LOADING

Type to search

หวังลบแบบไหน ก็จะได้งานแย่แบบนั้น ‘Golem Effect’ เมื่อความคาดหวังของหัวหน้าเปลี่ยนลูกน้องได้จริง

หวังลบแบบไหน ก็จะได้งานแย่แบบนั้น ‘Golem Effect’ เมื่อความคาดหวังของหัวหน้าเปลี่ยนลูกน้องได้จริง
Share

“สั่งอย่างหนึ่งได้อีกอย่างหนึ่ง สั่งอะไรไปก็ไม่เคยได้ดั่งใจตลอด”

ไม่ทราบว่าหัวหน้าที่กำลังอ่านบทความนี้เคยรู้สึกหงุดหงิดกับการสั่งงานแล้วลูกน้องไม่สามารถทำออกมาได้ดีอย่างที่คิดไหม เคยมีโมเมนต์อารมณ์ค้างกับปัญหานี้รึเปล่า แล้วเคยสงสัยกันไหมว่า จริงๆ แล้ว มันเกิดจากสาเหตุอะไร เป็นเพราะพวกเขายังไม่เก่งพอ ไม่ดีพอ หรือเรื่องไหนกันแน่?

สำหรับใครที่กำลังเผชิญกับปัญหานี้อยู่ ก่อนอื่นเลย อยากให้ลอง Step back กลับมาทบทวนก่อนว่า เราเองได้เป็นหนึ่งในต้นตอของเรื่องราวดังกล่าวหรือไม่? เพราะบางครั้งความคาดหวังของเราก็ทำร้ายลูกน้องทางอ้อมได้เช่นกัน

แล้วความคาดหวังของเราทำร้ายลูกน้องยังไง? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปดูผ่าน ‘Golem Effect’ ปรากฏการณ์ที่ความคาดหวังของเราเปลี่ยนงานของลูกน้องกัน

Golem Effect คืออะไร มีที่มาจากไหน?

golem-effect 1
Image by katemangostar on Freepik

Golem Effect คือปรากฏการณ์ที่เราคาดหวังอะไรสักอย่างใน ‘ด้านลบ’ มากๆ แล้วส่งผลให้เกิดอคติหรือความลำเอียงต่อการกระทำโดยไม่เจตนา อย่างเช่น ถ้าหัวหน้าคิดลบว่า ลูกน้องจะทำงานออกมาแย่ ก็พลอยทำให้แรงจูงใจในการทำงานของพวกเขาลดลง ทำออกมาได้ไม่ดีเหมือนที่คิด หรือมีมุมมองว่า ต่อให้จะพยายามทำดีไปเท่าไร ก็ไม่มีอะไรดีขึ้นมา นั่นเอง

โดยปรากฏการณ์นี้ก็มีที่มาจากตำนานของชาวยิวที่ว่า โกเล็ม (Golem) คือสิ่งมีชีวิตที่ถูกสร้างขึ้นจากดินเหนียว และโคลน โดยจูดาห์ โลว เบน เบซาเลล (Judah Loew ben Bezale) ใช้ปกป้องเมืองแรบไบ (Rabbi) จากการรุกรานของเมืองปราก (Prague) แต่พอเวลาผ่านไป วันหนึ่งมันเกิดผิดปกติ เปลี่ยนจากการทำหน้าที่ปกป้องเมืองกลายเป็นการทำลายล้างเมือง ก็เลยต้องถูก   กวาดล้างให้สิ้นซากไป

Golem Effect มีอยู่จริงรึเปล่า?

golem-effect 2

งานวิจัยเรื่อง ‘Pygmalion, Galatea, and the Golem: Investigations of biased and unbiased teachers.’ ของเอลีชา บาบัต (Elisha Babad), จาซินโต อินบาร์ (Jacinto Inbar) และโรเบิร์ต โรเซนธัล (Robert Rosenthal) ในปี 1982 ชี้ให้เห็นว่า ความคาดหวังของครูส่งผลกับผลการเรียนของนักเรียนในห้องได้จริง ครูที่คาดหวังสูงทำให้ผลการเรียนของนักเรียนสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ครูที่มีอคติสูงทำให้ผลการเรียนของนักเรียนแย่ลงกว่าปกติ และออกมาไม่ดีเท่าคนอื่นๆ

คล้ายกับการแบ่งโซนเด็ก 2 กลุ่มในห้อง ได้แก่ เด็กดี และเด็กไม่ดี ยิ่งเจตนาดี เด็กดีก็จะยิ่งทำงานได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ในทางกลับกัน ยิ่งเจตนาไม่ดี เด็กไม่ดีก็จะยิ่งทำงานได้ไม่ดีต่อไป เพราะพวกเขามองว่า ครูได้ปักธงในใจไว้เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ไม่ว่าจะพยายามหรือตั้งใจแค่ไหน ผลลัพธ์ก็ออกมาเสมอตัวอยู่ดี

โดยงานวิจัยได้อธิบายปัจจัยของ Golem Effect เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า อย่างแรก เกิดจาก ‘บรรยากาศ’ ครูมักจะใจดีกับนักเรียนที่คาดหวังสูง และสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นอยู่เสมอ อย่างที่สอง เกิดจาก ‘Input หรือข้อมูลที่ใส่ลงไป’ ครูมักจะสอนเนื้อหาเพิ่มเติมให้กับนักเรียนที่คาดหวังสูง

ถัดมา เกิดจาก ‘โอกาสในการตอบสนอง’ ครูมักให้โอกาสนักเรียนที่คาดหวังสูงได้ลองผิด ลองถูก โต้ตอบมากกว่า และอย่างสุดท้าย เกิดจาก ‘ฟีดแบ็ก’ ครูมักชื่นชมนักเรียนที่คาดหวังสูงมากกว่า และเมื่อตอบผิดก็มักจะให้ฟีดแบ็กที่สร้างสรรค์ เพื่อนำไปปรับปรุง พัฒนาต่อไป

อย่าเพิ่งรีบตีตราว่า ลูกน้องจะทำงานออกมาได้ไม่ดี เวลาสั่งงานลูกน้องก็เหมือนกับการใส่ส่วนผสม เครื่องปรุงลงในหม้อแล้วให้ลูกน้องทำหน้าที่เป็นลูกมือทำต่อ เราได้ใส่ทุกอย่างลงไปครบรึเปล่า ได้ใส่เจตนาที่ดีลงไปด้วยไหม? ลองย้อนกลับไปทบทวนกันดู

Sources: https://bit.ly/3GTR7Es

https://bit.ly/3EE2kGi

https://bit.ly/3EMWiDe

https://bit.ly/3ATOlLA

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1

You Might also Like