LOADING

Type to search

Growth Mindset สำคัญแค่ไหน? ทำไมผู้บริหารต้องสร้าง Growth Mindset ให้มีในที่ทำงาน

Growth Mindset สำคัญแค่ไหน? ทำไมผู้บริหารต้องสร้าง Growth Mindset ให้มีในที่ทำงาน
Share

ในปัจจุบัน สนามการแข่งขันทางธุรกิจมีความร้อนระอุสูงมาก และดูจะมีทีท่าเพิ่มขึ้นในทุกๆ วัน ดังนั้น เหล่าผู้ประกอบการที่เป็นผู้เล่นสำคัญในสนามนี้ ต่างก็ต้องสรรหาวิธีการใหม่ๆ และนำไอเดียเจ๋งๆ มาใช้ในการพัฒนาธุรกิจให้มีความโดดเด่น เพื่อที่จะสามารถเอาชนะใจผู้บริโภคและช่วงชิงความเป็นเบอร์หนึ่งของการแข่งขันมาให้ได้

ถึงแม้ว่า การพัฒนาธุรกิจด้วยไอเดียใหม่ๆ อาจจะดูเป็นแนวคิดที่ใครๆ ก็ต่างเข้าใจ แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจจะไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่ายขนาดนั้น ด้วยสภาวะความกดดันกับคำว่า ‘รอไม่ได้’ ทำให้ผู้บริหารหลายรายเลือกที่จะกดดันให้พนักงานของตัวเองต้องทำผลงานให้ดี และมีไอเดียใหม่ๆ มานำเสนออยู่เสมอ ซึ่งนี่อาจจะไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องนัก

โดยไอเดียใหม่ๆ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพนักงานรู้สึกสบายใจและไม่มีความกดดันใดๆ เข้ามาบังคับ รวมถึงการได้รับการปลูกฝังให้มีวิธีการคิดเพื่อการพัฒนา กล้าลองผิดลองถูก และไม่กลัวความล้มเหลวที่จะเกิดขึ้น ซึ่งวิธีการคิดเช่นนี้ เรียกว่า ‘Growth Mindset’ นั่นเอง

หลายคนอาจจะเคยได้ยินเกี่ยวกับคำว่า Growth Mindset กันมาบ้างแล้ว
วิธีการคิดแบบ Growth Mindset ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน เป็นการมองว่าปัญหาที่ผ่านเข้ามาในชีวิตไม่ใช่อุปสรรคอะไร แต่เป็นโอกาสที่ทำให้เราได้พัฒนาตัวเองมากขึ้น จนสามารถก้าวข้ามขีดจำกัดเดิมๆ ของตัวเองได้

ตรงข้ามกับ ‘Fixed Mindset’ ที่เป็นวิธีการคิดแบบตายตัว ไม่ได้มองว่าตัวเองจะสามารถพัฒนาไปได้มากกว่านี้ ต่อให้มีปัญหาใดๆ เข้ามาก็ไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะคิดว่าตัวเองไม่เก่งพอ และต่อให้พยายามพัฒนาตัวเองมากขึ้นแค่ไหน ก็คงไม่เก่งไปกว่านี้อีกแล้ว โดยวิธีการคิดเช่นนี้ จะไม่สามารถนำไปสู่การพัฒนาและสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ ได้เลยแม้แต่น้อย

แล้วถ้าเป็นเช่นนี้ ความพิเศษของ Growth Mindset จะสามารถช่วยพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไรบ้าง?

Carol S. Dweck นักจิตวิทยาและศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับผลดีของการสร้าง Growth Mindset ในที่ทำงาน

จากผลการวิจัยพบว่า 47 เปอร์เซ็นต์ ของพนักงานที่ทำงานในบริษัทที่ใช้วิธีการคิดแบบ Growth Mindset นั้น จะเกิดความเชื่อใจเพื่อนร่วมงานมากขึ้น และยังทำให้การประสานงานกันของแต่ละฝ่ายราบรื่นขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะตรงข้ามกับพนักงานที่ทำงานในบริษัทที่ใช้วิธีการคิดแบบ Fixed Mindset อย่างสิ้นเชิง โดยพวกเขาจะมองว่า เพื่อนร่วมงานคือคู่แข่งที่ต้องเอาชนะ ทำให้เกิดความร่วมมือในองค์กรได้ยาก

นอกจากนี้ Growth Mindset ยังช่วยสร้างทัศนคติที่ดีต่อการทำงานได้อีกด้วย เพราะพนักงานจะรู้แล้วว่า ผู้บริหารของพวกเขาประเมินผลงานจากความพยายามและความคิดสร้างสรรค์มากกว่าสิ่งอื่นใด

ยิ่งไปกว่านั้น Growth Mindset ยังทำให้เกิดโอกาสในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้มากขึ้น เพราะพนักงานพร้อมที่จะกล้าเสี่ยงลองคิดทำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน ซึ่งจะทำให้ผู้บริหารสามารถหยิบจับเอาไอเดียตรงนี้มาใช้ในการพัฒนาธุรกิจให้มีความโดดเด่นเหนือคู่แข่งต่อไปได้

เมื่อเราทราบแล้วว่า Growth Mindset สามารถช่วยพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้จริง

ดังนั้น เราจะมาดูวิธีการสร้าง Growth Mindset ให้เกิดในที่ทำงานกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง?

1. ประเมินผลงานจาก ‘การเรียนรู้’ ไม่ใช่ ‘ผลลัพธ์’

โดยทั่วไป ผู้บริหารจะประเมินผลงานของพนักงานจากผลลัพธ์หรือการพิชิตเป้าหมายผ่านดัชนีชี้วัดความสำเร็จ (KPI) แต่ถ้าหากเปลี่ยนมาเป็นการประเมินผลจากสิ่งที่พนักงานได้เรียนรู้แทน จะทำให้พวกเขาหวังพิชิตเป้าหมายในการทำงานครั้งต่อไปด้วยความสามารถที่เพิ่มมากขึ้น

2. มองว่าทั้ง ‘ความสำเร็จ’ และ ‘ความผิดพลาด’ คือโอกาสในการเรียนรู้

ถึงแม้ว่าจะไม่มีใครชอบความผิดพลาด แต่การชื่นชมความผิดพลาด และนำความผิดพลาดมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ ก็เป็นขั้นตอนสำคัญของการพัฒนาธุรกิจเช่นกัน

3. สร้างความกล้าให้พนักงานพูดในสิ่งที่ตัวเองคิดออกมา

หลายครั้งไอเดียดีๆ ไม่ได้ถูกนำมาใช้ เพราะพนักงานไม่มั่นใจที่จะพูดไอเดียของพวกเขาออกมา ดังนั้น การเปิดโอกาสให้พวกเขาได้พูดในสิ่งที่ต้องการจะพูดโดยไม่มีการตัดสินว่าถูกหรือผิด จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

4. ลงทุนกับทรัพยากรที่จะช่วยพัฒนาทักษะของพนักงาน

การกระตุ้นให้พนักงานได้เรียนรู้เกี่ยวกับ Growth Mindset ผ่านวิธีการที่มีคุณภาพก็สำคัญเช่นกัน โดยผู้บริหารอาจจะสนับสนุนคอร์สเรียนออนไลน์ให้พนักงานสามารถเรียนได้อย่างไม่จำกัด หรือจะเป็นการเวิร์กช็อป (workshop) ที่ส่งเสริมให้พนักงานได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง

5. ส่งเสริมให้มีการสอนงาน (coaching) และการเรียนรู้ข้ามสายงานอย่างสม่ำเสมอ

การสอนงานแบบตัวต่อตัว (one-on-one coaching) และการให้พนักงานทำโปรเจกต์ในสายงานที่ตัวเองไม่ได้ถนัดเป็นระยะเวลาสั้นๆ จะช่วยให้พนักงานค้นพบความสามารถของตนเองที่อาจจะคาดไม่ถึงมาก่อน และยังช่วยจุดประกายความสนใจใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับการทำงานในอนาคตได้อีกด้วย

ถึงแม้ว่าการสร้าง Growth Mindset ให้เกิดในที่ทำงานจะไม่ใช่สิ่งที่สามารถสร้างได้ในทันที แต่ถ้าได้ลองทำตามทั้ง 5 วิธีที่เรานำมาแชร์ในวันนี้อย่างสม่ำเสมอแล้ว รับรองเลยว่า Growth Mindset จะเกิดขึ้นในที่ทำงานของคุณในเร็ววันอย่างแน่นอน

Sources: https://bit.ly/3t5y4zi

https://bit.ly/3t7WMPx

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like