LOADING

Type to search

ไม่อยากตกงานต้องรู้! แนะนำ 20 ทักษะ ที่ควรมีในโลกยุคใหม่ จากหนังสือ ‘Future Skills’

ไม่อยากตกงานต้องรู้! แนะนำ 20 ทักษะ ที่ควรมีในโลกยุคใหม่ จากหนังสือ ‘Future Skills’
Share

“การเปลี่ยนแปลงจะรวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเราก้าวสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่ หรือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 มันจะเปลี่ยนแปลงงานที่มนุษย์ทำเช่นเดียวกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งก่อนๆ หลายงานจะมีการพัฒนามากขึ้น งานใหม่จะปรากฏขึ้น และบางงานจะหมดยุคสมัย !”

นี่คือคำกล่าวของ เบอร์นาร์ด มาร์ (Bernard Marr) นักอนาคตศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญสาขาธุรกิจเทคโนโลยี และนักเขียนชื่อดัง เบอร์นาร์ดชี้ให้เห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงชีวิตการทำงาน ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาลเมื่อเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามามีบทบาท

ในแง่หนึ่งความสามารถของ AI เข้ามาช่วยให้การทำงานง่าย สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพขึ้น แต่อีกแง่หนึ่ง AI ได้เข้ามาทดแทนงานบางส่วน ทำให้บางงานหรือบางคนถูกลดบทบาท และอาจหายไปในที่สุด

เราต้องพิจารณาถึงทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในอนาคตมากกว่าที่ผ่านมา เพราะทักษะในปัจจุบันอาจไม่พอ ดังนั้น การเพิ่มทักษะใหม่ๆ หรือต่อยอดทักษะเดิมให้พัฒนาสูงขึ้น จึงเป็นส่วนสำคัญของคนทำงานทุกคน ทุกระดับ ไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมใด

20 ทักษะที่ควรมี สำหรับการทำงานยุคดิจิทัล

เบอร์นาร์ด มาร์ แนะนำ 20 ทักษะ และความสามารถที่ควรมีเพื่อประสบความสำเร็จในโลกยุคดิจิทัลในหนังสือของเขาชื่อ ‘Future Skills ทักษะอนาคตที่ AI ทำแทนคุณไม่ได้’ (Future Skills The 20 Skills and Competencies Everyone Needs to Succeed in a Digital World) ได้แก่

1. ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

หมายถึงการมีทักษะเพื่อรับมือโลกที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น ทั้งในด้านชีวิต การทำงาน และการศึกษา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วนี้ ต้องรักษาทัศนคติเชิงบวกไว้ โดยคิดว่าเทคโนโลยีจะช่วยให้การทำงานหรือชีวิตดีขึ้นได้อย่างไร และจำเป็นต้องเรียนรู้ ติดตามข่าวสาร เพื่อทำความเข้าใจและปรับตัวให้ได้

2. ทักษะความสามารถด้านข้อมูล

คือความสามารถในการเข้าใจและทำงานกับข้อมูลได้อย่างมั่นใจ เข้าถึงและตั้งคำถามเกี่ยวกับข้อมูลของงานที่ทำเพื่อช่วยในการตัดสินใจได้ดีขึ้น นายจ้างจึงมีแนวโน้มต้องการคนที่มีทักษะด้านข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ

3. ทักษะด้านเทคนิค

แม้การทำงานจะเปลี่ยนแปลงไปเพียงใด ทักษะด้านทำงานยังคงเป็นทักษะที่สำคัญ รวมถึงการลงทุนในทักษะที่จำเป็นเพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและทำงานร่วมกับเทคโนโลยีด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่ทักษะทางเทคนิคบางอย่างจะตกยุค ดังนั้น ต้องพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

4. การตระหนักรู้ภัยคุกคามทางดิจิทัล

ภัยคุกคามทางไซเบอร์ เช่น การละเมิดข้อมูล ฟิชชิง มัลแวร์ แรนซัมแวร์ และการโจมตีทางอินเทอร์เน็ตต่างๆ มีจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องรู้เท่าทันและเข้าใจเพื่อปกป้องระบบให้ปลอดภัย โดยสร้างสุขภาวะที่ดีด้านรหัสผ่าน รวมถึงใช้เครื่องมือในการป้องกัน

5. การคิดเชิงวิพากษ์

คือความสามารถในการคิดโดยยึดตามข้อเท็จจริงและเป็นอิสระ สงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับข้อมูลที่มากมาย ไม่เชื่อทุกอย่างที่เห็น สามารถฝึกได้โดยประเมินข้อมูล มองหาช่องโหว่ หาแหล่งที่น่าเชื่อถือได้ ค้นเพิ่มเติม ตั้งคำถาม และมีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง

6. การประเมินและการตัดสินใจที่ซับซ้อน

การประเมินเป็นรากฐานของการตัดสินใจ โดยใช้ส่วนผสมของสมอง (ข้อมูล ประสบการณ์) และหัวใจ (ค่านิยม ความเชื่อ) และความรู้สึก (สัญชาตญาณ) เข้าด้วยกัน

7. ความฉลาดทางอารมณ์และการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น

ความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ คือ ความสามารถในการรับรู้ แสดงออก และควบคุมอารมณ์ของตนเอง รวมถึงเข้าใจและตอบสนองอารมณ์ของผู้อื่นได้ เป็นทักษะที่จำเป็นในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น ฝึกได้ผ่านการฟัง การทำความเข้าใจความรู้สึกผู้อื่น และการวิเคราะห์อารมณ์ตนเอง

8. ความคิดสร้างสรรค์

คือการเปลี่ยนจินตนาการให้กลายเป็นความจริง ผ่านการคิดและการลงมือทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ยังทำได้ดีกว่า AI ฝึกฝนได้ด้วยการเรียนรู้สิ่งใหม่ อ่านหนังสือ หรือพูดคุยกับคนใหม่ๆ เป็นต้น

9. การทำงานร่วมกันและทำงานเป็นทีม

การทำงานร่วมกันคือการทำงานกับผู้อื่นเพื่อตัดสินใจร่วมกันจนบรรลุเป้าหมายเดียวกัน โดยต้องมีความเคารพนับถือ ความวางใจ การเปิดเผยตรงไปตรงมา การฟัง และความฉลาดทางอารมณ์ประกอบด้วย

10. การสื่อสารระหว่างบุคคล

คือการแลกเปลี่ยนข้อมูล อารมณ์ และความหมายระหว่างบุคคลด้วยกัน ครอบคลุมถึงการสื่อสารด้วยการพูด การเขียน และภาษากาย รวมถึงการฟัง โดยต้องรับรู้รูปแบบการสื่อสารของตนเองและผู้อื่น เพื่อปรับให้สอดคล้องกัน

11. การทำงานแบบชั่วคราว

องค์กรธุรกิจต่างๆ มีแนวโน้มที่จะจ้างบุคลากรที่มีความสามารถระยะสั้นมากขึ้น การทำงานเต็มเวลาจะไม่ใช่บรรทัดฐานในการจ้างอีกต่อไป จึงจำเป็นต้องเตรียมการเพื่อทำงานที่ไร้สังกัดมากขึ้น และเชื่อว่าสามารถประสบความสำเร็จได้แม้จะเป็นงานชั่วคราว รวมถึงเรียนรู้ที่จะมีความคิดแบบผู้ประกอบและพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ

12. ความสามารถในการปรับตัวและความหยืดหยุ่น

หลายงานจะเปลี่ยนโฉมไปอย่างสิ้นเชิง งานใหม่จะเกิดขึ้น และบางงานจะหายไป เราจำเป็นต้องพัฒนาความยืดหยุ่นทางจิตใจทั้งเรื่องงานและชีวิตประจำวัน เพื่อปรับตัวให้ได้ผ่านทัศนคติและความสามารถในการปรับตัว

13. ความฉลาดทางวัฒนธรรมและการมีสำนึกถึงความหลากหลาย

ความหลากหลายหมายถึงการที่คนมีความแตกต่างกันในหลายรูปแบบ เราจึงจำเป็นต้องเพิ่มความฉลาดทางวัฒนธรรมให้มากขึ้น โดยสำนึกและรับรู้ว่า ผู้คนมีความหลากหลาย และความหลากหลายนั้นเป็นสิ่งที่ดี เพื่อสร้างสายสัมพันธ์กับผู้อื่น

14. การตระหนักด้านจริยธรรม

จริยธรรมเป็นดั่งกรอบความคิดที่ช่วยให้เราตัดสินใจได้ด้วยตัวเองว่า สิ่งนั้นถูกหรือผิด เป็นส่วนสำคัญสำหรับบุคคลจนถึงองค์กร หากคนทำงานไม่คำนึงถึงจริยธรรมอาจเกิดความเสียหายต่อองค์กรได้ วิธีเพิ่มความตระหนักด้านจริยธรรมคือฝึกการเข้าใจความรู้สึกผู้อื่น ซื่อสัตย์ ไม่เห็นแก่ตัว เป็นต้น

15. ทักษะความเป็นผู้นำ

ไม่ใช่เพียงผู้นำแบบดั้งเดิม แต่ทุกคนในองค์กรจำเป็นต้องรับบทบาทผู้นำมากขึ้นเรื่อยๆ ทักษะผู้นำที่ดีต้องรับรู้ถึงศักยภาพ ช่วยส่งเสริมผู้อื่น รวมถึงรับผิดชอบและมอบหมายความรับผิดชอบให้ผู้อื่น คิดกลยุทธ์ วางแผน ตั้งเป้าหมาย รับฟัง เสนอแนะ สร้างความสัมพันธ์ และคิดเชิงบวก เป็นต้น และสำคัญที่สุด ผู้นำที่ดีต้องช่วยให้ผู้อื่นเติบโตได้ด้วย

16. แบรนด์ของคุณและเครือข่าย

แบรนด์บุคคลของคุณคือจุดสูงสุดของทุกอย่าง ทั้งทักษะ ประสบการณ์ บุคลิกภาพ ทำให้คุณเป็นคุณ การมีแบรนด์บุคคลที่แข็งแกร่งจะช่วยสร้างความเชี่ยวชาญให้โดดเด่นจากผู้อื่น สามารถนำโอกาสใหม่ๆ เข้ามา การสร้างแบรนด์บุคคลคือการสร้างชื่อเสียงทางดิจิทัลให้คนอื่นเห็นในแบบที่ต้องการ วิธีง่ายๆ คือ การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีบนโซเชียลมีเดีย

17. การบริหารเวลา

การบริหารเวลาคือความสามารถในการใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล ไม่ใช่การทำงานหนักหรือนานขึ้น แต่คือการทำงานอย่างชาญฉลาดเพื่อให้เหลือเวลาไปทำอย่างอื่น โดยต้องมีการวางแผนการทำงาน การพัก และจัดลำดับความสำคัญ

18. ความสงสัยใคร่รู้และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

ความสงสัยใคร่รู้ คือ ความปรารถนาที่จะเรียนรู้และเข้าใจสิ่งใหม่ๆ เพื่อพัฒนาไปสู่การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ผลักดันไปสู้ประสบการณ์ใหม่ๆ รวมทั้งสามารถเติมเต็มชีวิตและความสำเร็จให้เกิดขึ้น

19. การยอมรับและชื่นชมความเปลี่ยนแปลง

การเรียนรู้ที่จะยอมรับและชื่นชมความเปลี่ยนแปลง ทำได้ผ่านการบริหารความเปลี่ยนแปลงให้ประสบความสำเร็จ และหาทางรับความเปลี่ยนแปลงจากมุมมองที่เป็นส่วนตัว วิธีการรับมือนั้นสามารถทำได้ด้วยการตั้งคำถาม รวบรวมข้อมูล ตั้งเป้าหมายไปทีละขั้นตอน ใจเย็นกับการปรับตัวในความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เป็นต้น

20. การดูแลตัวเอง

การดูแลตัวเองทั้งร่างกายและจิตใจเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด (สุขภาพกายและใจต้องดี) รวมถึงการหาสมดุลให้ชีวิตระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว ส่วนหนึ่งเป็นการสะสางภาระงานได้ตามกำหนดเวลา และได้ใช้เวลาส่วนตัวในการทำสิ่งต่างๆ ที่ต้องการ โดยไม่ต้องทำงานตลอดเวลา

ทั้งหมดนี้คือ 20 ทักษะ ที่จำเป็นสำหรับคนทำงานในโลกยุคใหม่ที่เบอร์นาร์ดแนะนำ หลักสำคัญคือ ต้องรู้จุดแข็งจุดอ่อนของตน มองแง่บวก พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง มั่นใจในตัวเอง พัฒนาอยู่เสมอ มีความยืดหยุ่นไม่ว่าจะเผชิญกับความท้าทายใด ลงมือทำให้เกิดขึ้นจริง ให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์มากกว่าที่เคย รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ ความฉลาดทางอารมณ์ และความฉลาดทางวัฒนธรรม

แม้ความเปลี่ยนแปลงจะเป็นความท้าทายที่น่าหวั่นเกรง แต่เป็นสิ่งที่ไม่อาจเลี่ยงได้ ประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า โลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในแง่หนึ่งการเปลี่ยนแปลงเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้โลกพัฒนาไปสู่จุดที่ดีกว่า นั่นหมายถึงชีวิตที่ดีกว่าที่เคยของเราด้วยเช่นกัน

เขียนโดย Phoothit Arunphoon

Source: หนังสือ ‘Future Skills ทักษะอนาคตที่ AI ทำแทนคุณไม่ได้’ (Future Skills The 20 Skills and Competencies Everyone Needs to Succeed in a Digital World) แปลโดย พรรษรัตน์ พลสุวรรณา สำนักพิมพ์ Nanmeebooks

Tags::