LOADING

Type to search

ทำไมองค์กรชอบเก็บคน Toxic ทำงานไม่ดีเอาไว้ จนคนเก่งเลือกเดินออกไปเอง

ทำไมองค์กรชอบเก็บคน Toxic ทำงานไม่ดีเอาไว้ จนคนเก่งเลือกเดินออกไปเอง
Share

ความขี้เกียจเป็นสิ่งที่สามารถพบได้ในตัวมนุษย์ทุกคน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์ออฟฟิศที่ได้ชื่อว่า ‘เป็นเพื่อนร่วมงานของเรา’

“วันๆ ไม่เห็นเขาจะทำงานอะไร กินแรงตลอดเลย”
“เกี่ยงงาน เห็นแก่ตัว เอาเปรียบคนอื่นตลอด มีอะไรก็โยนให้คนอื่น แล้วตัวเองก็นั่งเฉยๆ”

วันแล้ววันเล่าที่เรานั่งระทมทุกข์กับนิสัยแย่ๆ ของเพื่อนร่วมงานประเภทตัวขี้เกียจ เวลามีงานยาก งานด่วน งานเร่ง หรืองานสำคัญอะไร หัวหน้าก็มักจะใช้คนขยันอย่างเราเป็น ‘ท่าไม้ตาย’ ตลอด

ถึงจะมีคนเคยบอกว่า การได้ทำงานเยอะๆ จะทำให้มีประสบการณ์มากขึ้น คล่องมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลดีกับตัวเราล้วนๆ เพราะจะได้ Level Up เร็ว เก่งไวขึ้น ส่วนคนขี้เกียจก็จะเป็นไปตามกฎแห่งกรรม ที่เมื่อขี้เกียจ อู้งาน ไม่พัฒนาตัวเอง พอวันหนึ่ง ทักษะเดิมที่เคยใช้ได้ดี สิ่งที่เคยใช่ ก็อาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป พวกเขาก็จะเอาตัวไม่รอดจนต้องตกงานไปเอง

ทว่า หลายๆ ครั้งก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า คนขี้เกียจเคยรู้ตัวบ้างไหมว่ากำลังทำให้คนอื่นป่วงอยู่ ต้องเป็นเราอีกแล้วเหรอ ต้องเป็นเดอะแบกของทีมไปถึงเมื่อไรกัน และถึงที่สุดแล้ว มันแฟร์กับคนอื่นหรือไม่?

how-to-deal-with-a-toxic-and-slacker-coworker 1

แคโรลีน โอ ฮารา (Carolyn O’Hara) เคยพูดถึงวิธีรับมือกับเพื่อนร่วมงานประเภทตัวขี้เกียจ หรือที่เรียกว่า ‘Slacker’ กับการทำงานบนเว็บไซต์ฮาร์วาร์ดบิสซิเนสรีวิว (Harvard Business Review) ไว้อย่างน่าสนใจว่า อย่างแรกให้เรา ‘เอาตัวเองไปใส่ในรองเท้าพวกเขา’ มองด้วยสายตาแห่งความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) ว่า โดยเนื้อแท้แล้ว พวกเขาอาจจะไม่ได้ขี้เกียจเสมอไป แต่จริงๆ แล้ว มันอาจเกิดจากปัญหาบางอย่างในที่ทำงาน หรือที่บ้านที่ทำให้พวกเขาเป็นแบบนี้ก็ได้

อย่างเช่น การไม่เข้าใจในเนื้องาน การทำงานที่ไม่ถนัด หัวหน้าใช้พวกเขาผิดที่ ผิดทาง ผิดความสามารถจนก่อเกิดเป็นอาการ Burnout ขี้เกียจ หมดแรง หมดใจจะทำงาน อย่าเพิ่งด่วนตัดสินว่า ทั้งหมดเกิดจากตัวเพื่อนร่วมงานที่มีนิสัยขี้เกียจตั้งแต่เกิด เพราะหลายๆ ครั้ง ‘บริบทรอบตัวก็สำคัญ’ แถมปัญหาที่ว่าก็อาจเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสพอสมควร ถ้าเราเจอบ้าง ก็อาจล้มครืนจนไม่อยากทำงานเหมือนกับพวกเขาก็เป็นได้

ถัดมา เธอบอกว่า หากพฤติกรรมขี้เกียจเหล่านั้นส่งผลกับงานของเรา ไม่ว่าจะเป็นการรับงานไปทำต่อแล้วส่งต่อให้เพื่อนคนอื่นอีกที หรือส่งต่อให้ลูกค้า หัวหน้า ถ้าเกิดช้าขึ้นมา จะโดนตำหนิเอาได้ แทนที่จะเผชิญหน้า ซุ่มโจมตี แซะ กระแนะกระแหนให้พวกเขารู้ตัวด้วยคำพูด ให้เปลี่ยนเป็น ‘การจับเข่าคุยกันตรงๆ ด้วยความสงสัย ใคร่รู้ (Curiosity) และใจดี มีเมตตา (Compassion)’ แทน

ทั้งนี้ อาจจะลองเริ่มจากบทสนทนาง่ายๆ ว่า เป็นอย่างไร สังเกตว่าช่วงนี้มี Engage กับโปรเจกต์น้อยกว่าที่ผ่านมา ติดปัญหาตรงไหนรึเปล่า และมีวิธีการอะไรที่เราพอจะช่วยได้หรือไม่? ให้โชว์ความจริงใจว่า เรากำลังพยายามจะช่วยแก้ปัญหามากกว่าจะลงโทษ จุดประเด็นนั่นเอง

นอกจากนี้ แคโรลีนยังเสริมว่า นอกจากจะจับเข่าคุยแล้ว ให้พูดถึง ‘ข้อเท็จจริง’ ด้วย อธิบายพฤติกรรมของพวกเขาให้ชัดๆ ว่า มีผลกระทบกับเรา และเพื่อนร่วมงานคนอื่นยังไง? ยกตัวอย่างเช่น การส่งงานช้าของพวกเขาทำให้เราพลาดกำหนดส่งงานกับลูกค้า ทำงานไม่ทันจนสุดท้ายแล้ว แรงกระเพื่อมนี้สั่นคลอนถึงข้อตกลงกับลูกค้า ให้มองไปข้างหน้าแล้วชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างผ่านมุมมองเชิงบวกพร้อมกับน้ำเสียงที่เหมาะสม ไม่ใช่การตั้งธงในใจ ใส่อารมณ์ และทำตัวเป็น ‘ตัวแทนของหมู่บ้าน’

how-to-deal-with-a-toxic-and-slacker-coworker 2

ส่วนวิธีที่สี่ เธออธิบายว่า แม้การยื่นมือเข้าไปช่วย เสนอวิธีแก้ปัญหาจะเป็นเรื่องดี แต่อย่ายึดติดเกินไป ทำความเข้าใจว่า เรากับเขาต่างกัน วิธีที่ดีที่สุดของเราอาจใช้ไม่ได้กับทุกคน ‘ยืดหยุ่นให้มากๆ’ อย่าคิดว่า สถานการณ์ดังกล่าวเป็นดำหรือขาว เราถูก คนอื่นผิดเต็มประตู เพราะการคิดว่าใครสักคนผิดจริงๆ นั่นทำให้พวกเขาหมดหวังที่จะปรับปรุงตัวอย่างมาก

หลังจากเข้าไปคุยเรียบร้อยแล้ว แต่พวกเขายังเหมือนเดิม เธอบอกว่า ‘ให้ลองให้โอกาสอีกครั้ง’ อาจจะเป็นไปได้ว่า สิ่งที่คุยกันทีแรกไม่ได้เจาะจงรายละเอียดเท่าไร อธิบายให้พวกเขาเห็นว่า อะไรคือสิ่งที่พวกเขาเคยบอกว่าจะทำ และอะไรคือสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นบ้าง?

รวมไปถึงถ้าแก้ไม่ได้จริงๆ เป็นเรื่องที่เหนือบ่ากว่าแรง พฤติกรรมเหล่านั้นยังส่งผลเสียกับงานเราอยู่ ก็ถึงเวลาจะเดินไปบอกหัวหน้าให้รู้ได้แล้ว! โดยก็ควรบอกเพื่อนร่วมงานล่วงหน้าด้วยว่า กำลังจะเดินไปบอกตามมารยาท และความเป็นมืออาชีพ อีกทั้ง การทำแบบนี้ยังทำให้พวกเขาไม่ข้องใจกับเราด้วย

วิธีสุดท้าย แคโรลีนแนะนำว่า ให้เข้าหาหัวหน้าอย่างระมัดระวัง เดินไปบอกแบบสวยๆ แล้วเดินออกมาแบบสวยๆ เช่นกัน ระบุให้เห็นปัญหา แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องหมั่นตรวจสอบตัวเองด้วยว่า จะกลายเป็นคน Toxic สร้างความเป็นมลพิษอยู่รึเปล่า และลึกๆ แล้ว เราเต็มใจจะช่วยแก้ปัญหาหรือไม่?

อย่างไรก็ตาม นี่ก็ไม่ใช่เรื่องที่มนุษย์ออฟฟิศตัวเล็กอย่างเราๆ ที่จะต้องนั่งอดทน ช่วยแก้ปัญหาอยู่ฝ่ายเดียว คิดบวก โลกสวยว่า ทำตัวเองให้ดี ปรับ Mindset ไม่ให้เพื่อนร่วมงานประเภทนี้เปลี่ยนมุมมองการทำงานตัวเอง

แต่ในฟากฝั่งของหัวหน้าที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ ก็ควรย้อนกลับมาสำรวจทีมบ่อยๆ เช่นกันว่า กำลังมีมนุษย์ Slacker หรือเนื้อร้ายแฝงตัวอยู่ไหม เกิดจากปัญหาอะไร พอจะช่วยแก้ยังไงได้บ้าง?

ถ้าเกินเยียวยา ถึงทางตันจริงๆ ก็แนะนำว่า อย่าเก็บคนเหล่านี้ไว้ เอาออกได้ก็เอาออก เพราะการ ‘ยิ่งเก็บคนไม่ทำงานไว้ ก็ยิ่งเป็นการไล่คนเก่งๆ ออก’ และวันหนึ่ง คุณเองก็อาจจะไม่เหลือคนขยันที่ทำงานดีอยู่ด้วยแม้แต่คนเดียวนั่นเอง…

Source: https://bit.ly/3BsDJ7z

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1

You Might also Like