LOADING

Type to search

ชนะชั่วครั้ง ล้มเหลวชั่วคราว แต่ความภูมิใจจะชนะใจเราไปตลอดกาล

ชนะชั่วครั้ง ล้มเหลวชั่วคราว แต่ความภูมิใจจะชนะใจเราไปตลอดกาล
Share

คอลัมน์: สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก
เขียน: โอมศิริ วีระกุล

ในชีวิตการทำงาน นอกเหนือจะต้องรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมายมาแล้ว ยิ่งโตขึ้นเมื่อเป็นหัวหน้าทีม ก็ยิ่งต้องรับผิดชอบสิ่งต่างๆ อีกมากมาย เช่น ภาพรวมของงาน ความสัมพันธ์ภายในทีม บรรยากาศการทำงาน และสิ่งที่ไม่รู้อื่นๆ อีกมากมาย

พอเขียนถึงความไม่รู้อื่นๆ แล้ว ทำให้ผมนึกถึงการบริหารทีมนักศึกษาฝึกงานในแผนกที่ผมเคยดูแลอยู่ ซึ่งล้วนมีความแตกต่างกันออกไป ทั้งชั้นปีที่อยู่ และคณะที่เรียน ด้วยความแตกต่างนี้ ทำให้ผมต้องรีบมอบโจทย์งานให้ก่อนที่พวกเขาจะมาเริ่มฝึกงานอย่างเป็นทางการ

เหตุผลผลเพราะว่า ผมจะได้รู้ว่าน้องแต่ละคนมีทักษะ มุมมอง และความรับผิดชอบต่องานที่มอบหมายได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งผลลัพธ์จากขั้นตอนนี้ ก็ทำให้ผมเห็นถึงความถนัดที่แตกต่างกันออกไป

ทำให้ในช่วงเริ่มต้นของการฝึกงาน ผมจึงเริ่มแบ่งงานที่คิดว่าน้องๆ เขามีความถนัดเป็นต้นทุนเดิมอยู่แล้วให้ไปลองทำ เพราะว่าเวลาการฝึกงานของน้องๆ มีจำกัดเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น ผมจึงใช้เวลาที่มีพยายามใช้ต้นทุนที่น้องๆ มีออกมาให้ได้มากที่สุด

ทุกอย่างเหมือนจะผ่านไปได้ด้วยดี เหมือนหนังหนึ่งเรื่องที่เริ่มต้นอย่างสวยงาม แต่แล้วพอฝึกไปนานๆ ระดับการบ้านที่ผมให้ก็เริ่มยากขึ้น เมื่อยากขึ้นก็เริ่มมีคอมเมนท์จากผู้ตรวจ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ

แต่สิ่งที่ไม่ปกติสำหรับผม ก็คือการได้รับคำถามต่างๆ มากมายจากน้องฝึกงาน ทำนองว่า ทำไมไม่ทำอย่างนี้ อย่างโน่น ซึ่งผมก็ให้คำตอบไปว่า ผมไม่สามารถรับรองผลลัพธ์ของมันได้ แต่ก็ไม่ปิดโอกาสที่จะทำ ถ้าน้องอยากทำก็ลองทำเลย ซึ่งผมสนับสนุนอยู่แล้วสำหรับการทดลองอะไรใหม่ แต่สุดท้ายน้องก็ไม่ได้ทำ

มีอยู่หลายครั้งที่ผมพยายามทำความเข้าใจคนรุ่นใหม่ ต่อการตั้งคำถามและคำแนะนำอีกมากมาย ซึ่งมักลงท้ายด้วยความหงุดหงิดใจเล็กๆ น้อยๆ ว่า ทำไมคิดแล้วไม่ลงมือทำเสียที ผิดถูกไม่เคยว่า เพราะผมเชื่อว่าทุกอย่างมันพัฒนากันได้

การได้มีโอกาสทำงานร่วมกับน้องฝึกงานในครั้งนี้ก็ถือเป็นการเรียนรู้อีกรูปแบบหนึ่งในชีวิตการทำงานเช่นกัน

พอเขียนถึงเรื่องการเรียนรู้ มีข้อสังเกตหนึ่งที่ทำให้ติดใจอยู่บ่อยครั้งนั่นคือ ข้ออ้างต่างๆ ต่องานที่ทำจากน้องคนนึงในกลุ่ม ทำให้ผมนึกถึงแนวคิดเรื่องการเรียนรู้ของ โนเอล บรูค ที่ได้เขียนอธิบายถึงระดับการเรียนรู้ที่แตกต่างกันออกไปอยู่ 4 ระดับ ได้แก่

1. ไม่รู้ว่าไร้ความสามารถ

2. รู้ว่าไร้ความสามารถ

3. รู้ว่ามีความสามารถ

4. ไม่รู้ว่ามีความสามารถ

ถามว่าการมาฝึกงานของนักศึกษาทั้งหลายที่สมัครใจมาฝึกเองนั้น จากที่ผมสัมภาษณ์มา พบว่า ส่วนใหญ่มาฝึกเพราะยังไม่รู้ว่าตัวเองเหมาะสมกับงานอะไรกันแน่ ซึ่งบางทีอาจเข้าข่ายข้อที่ 1 กับ 4 คือ ไม่รู้ว่าไร้ความสามารถ กับ ไม่รู้ว่ามีความสามารถ ดังนั้น การเข้ามาฝึกงานจึงเป็นหนทางที่จะเข้ามาลองเจียระไนความสามารถของตัวเองดู

โดยส่วนตัว ผมชื่นชมทัศนคติของเด็กรุ่นใหม่นะครับ ที่ไม่ปล่อยเวลาให้เดินผ่านไปเฉยๆ เมื่อสงสัยในความสามารถของตัวเอง ก็ไม่รีรอที่จะหาอะไรทดสอบไปเลย ที่สำคัญพวกเขามาสมัครเองโดยไม่ต้องรอให้มหาวิทยาลัยบังคับให้ฝึกงานตามหลักสูตรเสียด้วย นี่คือข้อดีที่ผมเห็นในความกระตือรือร้นโดยภาพรวมของเด็กรุ่นใหม่

บางคนฝึกงานไปเพราะความไม่รู้ว่าตัวเองไร้ความสามารถในตำแหน่งที่ยังกังขาอยู่ ซึ่งต่อให้ผลลัพธ์จะออกมายังไง ผมเชื่อว่าก็ดีเสมอ เพราะอย่างน้อยถ้าผลลัพธ์ดี ก็ออกมาเป็นข้อ 4 คือ ไม่รู้ว่ามีความสามารถ จนได้ทำงานมากๆ บวกกับมีผู้สอนที่ดี อาจทำให้พวกเขารู้ตัวว่า จริงๆ แล้วพวกเขาก็มีความสามารถนี่หว่า (ข้อ 3) ซึ่งสามารถนำไปฝึกฝนจนเกิดความเชี่ยวชาญ หรือนำไปพัฒนาต่อยอดด้านอื่นๆ ได้ในอนาคต

หากผลลัพธ์ออกมาว่า พวกเขาไม่เหมาะสมต่องานนั้นจริงๆ ก็อย่าเพิ่งเสียใจ เพราะการเสียเวลาแค่ไม่กี่เดือนในการมาฝึก ยังดีกว่าการเสียเวลาไปหลายปี หรือบางทีอาจใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตในการค้นหาคำตอบก็ได้ ซึ่งสมัยที่ผมฝึกงาน ผมก็ค้นพบว่า ผมไม่เหมาะกับตำแหน่งที่ฝึกในตอนนั้นจริงๆ ตอนเริ่มต้นทำงาน เลยสามารถตัดตัวเลือกในการสมัครงานไปได้อีกเยอะเลย

ส่วนใครที่เข้าข่ายข้อที่ 2 คือ รู้ว่าไร้ความสามารถอยู่แล้ว ข้อนี้ โนเอล บรูค อธิบายไว้ว่า ก่อนหน้าคนกลุ่มนี้อาจอยู่ข้อที่ 1 มาก่อน คือไม่รู้ว่าตัวเองไร้ความสามารถ แต่พอทำงานนานเข้า จนพวกเขารู้แล้วว่าหน้าที่การงานที่พวกเขาทำนั้น ต้องอาศัยทักษะและประสบการณ์ที่หลากหลาย จนเริ่มรู้สึกยอมแพ้และปฏิเสธทุกโอกาสที่เข้ามา

สุดท้าย พวกเขาเริ่มที่จะหาข้ออ้าง เพื่อยอมแพ้ต่อสิ่งที่ต้องทำอยู่เสมอนั่นเอง

หากถามว่าแล้วทางออกสำหรับคนกลุ่มที่ 2 ล่ะ ควรทำอย่างไร ?

โนเอล แนะนำอยู่ทางเดียวคือ ถ้าอยากรอด และอยากกลายพันธุ์ไปเป็นคนกลุ่มที่ 3 ก็คือ ต้องยอมรับความอ่อนด้อยของตัวเอง สังเกตความคิดของตัวเองต่อปัญหาที่เข้ามา แล้วก็กัดฟันบอกให้ตัวเองลุยต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้นต่อไป

หากคิดอยากจะพิสูจน์ว่า ตัวเราเองไม่ได้แย่อย่างที่เราคิด หรือต่อให้แย่จริงๆ สุดท้าย เราก็ได้พยายามอย่างเต็มที่ เท่าที่เราเปิดโอกาสให้ตัวเองได้แก้ตัวต่องานที่ได้รับผิดชอบมาแล้วนั่นเอง และไม่ว่าผลลัพธ์จะสำเร็จหรือล้มเหลว อย่างน้อย ความภูมิใจในความพยายามพิชิตต่อปัญหาที่เข้ามาก็จะชนะใจเราไปตลอดกาล

Tags::

You Might also Like