เอาใจเราไป ‘ใส่ใจ’ เขา ‘Hawthorne Effect’ ปรากฏการณ์ปลุกความขยันในตัวลูกน้อง
ว่ากันว่า ในโลกของการทำงานนั้น ความสัมพันธ์ของหัวหน้ากับลูกน้องก็ไม่ต่างอะไรจากความสัมพันธ์ฉันท์แฟนที่ลึกๆ แล้ว ต่างฝ่ายต่างก็อยากได้รับการเทคแคร์ ดูแลเอาใจใส่เช่นกัน
เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นโซ่ทองคล้องใจให้อยู่ด้วยกันยืดเท่านั้น แต่ก็ยังก่อให้เกิด Win-win situation กับทั้งสองฝ่าย เมื่อลูกน้องรู้สึกดีก็ย่อมจะตอบแทนด้วยการตั้งใจทำงานให้ออกมาดีด้วย โดยในทางจิตวิทยา เราเรียกปรากฏการณ์แบบนี้ว่า ‘Hawthorne Effect’
แล้ว Hawthorne Effect คืออะไร เราจะใช้ Hawthorne Effect กับการบริหารทีมได้อย่างไร? บทความนี้ Future Trends จะพาไปดูกัน
Hawthorne Effect คืออะไร?
Hawthorne Effect คือคำศัพท์ที่ใช้เรียกปรากฏการณ์การปลุกความขยันหรือ Productivity ที่ถูกบัญญัติขึ้นเมื่อปี 1950 โดยเฮนรี เอ. ลันส์แบร์เกอร์ (Henry A. Landsberger) เกิดจากการที่เอลตัน มาโย (EIton Mayo) นักสังคมศาสตร์ และศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาทำการทดลองเพื่อศึกษาเงื่อนไขที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานในปี 1924 – 1932 ณ โรงงานไฟฟ้าแห่งหนึ่งในเมืองฮาวทอร์น รัฐอิลลินอยส์ ของสหรัฐฯ
ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มแสงไฟ การปรับเปลี่ยนเวลาทำงาน หรือแม้กระทั่งการเพิ่มเวลาพัก และการมอบอาหารเล็กๆ น้อยๆ ในช่วงพักก็ด้วย ผลปรากฏว่า หลังสิ้นสุดการทดลอง เมื่อเงื่อนไขเหล่านี้ถูกเปลี่ยนกลับเป็นแบบเดิม และมาโยคาดว่า Productivity ของพนักงานจะลดลง เป็นเหมือนช่วงก่อนทดลอง แต่ผลลัพธ์กลับตรงกันข้าม เนื่องจาก Productivity ของพนักงานนั้นก็ยังมากเท่ากับช่วงทดลองอยู่ดี
มาโยได้ข้อสรุปว่า สภาพแวดล้อมทางกายภาพที่เปลี่ยนไปไม่ได้ส่งผลกับ Productivity แต่อย่างใด แต่จริงๆ แล้ว สิ่งที่ส่งผลก็คือ ‘การดูแลเอาใจใส่ใจ และการมีส่วนร่วม’ ที่องค์กรมอบให้แก่ตัวพนักงานต่างหาก
เราจะใช้ Hawthorne Effect กับการบริหารทีมได้อย่างไร?
1. ฟังอย่างตั้งใจ
ใครๆ ต่างก็อยากได้รับการยอมรับจากรอบข้างด้วยกันทั้งนั้น ลูกน้องก็เช่นกัน หัวหน้าควรให้ความสำคัญกับการฟังความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมของลูกน้อง เพราะไม่เพียงแค่ช่วยให้เข้าใจถึงปัญหา แต่การถูกรับฟังอย่างตั้งใจนี้ก็ยังทำให้พวกเขารู้สึกดี พร้อมที่จะทุ่มเทถวายหัวให้กับงานด้วย
2. อย่าใส่ใจลูกน้องแบบ 24/7
ถึงการเทคแคร์ดูแลเอาใจใส่จะเป็นสิ่งที่ลูกน้องหลายคนพึงปรารถนา แต่บางครั้งอะไรที่มากเกินไปก็ไม่ดี เฉกเช่นเดียวกับอะไรที่น้อยเกินไป หากจะเอาใจใส่พวกเขา ควรกำหนดลิมิตของตัวเองด้วย เพราะไม่อย่างงั้นความหวังดีก็อาจแปรเปลี่ยนความรู้สึกอึดอัด และการจ้องจับผิดแทนก็เป็นได้
3. Put the right man on ‘the right group’
นอกเหนือจากการฟังอย่างตั้งใจ และไม่สอดส่องตลอดเวลาแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ‘การจัดคนให้อยู่ในกลุ่มที่เหมาะสม’ เนื่องจาก ความ Productivity ของพนักงานคนใดคนหนึ่งเป็นมวลหรือพลังงานที่สามารถส่งถึงพนักงานคนอื่นในทีมได้
โดยการทดลองพบว่า ถ้าเอาพนักงาน 2 คน ที่ขยันมาแทนที่พนักงาน 2 คน ที่ดื้อ และทำผลงานได้ปานกลางจะส่งผลให้ทีมมี Productivity มากขึ้นกว่าเดิม
4. พระเจ้าอยู่ในรายละเอียด
‘God is in details.’ คือแนวคิดการออกสินค้าหรือบริการที่เรามักจะได้ยินกันอยู่บ่อยๆ แต่แท้จริงแล้ว แนวคิดนี้ก็ยังใช้ได้กับการบริหารทีมให้มีประสิทธิภาพเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แม้ตอนแรกจะเล่าไปว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมนั้นไม่ได้ส่งผลกับ Productivity แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า นี่ทำให้พวกเขารู้สึกว่า ตนได้รับการดูแลเอาใจใส่ ก่อเกิดเป็นความรู้สึกอยากทำงานให้ออกมาดีขึ้นด้วย ดังนั้น เราควรให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม
สุดท้ายแล้ว องค์กรอาจไม่จำเป็นต้องเอาสวัสดิการหรือเงินทองก้อนโตมากองตรงหน้าเพื่อให้พนักงานขยันขึ้นก็ได้ แต่ถ้าหัวหน้ารู้จักเอาใจตัวเองไปใส่ใจลูกน้อง หมั่นเทคแคร์ดูแล ไต่ถามสารทุกข์สุขดิบก็สร้าง Hawthorne Effect ทำให้พวกเขาอยู่ด้วยกันไปนานๆ ได้เช่นเดียวกัน
Sources: https://bit.ly/41FMyVW