอธิบายว่า ไม่ได้เก็บข้อมูลของเราไว้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว การป้องกันไว้ก่อนย่อมดีกว่าอยู่แล้ว จริงไหมล่ะ?

3. ใช้เพื่อ ‘พัฒนางาน’ ไม่ใช่ทำแทนเรา

นอกเหนือจากผลลัพธ์ที่ไม่เป็นกลางแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ ChatGPT ยังทำได้ไม่ค่อยดีก็คือ ความถูกต้องของข้อมูล เช่น ถ้าเราลองส่งโจทย์หรือคำถามบางอย่างไป ผลลัพธ์ก็อาจไม่ได้จริงแท้ทั้งหมด ผลลัพธ์อาจจะถูก แต่ขณะเดียวกัน วิธีการหรือข้อมูลบางส่วนก็อาจจะผิด เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ควรไว้ใจแชตบอตนี้แบบสุ่มสี่สุ่มห้า และเหมาะนำมาเป็นแค่ผู้ช่วย ไม่ใช่ให้ทำงานทุกอย่างแทนเรา

ChatGPT คือแชตบอตอัจฉริยะตัวหนึ่งที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์วงการไอที จนนาทีนี้หลายๆ คนก็รู้สึกร้อนๆ หนาวๆ ว่า มันอาจจะมาแย่งงานมนุษย์ แต่ในความเป็นจริง หากเราหมั่นพัฒนาตัวเอง อัปเดตความรู้ที่มีอยู่เสมอ ต่อให้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนานสักเท่าไร จะมีแชตบอตที่น่ากลัวกว่า ChatGPT อีกหลายเท่าแค่ไหน ก็คงไม่มีอะไรมาแทนที่เราได้อย่างแน่นอน!

Source: https://nyti.ms/3GFOGou

Trending

    Chompoonut Suwannochin

    Chompoonut Suwannochin

    อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง