“อยากมีโฟกัสที่ดี? Multitasking อาจไม่ใช่คำตอบ” 7 พฤติกรรมที่ช่วยให้เรามีสมาธิบนโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งรบกวน

รู้หรือไม่? สมาธิของเรากำลังกลายเป็น ‘เป้าหมาย’ ที่ถูกท้าทายตลอดเวลา!
หลายๆ ครั้งที่เรานั่งลงทำงานด้วยความตั้งใจ แต่กลับถูกดึงความสนใจไปกับเสียงแจ้งเตือน โทรศัพท์ที่สั่น หรือการเลื่อนดูโซเชียลโดยไม่รู้ตัว เผลออีกทีนาฬิกาก็ชี้ไปถึงเวลาเลิกงานแล้ว โดยที่งานของเรายังไม่เสร็จด้วยซ้ำ
โดย Zelana Montminy นักจิตวิทยาได้อธิบายว่า เราถูกฝึกให้ ‘เสพติดการขัดจังหวะ’ และอุปกรณ์ดิจิทัลของเรายิ่งตอกย้ำพฤติกรรมนี้ ผ่านการแจ้งเตือนและไลก์ที่กระตุ้นการหลั่งโดพามีน ทำให้เรายังคงติดอยู่ในวัฏจักรของการมองหาการยืนยันจากโลกออนไลน์
แม้หลายคนเชื่อว่าตัวเองสามารถรับมือกับสิ่งรบกวนได้ดี แต่ ดร.Gloria Mark ศาสตราจารย์ด้านสารสนเทศ จาก University of California, Irvine และผู้เขียนหนังสือ Attention Span: A Groundbreaking Way to Restore Balance, Happiness, and Productivity ยังคงเตือนว่า การทำหลายๆ อย่างพร้อมกัน เปรียบเสมือน ‘การลบและเขียน’ ข้อมูลลงบนกระดานไวท์บอร์ด ‘ซ้ำไปมา’ ส่งผลให้สมองทำงานหนักขึ้น ใช้เวลาทำงานนานขึ้น ความผิดพลาดเพิ่มขึ้น และระดับความเครียดสูงขึ้น
ดังนั้น หากต้องการโฟกัสให้ดีขึ้น เราต้องหาวิธีลดสิ่งรบกวน และสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้มีสมาธิ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจาก Harvard Business Review มีคำแนะนำที่ช่วยให้เราจัดการปัญหานี้ได้ ผ่านการปรับเปลี่ยนนิสัยเล็กๆ ทั้งสิ้น 7 อย่าง จะมีอะไรบ้าง ไปดูเลย!
1. สร้างรากฐานที่แข็งแกร่ง
สมาธิที่ดีเริ่มจากการดูแลร่างกาย เราต้องให้ความสำคัญกับการนอนหลับที่เพียงพอ เพราะการพักผ่อนอย่างมีคุณภาพช่วยให้สมองสามารถจัดระเบียบความคิดได้ดีขึ้น
การดื่มน้ำและออกกำลังกายที่เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยให้ร่างกายตื่นตัว พร้อมรับมือกับงานที่ต้องใช้พลังสมอง นอกจากนี้ การจัดพื้นที่ทำงานให้เหมาะสมก็สำคัญ โต๊ะทำงานที่เป็นระเบียบ แสงที่พอดี และสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้จดจ่อ จะทำให้เราสามารถเข้าสู่โหมดการทำงานได้ง่ายขึ้น
2. ฝึกสมองให้จดจ่อกับเป้าหมาย
การมีเป้าหมายที่ชัดเจนจะช่วยให้เรารู้ว่าควรให้ความสำคัญกับอะไรในแต่ละวัน การจดเป้าหมายลงบนกระดาษโน้ต หรือเขียนไว้บนกระดานไวท์บอร์ดในที่ที่มองเห็นได้ง่าย จะช่วยเตือนให้เรารู้ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุด และหลีกเลี่ยงการเสียเวลาไปกับเรื่องที่ไม่จำเป็น
3. กำหนดเป้าหมายทางอารมณ์
ไม่ใช่แค่การตั้งเป้าหมายงานเท่านั้นที่สำคัญ แต่เราควรถามตัวเองด้วยว่า “ตอนเย็นเราอยากรู้สึกยังไง?” บางคนอยากรู้สึกสงบเมื่อสิ้นสุดวัน บางคนอยากรู้สึกภูมิใจที่ทำงานสำเร็จ หรือบางคนต้องการความสดชื่นและมีพลัง การตั้งเป้าหมายแบบนี้จะช่วยให้เราเลือกทำสิ่งที่ส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของตัวเองได้อย่างถูกต้อง
4. หยุดทำอะไรโดยอัตโนมัติ
หลายๆ ครั้งเรามักเผลอเลื่อนมือถือแบบไม่รู้ตัว แล้วพบว่าตัวเองเสียเวลาไปเป็นชั่วโมงโดยไม่ได้อะไรกลับมา การสังเกตพฤติกรรมของตัวเองและตั้งคำถามว่า “เรากำลังหลีกเลี่ยงอะไรอยู่?” จะช่วยให้เราระวังตัวมากขึ้น บางครั้งแค่การหยุดและไตร่ตรอง ก็ทำให้เรากลับมาโฟกัสกับสิ่งที่ต้องทำได้แล้ว
5. ทำงานตามจังหวะพลังงานของเรา
แต่ละคนมีช่วงเวลาที่มีพลังและมีสมาธิแตกต่างกัน เราจึงต้องสังเกตร่างกายตัวเองว่าเวลาไหนที่รู้สึกตื่นตัวและทำงานได้ดีที่สุด แล้วจัดลำดับงานให้เหมาะสม หากเรามีพลังมากที่สุดในช่วงเช้า ก็ควรใช้เวลานั้นทำงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์หรือการวิเคราะห์ ส่วนช่วงบ่ายที่พลังงานลดลง อาจใช้ทำงานที่เบากว่า เช่น ตอบอีเมล หรือประชุมทีม
6. ฝึกการฟังอย่างตั้งใจ
เพราะไม่ใช่แค่การทำงานเท่านั้นที่ต้องการสมาธิ ‘การสนทนา’ ก็ต้องการเช่นกัน ลองฝึกตัวเองให้ตั้งใจฟังเวลาพูดคุยกับผู้อื่น โดยไม่จับมือถือ หรือปล่อยให้จิตใจวอกแวกไปที่อื่น เมื่อเราฝึกการฟังอย่างลึกซึ้ง จะช่วยให้เรามีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น และเข้าใจสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการจะสื่อสาร
7. ปล่อยให้สมองได้พักจริงๆ บ้าง
หลายคนเข้าใจว่าการไถฟีดโซเชียลคือการพักผ่อน แต่รู้ไหมว่า จริงๆ แล้วสิ่งนี้มันกลับเพิ่มภาระให้สมองโดยที่เราไม่รู้ตัว! การให้สมองได้หยุดพักจริงๆ อย่างการนั่งนิ่งๆ หลับตาสักครู่ ออกไปเดินเล่น หรือแม้แต่ฟังเพลงเบาๆ โดยไม่ทำอะไรต่างหาก ที่จะช่วยให้สมองฟื้นตัวและพร้อมกลับมาทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ในโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งรบกวนต่างๆ ที่ยากต่อการหลีกเลี่ยงนั้น สิ่งที่เราสามารถทำได้ด้วยตัวเอง และไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมืออะไรให้มากความ ก็คือ ‘การฝึกนิสัย’ เพื่อให้โฟกัสได้ดีขึ้น ด้วยการดูแลร่างกาย ฝึกสมาธิ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงาน
ซึ่งเมื่อเรารู้จักบริหารสมาธิได้ถูกหลักการ เราก็จะสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และที่สำคัญที่สุด เราจะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้นด้วยนะ เพราะฉะนั้น สู้ๆ ลองดูกันสักตั้งนะทุกคน!
เขียนโดย ชนัญชิดา พลอยพลาย
#FutureTrends #FutureTrendsetter #FutureTrendsWorkAndLife
Source:
7 Habits to Stay Focused in a World Full of Distractions
https://hbr.org/2025/02/7-habits-to-stay-focused-in-a-world-full-of-distractions?ab=HP-latest-text-1