LOADING

Type to search

ซื้อบ้านก็ไม่ได้ ซื้อรถยังลำบาก ‘Generation Rent’ ช่วงวัยแห่งการ ‘เช่า’ ที่เกิดจากมายาคติของ ‘คนรุ่นใหม่’

ซื้อบ้านก็ไม่ได้ ซื้อรถยังลำบาก ‘Generation Rent’ ช่วงวัยแห่งการ ‘เช่า’ ที่เกิดจากมายาคติของ ‘คนรุ่นใหม่’
Share

เมื่อชีวิตของใครสักคนดำเนินมาถึงจุดที่เป็น ‘ผู้ใหญ่’ และมีหน้าที่การงานมั่นคง (หรือบางคนเพิ่งก้าวเข้าสู่โลกการทำงานได้ไม่กี่เดือนด้วยซ้ำ) ภาพ ‘ความสำเร็จ’ ตามขนบที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน จะเริ่มฉายชัดประหนึ่งเงาตามตัว และมาในรูปแบบของความคาดหวังจากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ เช่น

“ซื้อรถไหมลูก เวลาไปทำงานหรือเดินทางไปไหนๆ จะได้สะดวกขึ้น”

“ซื้อบ้านเป็นของตัวเองสิลูก ตอนแก่เฒ่าจะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องที่อยู่อาศัย”

ไม่แปลกที่ภาพความสำเร็จของผู้ใหญ่จะผูกติดกับ ‘วัตถุ’ เพราะคนวัยเบบี้ บูมเมอร์ (Baby Boomers) และ Gen X โตมากับค่านิยมว่า บ้านหรือรถเป็น ‘ผลผลิต’ จากความมั่นคงในหน้าที่การงาน และเป็น ‘เครื่องมือ’ แสดงฐานะทางสังคมที่การันตีความสำเร็จในชีวิต ดังนั้น พ่อแม่จึงปลูกฝังและส่งต่อค่านิยมให้ลูกของตัวเองถวิลหาสิ่งเหล่านี้ด้วย

แต่บริบททางสังคมที่เปลี่ยนไปพร้อมกับการหมุนของเข็มนาฬิการอบแล้วรอบเล่า ทำให้คนรุ่นลูกไม่เชื่อว่า กรอบที่พ่อแม่วางไว้จะเป็นภาพความสำเร็จของตัวเอง และการซื้อบ้านสักหลังหรือรถสักคัน กลายเป็น ‘big event’ ในชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่ต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะ ‘ราคา’ ที่สูงลิ่วเกินฐานเงินเดือน และการรับภาระหนี้ในระยะยาว

การที่คนรุ่นใหม่รู้สึกว่า บ้านหรือรถเป็นของชิ้นใหญ่เกินจะเอื้อมถึง ‘การเช่า’ จึงผุดขึ้นมาในความคิดของหลายคน และเมื่อทุกคนมีจุดร่วมเดียวกัน เทรนด์แห่งการเช่าของคนวัยทำงานอย่าง ‘Generation Rent’ จึงถือกำเนิดขึ้น

นอกจากบริบททางสังคมและราคาที่เกินจะเอื้อมถึง ยังมีปัจจัยใดอีกบ้างที่ทำให้คนรุ่นใหม่เข้าสู่ภาวะ Generation Rent? Future Trends จะพาไปสำรวจในประเด็นต่างๆ พร้อมๆ กัน

หมดยุคให้ความสำคัญกับของชิ้นใหญ่ เมื่อการปลอบประโลมจิตใจในแต่ละวันสำคัญกว่า

การระบาดของโควิด-19 ฝากรอยแผลไว้กับสังคมมากมาย โดยเฉพาะปัญหาจากพิษเศรษฐกิจที่กัดกินความฝันของคนรุ่นใหม่ ต้องการซื้อบ้านก็ซื้อยากขึ้น เพราะราคาอสังหาริมทรัพย์ดีดตัวสูง หรือคิดจะซื้อรถสักคันก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายระยะยาว ทำให้พวกเขาเลือกที่จะใช้ชีวิตแบบ ‘YOLO’ (You only live once) แนวคิดของ ‘การทุ่มสุดตัว’ เพราะมีชีวิตอยู่แค่ครั้งเดียว

ข้อมูลของ McKinsey ระบุว่า ผู้บริโภคกลุ่ม Millennials และ Gen Z ชาวเอเชียยังต้องการเป็นเจ้าของสินค้าและบริการมากขึ้น โดยเฉพาะสิ่งที่สามารถสร้างความสุขให้ตัวเองได้ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการต่อสู้กับพิษเศรษฐกิจและความกดดันทางสังคม หรือแม้แต่ความเครียดจากการทำงานในแต่ละวัน จนเกิดปรากฏการณ์ ‘Revenge Shopping’ หรือ ‘การช้อปล้างแค้น’ นั่นเอง

ดังนั้น สิ่งที่ได้รับอานิสงส์จาก Revenge Shopping จึงไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์หรือรถยนต์ เฉกเช่นค่านิยมในอดีต แต่เป็น ‘สินค้าแบรนด์หรู’ ที่คนรุ่นใหม่ตัดสินใจใช้เงินซื้อ เพื่อสร้างความสุขแบบฉับพลันที่เห็นผลทันตา ส่งผลให้อาณาจักรแบรนด์หรูอย่าง LVMH โกยรายได้ในไตรมาส 1/2023 ถึง 2.1 หมื่นล้านยูโร เพิ่มขึ้น 17 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2022

การที่ Revenge Shopping มีอิทธิพลต่อความคิดของคนรุ่นใหม่ ทำให้การตั้งเป้าหมายเรื่องบ้านหรือรถของหลายคนเปลี่ยนไป และเลือกที่จะ ‘เช่า’ สิ่งเหล่านี้แบบไม่มีข้อผูกมัดแทนการซื้อขาดแบบถาวร หรือแม้แต่ความต้องการสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ สินค้าแฟชัน ก็อาจตัดสินใจเช่ามากกว่าซื้อได้เช่นกัน

Image by Freepik

‘Minimalism’ ใช้น้อย กินน้อย อยู่แบบสมถะ

คนรุ่นใหม่บางส่วนได้รับอิทธิพลจาก ‘ความมินิมอล’ (Minimalism) หรือแนวคิดของความเรียบง่าย น้อยแต่มาก และลดความฟุ่มเฟือย ซึ่งปัจจัยที่ทำให้หลายคนซึมซับวิถีมินิมอล คือการที่พื้นที่และความกว้างขวางของ ‘บ้าน’ เป็นสิ่งที่เกินความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตในแต่ละวัน

โจชัว ฟิลด์ มิลเบิร์น (Joshua Fields Millburn) นักเขียนหนังสือขายดี New York Times ผู้ใช้ชีวิตตามวิถีมินิมอลกล่าวในสารคดี The Minimalists: Less Is Now ที่ฉายบน Netflix ว่า “พอมีพื้นที่มากขึ้น เราก็หาข้าวของมาเพิ่ม และพอของเยอะขึ้น ก็ต้องการพื้นที่มากขึ้น เราเลยหันไปใช้ห้องเก็บของหรือบ้านหลังใหญ่ขึ้น…แม้จะเป็นชีวิตในฝันของอเมริกันชน แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการ”

คนที่เชื่อไม่ต่างจากโจชัวคงมีอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่ตัดสินใจครองตัวเป็นโสด และไม่ต้องการมีครอบครัวเพื่อเพิ่มค่าใช้จ่าย ซึ่งคนเหล่านี้มีโอกาสตัดสินใจเช่าบ้านขนาดเล็กมากกว่าซื้อบ้านขนาดใหญ่ เพราะนอกจากพื้นที่ใช้สอยจะพอดีกับความต้องการแล้ว ยังไม่มีข้อผูกมัดระยะยาวที่เป็นอุปสรรคต่อการย้ายถิ่นฐานในอนาคตด้วย

การมีบ้านหรือรถเป็นสิ่งที่ไกลเกินเอื้อม เมื่อสังคมไม่เป็นใจให้ ‘สร้างตัว’

แม้เมอร์เซอร์ (Mercer) บริษัทผู้ให้คำปรึกษาระดับโลก จะคาดการณ์ว่า อัตราค่าตอบแทนในปี 2023 ของไทย จะปรับเพิ่ม 4.5 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อเทียบกับราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นราวปีละ 8 เปอร์เซ็นต์ ทำให้รายได้ยังคงตามหลังราคาที่ดินและที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก ยิ่งเป็นที่ใจกลางเมืองที่ความเจริญกระจุกตัว ราคาจะสูงลิ่วจนยากที่จะเอื้อมถึงยิ่งกว่าเดิม

มิหนำซ้ำ พิษเงินเฟ้อ และค่าครองชีพที่แพงหูฉี่ ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้หลายคนต้องรัดเข็มขัด เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ เมื่อต้องคิดหาทางเอาตัวรอดแบบวันต่อวัน การซื้อบ้านสักหลังหรือรถสักคันจึงเป็นความฝันที่ต้องหยุดไล่ตามไปก่อน

ดังนั้น การที่คนรุ่นใหม่ตัดสินใจเช่าบ้านหรือเช่ารถชั่วคราว ไม่ได้เป็นเพราะว่า พวกเขาต้องการจะเช่าจริงๆ หรือมองเห็นความคุ้มค่าของการเช่ามากกว่าการซื้อ แต่พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นด้วยซ้ำ ถ้าต้องการ ‘สร้างตัว’ ในเมืองที่ความเจริญกระจุกตัว การเช่าอยู่ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด

ถ้าถามว่า ระหว่าง ‘เช่า’ กับ ‘ซื้อ’ อะไรดีกว่ากัน คงเป็นคำถามอลหม่านที่ไม่แพ้ปัญหาไก่กับไข่ แม้จะบอกว่า การเช่ามีข้อดีหลายอย่าง แต่การซื้อที่มีชื่อ ‘เรา’ เป็นเจ้าของตามกฎหมายคงเป็นความฝันของใครหลายคน

ดังนั้น ปัญหาที่คนรุ่นใหม่ไม่สามารถเป็นเจ้าของทรัพย์สินต่างๆ ได้ ต้องมีการแก้ไขจากมูลเหตุ และรับการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อทำให้ฟันเฟืองในการขับเคลื่อนประเทศหมุนไปอย่างแข็งแรง

Sources: https://bit.ly/41XdtMz

https://bit.ly/3L2Zzl8

https://bit.ly/3L6msnC

https://bit.ly/3H8hrKd

สารคดี The Minimalists: Less Is Now

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like