LOADING

Type to search

เป็นตัวของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องทำตามใคร ‘ยาหม่องตราถ้วยทอง’ เจ้าตลาดยาหม่องไทย ที่มีรายได้มากกว่า 200 ล้าน

เป็นตัวของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องทำตามใคร ‘ยาหม่องตราถ้วยทอง’ เจ้าตลาดยาหม่องไทย ที่มีรายได้มากกว่า 200 ล้าน
Share

เป็นลม แมลงกัดต่อย ทาถู ทาถู…

หลายๆ คนคงเติมคำในช่องว่างของประโยคนี้ได้สมบูรณ์ทันที เพราะเป็นโฆษณาของสินค้าชิ้นหนึ่งที่สุดแสนจะคุ้นหู และอยู่ในความทรงจำมาตั้งแต่วัยเยาว์ นั่นก็คือ ‘ยาหม่องตราถ้วยทอง’ มิตรคู่เรือน เพื่อนคู่ตัวคนไทยมากว่า 70 ปี

เมื่อครั้งยังเป็นเด็กเล่นซนมีรอยฟกช้ำขึ้นตามตัว คุณย่า คุณยายก็จะนำยาหม่องเนื้อสีเหลืองครีมจากกระปุกแก้วฝาเหล็กสีส้มมาทาให้ลูกหลาน จนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ยาหม่องกระปุกนี้ก็ได้กลายเป็นของพกติดตัวไว้ใช้ในยามที่รู้สึกไม่สบาย เรียกได้ว่า ยาหม่องตราถ้วยทองเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของใครหลายๆ คนมาตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่เลยทีเดียว

เวลาที่ดำเนินมากว่า 70 ปี หากเปรียบเทียบเป็นช่วงอายุของคน คงจะเท่ากับอายุของคุณยายท่านหนึ่งที่ใช้ชีวิตท่ามกลางเวลาที่หมุนผ่านไปอย่างรวดเร็ว เห็นความเปลี่ยนแปลงจากอดีตจนถึงปัจจุบันมามาก ไม่ต่างกับยาหม่องตราถ้วยทองที่ยังคงโลดแล่นอยู่ในโลกธุรกิจ และยึดมั่นในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ แม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม

แล้วเคล็ดลับความสำเร็จของ ‘ยาหม่องตราถ้วยทอง’ คืออะไร? ทำไมใช้ภาพลักษณ์เดิมมากว่า 70 ปี ก็ยังครองใจผู้คนมาจนถึงปัจจุบัน? Future Trends จะมาชวนทุกคนพูดคุยในประเด็นนี้ไปพร้อมๆ กัน

กว่าจะมาเป็น ‘ยาหม่องตราถ้วยทอง’ ต้องลองผิดลองถูกมานักต่อนัก

รู้หรือไม่ว่า จุดเริ่มต้นของยาหม่องตราถ้วยทอง เกิดจากร้านขายของชำ?

ในปี พ.ศ. 2487 เป็นช่วงที่ไข้มาลาเรียระบาดหนัก เถ้าแก่ของร้าน ‘ลี้เปงเฮง’ จึงตัดสินใจพัฒนาสูตรยาแก้ไข้ และวางจำหน่ายที่หน้าร้าน ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี จนเกิดการบอกต่อแบบต่อปาก ทำให้ลี้เปงเฮงเริ่มมีชื่อเสียงในฐานะเจ้าของสูตรยาลดไข้สุดวิเศษตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ความสำเร็จในการจำหน่ายยาลดไข้ ทำให้เถ้าแก่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจในการบุกตลาดยาอย่างจริงจัง และตั้งใจพัฒนายาสารพัดสรรพคุณที่สามารถบรรเทาอาการได้ตั้งแต่ปวดเมื่อย วิงเวียนศีรษะ คัดจมูก จนถึงแก้พิษแมลงกัดต่อย แต่กว่าจะได้สูตรยาที่สามารถวางจำหน่ายได้ ต้องเกิดการลองผิดลองถูก และปรับปรุงสูตรอยู่หลายครั้ง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2493 ก็มีการจดทะเบียนบริษัท ถ้วยทองโอสถ จำกัด เพื่อจำหน่ายยาสูตรนี้ให้กับบุคคลทั่วไป

golden-cup-balm

ปัจจุบัน ยาหม่องตราถ้วยทองมีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง และถือครองส่วนแบ่งการตลาดกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยาหม่องและบาล์ม อีกทั้งยังดำเนินธุรกิจมาถึงรุ่นที่สามแล้ว โดยมี ‘เมธัส ลีลารัศมี’ เป็นหัวเรือใหญ่ในการบริหารงานร่วมกับลูกหลานคนอื่นๆ

แต่แนวทางการบริหารงานของเหล่าทายาทรุ่นที่สามกลับมีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง โดยเฉพาะการคงอัตลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Identity) ที่ใช้มาตลอดกว่า 70 ปี อย่างชื่อยี่ห้อ โลโก และบรรจุภัณฑ์ฝาเหล็กสีส้มไว้เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แม้คู่แข่งที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันจะทำการรีแบรนด์ (Rebranding) และปรับภาพลักษณ์สินค้าให้เข้ากับยุคสมัยไปหลายรายแล้วก็ตาม

ถึงแม้ว่า แบรนด์จะไม่ได้ตัดสินใจปรับภาพลักษณ์ไปตามยุคสมัย เพราะเป็นหัวใจสำคัญในการจดจำของผู้คน แต่แบรนด์ก็เลือกที่จะปรับตัวในทิศทางที่ต่างออกไป ไม่ว่าจะเป็นการแตกไลน์สินค้าใหม่ที่มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบันอย่างยาหม่องน้ำ ยาดม และบาล์มสำหรับเด็ก รวมถึงทำการตลาดด้วยกลยุทธ์ที่โดนใจคนรุ่นใหม่ เพื่อเน้นขยายฐานกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้น

บทเรียนความสำเร็จของ ‘ยาหม่องตราถ้วยทอง’ จากแนวคิด ‘เป็นตัวของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องทำตามใคร’

ยาหม่องตราถ้วยทอง ถือเป็นหนึ่งในแบรนด์เก่าแก่ของไทยที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจมากว่า 70 ปี ด้วยความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ต้องปรับเปลี่ยนตามกระแสนิยม หรือใช้ข้อดีของคนอื่นมาเป็นตัวตั้งในการกำหนดก้าวต่อไปของธุรกิจ

ซึ่งทุกคนสามารถนำบทเรียนความสำเร็จจากธุรกิจรุ่นพี่ไปใช้ในการพัฒนาตัวเองได้ด้วย แม้จะไม่ได้อยู่ในเส้นทางสายธุรกิจก็ตาม และบทเรียนความสำเร็จของยาหม่องตราถ้วยทองที่เรานำมาฝากกันในวันนี้มีทั้งหมด 2 ข้อ ได้แก่

1. การรักษาจุดแข็งของตัวเองเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

อย่างการที่แบรนด์เลือกรักษาอัตลักษณ์และภาพจำของตัวเองไว้ โดยไม่มีการปรับภาพลักษณ์ของสินค้า ถือเป็นการรักษาจุดแข็งอย่างชาญฉลาด เพราะไม่มีสิ่งใดที่สามารถการันตีได้ว่า ปรับภาพลักษณ์แล้วจะประสบความสำเร็จหรือมียอดขายมากขึ้น

และในทางกลับกันก็อาจจะส่งผลร้ายมากกว่าผลดีด้วย เนื่องจาก การปรับภาพลักษณ์มีผลต่อการจดจำแบรนด์ของผู้คน หากเปลี่ยนแปลงแต่ไม่มีการประชาสัมพันธ์ดีพอ ลูกค้าก็ไม่สามารถหาสินค้าที่วางเรียงรายอยู่กับคู่แข่งได้

2. พลิกแพลงจุดแข็งให้เป็นสิ่งใหม่ๆ

ถึงแม้ภาพลักษณ์ของสินค้าจะไม่ได้ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ก็ไม่ใช่ว่า แบรนด์จะไม่ปรับตัวเลย อย่างการแตกไลน์สินค้าใหม่ที่เข้ากับกลุ่มคนทุกเพศทุกวัยมากขึ้น ถือเป็นการปรับตัวด้วยการทำความเข้าใจวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไปจากอดีต

ไม่ว่าจะเป็นกระปุกยาหม่องที่เป็นแก้ว หรือตลับฝาเหล็กที่เปิดยากไม่สะดวกต่อการพกพา ก็พัฒนาเป็นยาหม่องน้ำที่ใช้ง่ายกว่าแทน หรือคนรุ่นใหม่นิยมใช้ยาดมมากกว่า ก็ออกไลน์สินค้าใหม่เป็นยาดมที่มีซิกเนเจอร์ของแบรนด์ด้วย

จากบทเรียนความสำเร็จของยาหม่องตราถ้วยทอง ทำให้เห็นว่า ความเป็นตัวของตัวเองคือหัวใจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จได้ดีที่สุด ไม่จำเป็นต้องทำตามใคร แต่อยู่ที่จะดึงจุดแข็งมาสร้างความโดดเด่นอย่างไรต่างหาก

Sources: https://bit.ly/3S1onM7

https://bit.ly/3eCqGH1

https://bit.ly/3eOxIJ0

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like