LOADING

Type to search

อวสานมหาวิทยาลัย เมื่อยุคต่อไปของการศึกษาอาจไม่ใช่เรื่องในห้องเรียน

อวสานมหาวิทยาลัย เมื่อยุคต่อไปของการศึกษาอาจไม่ใช่เรื่องในห้องเรียน
Share

    รู้ไหมว่ามหา’ลัยที่เราแข่งขันกันแทบเป็นแทบตายเพื่อที่จะเข้าศึกษาต่อนั้น ในปัจจุบันได้ถูกปิดตัวลงไปแล้วกว่า 50 แห่งในไทย และอีก 500 แห่งในอเมริกา!! และคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าจะปิดเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 2,000 แห่งในอเมริกาเช่นเดียวกัน

    กระทรวงศึกษาธิการของสหรัฐอเมริกาและสถาบันจัดอันดับมูดีส์ก็ประเมินเช่นกันว่า จะมีวิทยาลัยและมหา’ลัยขนาดเล็กปิดตัวเพิ่มขึ้น 3 เท่า และมีแนวโน้มการควบรวมกิจการของมหา’ลัยขนาดเล็กเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว (อ้างอิง : smartsme)

    เป็นตัวเลขที่น่าตกใจมากเพราะใน ช่วงราวๆ 40-50 ปีก่อน ถือเป็นช่วงขาขึ้นสุดๆของ “อุตสาหกรรมอุดมศึกษา” ที่ทุกคนต้องการจะย่างกายเข้ามา

    แถมในปีพ.ศ. 2563 คาดว่าจะมีการปิดเพิ่มขึ้นอีกจากการวิเคราะห์ของนักวิชาการ อย่างในประเทศไทยเอง มหาวิทยาลัยสวนดุสิตที่เคยเปิดสาขาสอนถึง 60 สาขาก็ปิดไปแล้วกว่า 36 สาขา (อ้างอิง : มติชนออนไลน์)

ทำไมมหาวิทยาลัยถึงเจ๊งมากขึ้น?

    ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทำให้มหา’ลัยทยอยปิดตัวลงเรื่อยๆ และอาจลดลงอีกในอนาคต ปัจจัยเหล่านั้น เช่น

1. ประชากรเกิดลดลง

    ประชากรลดลงเรื่อยๆ และมันก็เกิดจากการที่คนเรียนสูงขึ้นเลยทำให้มีลูกกันช้าลง อย่างเช่นในบ้านเราเมื่อ 20 ปีก่อน เด็กเกิดใหม่ราวๆ ปีละ 1 ล้านคน พอผ่านไป 10 ปี เด็กเกิดใหม่ลดเหลือปีละ 8 แสนคน และปัจจุบันเหลือแค่ปีละ 6 แสนคนเท่านั้น แถมยังมีแนวโน้มชัดเจนว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่องอีก

2. มหาวิทยาลัยค่าเทอมสูงขึ้น

    ใครอยากจบมาแล้วต้องใช้หนี้ค่าเทอมหละ..? สาเหตุหนึ่งที่ค่าเทอมสูงขึ้นเพราะแนวโน้มที่รัฐบาลจะลดเงินสนับสนุนของมหา’ลัยลง ทำให้ต้องพึ่งตัวเองมากขึ้นเพื่อที่จะอยู่ให้ได้ เลยเป็นผลให้ค่าเทอมสูงขึ้นเป็นเท่าตัว

3. คนเรียน E-learning ด้วยตัวเองมากขึ้น

    การศึกษาออนไลน์ได้รับการยอมรับว่าเป็นกระบวนการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ โดยการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการศึกษาทำให้คุณภาพไม่ต่างจากการเรียนในห้องเรียน

E-learning จะเปลี่ยนแปลงวงการการศึกษาอย่างไร? 

    E-leaning ในปัจจุบันมันไม่ใช่แค่การนั่งดูเทปวิดีโอเหมือนแต่ก่อนแล้ว เทคโนโลยีมันเข้ามาช่วยให้เข้าใจบทเรียนมากขึ้น ทั้งระบบผู้ช่วยสอนเป็น A.I. ที่ช่วยตอบคำถามพื้นฐานซ้ำๆ ของนักศึกษาได้ 

    ยิ่งไปกว่านั้นเดี๋ยวนี้ A.I. สามารถตรวจข้อสอบอัตนัยได้แล้วด้วย! ไม่ใช่เรื่องเว่อร์เพราะมหา’ลัยแมนเชสเตอร์ และสำนักงานพัฒนาหลักสูตรการศึกษาของออสเตรเลียเริ่มนำมาใช้งานแล้ว

    นอกจากเข้าใจบทเรียนง่ายขึ้นแล้ว E-learning ยังสะดวกกว่า เพราะเรียนที่ไหนเวลาไหนก็ได้ และถูกกว่า ในขณะที่การเรียนการสอนในระบบเดิม ต้องใช้ทุนอย่างมหาศาล เอาง่ายๆคือ เทคโนโลยีที่มีอยู่ตอนนี้มันพร้อมสุดๆที่จะพาเราก้าวไปสู่มหา’ลัย 4.0 แล้ว 

แต่ปัญหาที่ยังมีอยู่นั้นก็คือ เหล่าคณาจารย์ทั้งหลายนี่แหละ

    ผลการสำรวจนั้นพบว่าปัญหาก็คือ เหล่าคณาจารย์ไม่ไว้วางใจการศึกษาออนไลน์ แล้วทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

1. E-learning แทนการสอนในคลาสเรียนไม่ได้

    เหล่าคณาจารย์ในมหา’ลัยเกินครึ่งยังมองการศึกษาออนไลน์อย่างไม่ไว้วางใจ และมองว่ามันไม่สามารถทดแทนการสอนแบบต่อหน้าในคลาสเรียนได้

2. E-learning ทำให้อาจารย์ทั้งหลายเสี่ยงตกงาน

    การเปลี่ยนแปลงนี้อาจทำให้เกิดการลดการจ้างงานของมหา’ลัย ซึ่งก็ทำให้อาจารย์มหา’ลัย จำนวนมากเสี่ยงจะตกงานไปด้วย 

    ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เหล่าอาจารย์มหา’ลัยจะไม่เห็นด้วยกับแนวทางการเปลี่ยนแปลงการศึกษาแบบนี้ซักเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นอาจารย์จะต้องมีประสบการณ์และทักษะในการถ่ายทอดความรู้ที่ Google ไม่สามารถสอนได้ และต้องมี Mindset ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เรียนเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ 

    เช่นในอเมริกา มีศิษย์เก่าจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จและมักจะกลับมาบริจาคเงินให้กับมหา’ลัยของตัวเอง เพราะประทับใจอาจารย์ที่ให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาจนได้มีวันนี้

    ดังนั้น อาจารย์ยุคใหม่จะต้องสอนโดยมุ่งผลสำเร็จของผู้เรียนเป็นหลัก มีการเรียนรู้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนควบคู่กันไป เพื่อให้เด็กเรียนรู้คู่ไปกับการทำงาน หรือให้ผู้ที่อยู่ในวงการการทำงานมาถ่ายทอดประสบการณ์ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากของจริง ซึ่งจะต้องเริ่มตั้งแต่การออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนร่วมกัน รวมไปถึงการประเมินผลเพื่อให้เด็กที่จบไปมีทักษะในการเป็นผู้ประกอบการ และสามารถสร้างธุรกิจของตัวเองได้่่่่ 

ทางรอดก็คือ มหาวิทยาลัยและเหล่าคณาจารย์ต้องปรับตัว

เช่น ยุบมหาวิทยาลัยที่ไม่มีคุณภาพ หรือควบรวมกิจการของมหาวิทยาลัยเอกชน กำหนดปริมาณในการผลิตบัณฑิต โดยเน้นสาขาที่ขาดแคลน และเป็นที่ต้องการของตลาด และนำเทคโนโลยีพวกนี้มาแบ่งเบาภาระการสอนของเหล่าอาจารย์ ช่วยให้อาจารย์มีเวลาไปศึกษาค้นคว้าและทำวิจัยมากขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแนวทางในการอยู่รอดของมหาวิทยาลัย แต่เชื่อว่าถ้าไม่ทำอะไรเลย อีกไม่เกิน 5 – 10 ปี คงได้เห็นมหาวิทยาลัยปิดตัวลงอีกหลายที่แน่นอน

Tags::