Type to search

เมื่อ COVID-19 อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้น : อนาคตที่ AI แทนที่คนจะมาถึงเร็วขึ้น

June 12, 2020 By Future Trends

คอลัมน์ WTF! : What The Future!
เขียนโดย S.siravich


เหมือนกับภาพยนตร์ทุกวันนี้ที่ใคร ๆ ก็พยายามสร้างเรื่องราวให้ต่อยอดเป็นแฟรนไชส์ วิกฤติ COVID-19 ก็อาจเป็นเหมือนตัวปูเรื่องสู่ความท้าทายใหม่ของมนุษย์ และสิ่งนั้นคือ AI

จากรายงานของ McKinsey ในปี 2017 เคยคาดเดาเอาไว้ว่า หนึ่งในสามของแรงงานในสหรัฐอเมริกาจะถูกแทนที่โดย AI หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติภายในปี 2030 แต่ในตอนนี้มันอาจไม่เป็นเช่นนั้น…COVID-19 ได้กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้การเปลี่ยนผ่าน และการปฏิวัติของเทคโนโลยีเร่งความเร็วขึ้น ไม่ใช่แค่เพราะผู้คนติดอยู่ในภาวะ Lockdown และธุรกิจต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหาเพียงอย่างเดียว แต่สถานการณ์ปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนมุมมองที่เรามีต่อสินค้าและบริการต่างๆไปด้วย

Martin Ford นักอนาคตวิทยาชื่อดังผู้เขียนหนังสือ Rise of Robot ที่กล่าวถึงการเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์โดยหุ่นยนต์ ได้กล่าวถึงสถานการณ์นี้ไว้ว่า

“ผู้คนเคยบอกว่าพวกเขาต้องการให้มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมต่างๆของพวกเขา แต่ COVID-19 ได้เปลี่ยนสิ่งนั้นไป” 

ผู้คนไม่ได้ต้องการที่จะได้รับบริการจากผู้คน หรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่นเหมือนแต่ก่อน กลับกันผู้คนเริ่มรู้สึกปลอดภัยมากกว่าที่จะได้รับบริการจากระบบอัตโนมัติ และลดการเข้าใกล้ผู้อื่นให้มากที่สุด

จากการเว้นระยะห่าง สู่การถูกแทนที่

ในช่วงเวลาที่มาตรการ Lockdown ได้เริ่มผ่อนปรนลงแล้วอาจช่วยให้เราได้เห็นภาพมากขึ้น ว่า “ชีวิตวิถีใหม่” ที่เขาว่ากันนั้นเปลี่ยนไปจากที่เคย ไม่ใช่แค่การแสกน QR ลงทะเบียนเข้าห้าง แต่เป็นการลดจำนวนผู้คนที่เราจะได้พบเจอในทุกสถานที่

ร้านค้า ร้านอาหารถูกกำหนดจำนวนคนที่เข้าใช้บริการ และรวมถึงผู้ให้บริการในร้าน จึงเกิดความเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่ชัดเจน คือร้านค้าร้านอาหาร ลดจำนวนพนักงานของพวกเขาลง และเพื่ออุดช่องว่างในงานบริการ ระบบอัตโนมัติจึงเข้ามาแทนที่ในส่วนนี้ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งอาหารผ่านแท็บเล็ต การเลือกดูสินค้าจากสต็อกอิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงเคาท์เตอร์จ่ายเงินแบบบริการตัวเองที่เพิ่มจำนวนขึ้น ในวันนี้เราจะเห็นได้ว่าคนทำงานในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งได้ลดจำนวนลงไปอย่างมาก สวนทางกับระบบอัตโนมัติที่เข้ามาแทนที่…และนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

ในระดับโลกความเปลี่ยนแปลง และการเปิดรับเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่คนทำงานดำเนินไปรวดเร็วกว่านั้น ร้านค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา Walmart เปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์ในการทำความสะอาดร้านของตัวเอง ในประเทศเกาหลีใต้ หุ่นยนต์ถูกใช้ในการวัดอุณหภูมิของผู้คนที่เข้ามาในอาคาร และแจกจ่ายแจลล้างมือ

เพียงแค่สองตำแหน่งนี้ที่ถูกแทนที่แล้วในต่างประเทศ เราจะเห็นได้ว่ามีคนอีกจำนวนมากที่สามารถตกงานได้จากการแทนที่นี้ และมันต่างจากเมื่อก่อนตรงที่ทุกคนต่างเห็นด้วย และรู้สึกปลอดภัยขึ้นกับความเปลี่ยนแปลง โดยแนวโน้มของความเปลี่ยนแปลงนี้จะยังดำเนินต่อไป และความต้องการที่มีต่อระบบอัตโนมัติก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อผู้เชี่ยวชาญด้านการแพร่ระบาดบอกว่า มาตรการ Social Distancing ควรดำเนินต่อไปจนถึงสิ้นปี 2021

ไม่ใช่ทุกงานที่ Work From Home ได้

ควบคู่ไปกับมาตรการ Social Distancing สิ่งที่ดำเนินไปด้วยกันคือมาตรการในการเพิ่มความปลอดภัยให้กับคนทำงานด้วยการ Work From Home ซึ่งการให้คนทำงาน ได้เว้นระยะห่างและทำงานจากที่บ้าน ช่วยให้มาตรการ Social Distancing ดำเนินไปได้ด้วยดีขึ้น ทั้งช่วยให้คนทำงานที่อยู่ในบ้านปลอดภัย และทำให้คนที่ยังจำเป็นต้องออกมานอกบ้านปลอดภัยยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกงานที่ Work From Home ได้ นั้นหมายความว่ายังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องออกมาเผชิญหน้ากับความเสี่ยง แม้ผู้ว่าจ้างจำนวนหนึ่งจะพยายามช่วยในเรื่องนี้ด้วยการปรับลดจำนวนวันทำงาน หรือเปลี่ยนมาทำงานแบบวันเว้นวัน แต่นั่นก็ทำให้ผลผลิตของการทำงานลดลงอย่างรวดเร็ว

งานในโกดังของ Walmart และ Amazon ก็เป็นงานที่ไม่สามารถทำจากที่บ้านได้ พนักงานในโกดังยังคงต้องออกมาทำงานร่วมกับเพื่อร่วมงานอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นพาหะของเชื้ออยู่หรือไม่ และนั่นสร้างความกังวลให้กับคนทำงานเหล่านี้ การเพิ่มหุ่นยนต์ เข้ามาช่วยงานในโกดังของ Walmart และ Amazon ก็ทำให้คนทำงานในโกดังสามารถเว้นระยะห่างจากเพื่อร่วมงานได้มากขึ้น ลดความเสี่ยงที่คนทำงานจะติดเชื้อลง อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ก็ยังสามารถส่งผลให้พวกเขาตกงานได้ด้วยเช่นกัน

การนำหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติเข้ามาทำงานเป็นคำตอบในการสร้าง Social Distance ให้กับงานที่ไม่สามารถทำจากที่อื่นได้ แบรนด์ Fast Food อย่าง McDonald’s เองก็มีความพยายามที่จะเปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์ในการประกอบอาหารให้กับลูกค้าเพื่อสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้กับผูใช้บริการ

เทคโนโลยีเหล่านี้เหมือนจะเป็นคำตอบให้กับงานที่ไม่สามารถเว้นระยะห่างออกจากจุดเดิมได้ และเพื่อสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการ หรือแม้กระทั่งคนทำงานที่เคยต้องเข้าไปรวมตัวทำงานในที่เดียวกัน องค์กรต่างๆจึงอาจเลือกหุ่นยนต์แทนที่คน

https://www.wired.com/story/robots-alone-cant-solve-amazons-labor-woes/

เมื่อ COVID-19 กดปุ่ม Reset

COVID-19 ไม่ได้นำพามาแค่สถาณการณ์ทางสังคมอันไม่ปกติ แต่ยังนำเรามาสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย เศรษฐกิจโลกถูกคาดการณ์ไว้ว่าจะติดลบถึง 7.6% และไม่มีเศรษฐกิจประเทศใดเลยที่มีแนวโน้มจะเป็นบวกในปีนี้

เมื่อพูดถึงเศรษฐกิจ อาจเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยาก แต่ในสถานการณ์ที่เกิดขึั้นต่อมาก็คือการลดขนาด และการปิดตัวของธุรกิจจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดจำนวนผู้คนตกงานสูงที่สุดนับตั้งแต่สหรัฐเผชิญกับกาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (Great Depression) หรืออาจแย่กว่า ซึ่งนั่นส่งผลให้ธุรกิจจำนวนมากที่ยังคงดำเนินต่อ อยู่ในสภาวะฟื้นตัวกันแทบทั้งหมด

หากเป็นช่วงเวลาอื่น เราอาจบอกได้ว่าเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ปัญหาคนว่างงานจำนวนมากจะคลี่คลายลงไป แต่ในช่วงเวลานี้ เราอาจพูดเช่นนั้นได้ไม่เต็มปากนัก เพราะในตอนนี้ธุรกิจมีทางเลือกใหม่ของแรงงาน และยังเป็นทางเลือกที่ผู้คนเปิดรับมากขึ้น คุ้นเคยมากขึ้น ไปจนถึงรู้สึกปลอดภัยมากขึ้นด้วย

การฟื้นตัวจากพิษเศรษฐกิจของ COVID-19 จะพาธุรกิจไปสู่คำถามใหญ่เร็วขึ้นกว่าเดิม ว่าในการฟื้นฟูนี้พวกเขาจะเลือกลงทุนกับสิ่งใด

คน หรือ หุ่นยนต์

ทางเลือกที่ไม่อาจย้อนกลับ

ในการแข่งขันระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ สิ่งที่น่ากลัวคือมีเพียงไม่กี่เรื่องนักที่เราเอาชนะ AI ได้ เรามีความคิดสร้างสรรค์ เรามีจินตนาการ เราเจรจาต่อรองได้ดี เราปรับตัวได้เก่ง เราเข้ากับมนุษย์ด้วยกันได้ดีกว่า นั่นคือสิ่งที่มนุษย์เอาชนะ AI ได้ ในขณะเดียวกัน AI เหนือกว่าเราทั้งในด้านการคิดวิเคราะห์ การจดจำ การประมลผลข้อมูลจำนวนมาก ทุกวันนี้มีการเปรียบเทียบที่พิสูจน์ได้ว่า AI จะวินิจฉัยโรคได้ดีกว่าหมอ ในเวลาที่น้อยกว่า

ที่ผ่านมาเราเอาชนะ AI หุ่นยนต์ และระบบอตโนมัติ ได้จากข้อเท็จจริงที่ว่าผู้คนสบายใจกว่าที่จะรับบริการจากคนคนหนึ่ง งานบริการโดยหุ่นยนต์นำพามาซึ่งความไม่เคยชิน ความกังวลว่าจะเกิดข้อผิดพลาด ว่าง่ายๆคือเรายังเชื่อใจคนมากกว่าหุ่นยนต์ แต่แนวคิดนี้อาจเปลี่ยนไปแล้ว ไม่มากก็น้อย เราสบายใจที่จะให้หุ่นยนต์บริการเราเพราะมันปลอดภัยกว่า เราพยายามเว้นระยะห่างจากคนอื่นกันมากขึ้น และยิ่งเวลาผ่านไป ผู้คนก็จะยิ่งคุ้นชินกับการรับบริการจากหุ่นยนต์ และการทำงานร่วมกับระบบอัตโนมัติมากยิ่งขึ้น

ด้านของแรงงานหุ่นยนต์เหล่านี้ไม่มีคำว่าเหนื่อย ไม่เรียกเงินเพิ่มเมื่อต้องทำ OT เกิดความเสียหายก็ไม่ยื่นฟ้องนายจ้าง ไม่ป่วย ไม่เป็นโรค และไม่ต้องทำงานจากที่บ้านในช่วงระบาดของไวรัส หุ่นยนต์เหมือนจะมีข้อดีมากมายที่เหนือกว่ามนุษย์นัก คำถามจึงกลายเป็นว่าอะไรคือสิ่งฉุดรั้งไม่ให้นายจ้าง และองค์กรต่างๆเปลี่ยนไปใช้แรงงานหุ่นยนต์

เงิน คือปัจจัยสำคัญในเรื่องนี้ การลงทุนใน AI และระบบอัตโนมัติต่างๆ มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่สูง ในขณะเดียวกันก็ยังมีคนที่ทำงานในหน้าที่เดียวกันนั้นได้อยู่

อาจจะดูร้ายกาจ แต่หากเปรียบเทียบแล้ว ก็เหมือนกับการที่เราไม่เปลี่ยนปริ้นเตอร์ ทั้งที่มีรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าอย่างชัดเจน ก็เพราะเราไม่อยากจ่ายเงินก่อนใหญ่ และยังมีของเดิมที่ทำงานได้อยู่แล้ว แต่ในตอนนี้ บริษัทต่างๆปลดพนักงานออกจำนวนมาก ทำให้เกิดช่องว่างมหาศาลที่ทำให้ผู้ว่าจ้างต้องเลือกว่าจะเติมมันอย่างไร และที่น่ากลัวก็คือ กลุ่มคนที่ตกงานในช่วงเวลานี้ คือกลุ่มเดียวกับที่มีความเสี่ยงในการถูกแทนที่มากที่สุด

จากงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ “JOB POLARIZATION AND JOBLESS RECOVERIES” (การกระจายงาน และการฟื้นตัวจากการตกงาน) ของ Nir Jaimovich และ Henry E. Siu พบว่าจากช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำสามครั้งในช่วงเวลาสามสิบปีของสหรัฐอเมริกา

88% ของคนตกงาน คือกลุ่มคนที่ทำงานรูทีน งานที่มีรูปแบบชัดเจน ซึ่งกล่าวได้อีกอย่างว่างานถนัดของ AI

นั่นหมายความว่าตำแหน่งที่เปิดว่าง และรอที่จะจ้างคนกลับเข้าไปทำงานจำนวนมากนั้น สามารถถูกแทนที่ได้โดย AI ซ้ำร้ายกว่านั้นคือหากตำแหน่งงานเหล่านี้นำ AI มาใช้ก็อาจไม่มีตำแหน่งงานนี้ในตลาดแรงงานอีกต่อไป ซึ่งนั่นก็หมายความว่าคนจำนวนมากที่ถูกเลิกจ้างในตำแหน่งงานเหล่านั้น จะไม่มีงานให้กลับไปทำ แม้ว่าวิกฤติ COVID-19 จะผ่านพ้นไปแล้ว


สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของปี 2020 คือการที่ COVID-19 อาจไม่ใช่เรื่องเลวร้ายที่สุดของปีนี้ และอนาคตจากนี้ไปยังคงเป็นสิ่งที่ท้าทายว่าเราจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร

การที่ตำแหน่งงานถูกแทนที่โดย AI หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ ไม่ได้สิ้นสุดอยู่แค่การทำงานหายไป แต่ยังนำไปสู่สิ่งที่จะตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของ Useless Class หรือการเข้าสู่ยุคสมัยที่ความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ครอบครองเทคโนโลยีกับคนทั่วไปเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้

อะไรจะเป็นทางออกของเราในวันนั้น การเก็บภาษีหุ่นยนต์ เพื่อช่วยเหลือคนตกงาน การสร้างระบบรายได้ถ้วนหน้าพื้นฐาน (Universal Basic Income) หรือการยกระดีบศักยภาพแรงงานทั้งระบบ เพื่อให้คนทำงานในส่วนที่ AI ยังไม่มีศักยภาพพอ

เรายังคงต้องตั้งคำถามต่ออนาคต 

ติดตามคอลัมน์ What The Future! ได้ทุกวันพุธ และวันศุกร์ ที่เว็บไซต์และเพจ Future Trends

Future Trends

Future Trends

Knowing The Future, Be The Winners of Tomorrow การรู้อนาคตทำให้เราเป็นผู้ชนะของวันพรุ่งนี้