LOADING

Type to search

รับมือยังไงเมื่อต้องอยู่กับเพื่อนร่วมงานประเภท ‘Frenemies’ ความสัมพันธ์แบบ ‘เพื่อนรักเพื่อนร้าย’

รับมือยังไงเมื่อต้องอยู่กับเพื่อนร่วมงานประเภท ‘Frenemies’ ความสัมพันธ์แบบ ‘เพื่อนรักเพื่อนร้าย’
Share

คำว่า “เพื่อน” มีหลายนิยาม เพื่อนแท้ที่คอยอยู่เคียงข้างเราเสมอ คอยเตือนเราไม่ให้ทำผิด คอยเก็บความลับต่างๆ เอาไว้ เพื่อนกิน เพื่อนเที่ยวที่ถึงไหนถึงกัน ไปกับเราทุกที่ เพื่อนสมัยมัธยม เพื่อนสมัยมหาวิทยาลัยที่อยู่ซัพพอร์ตกันทุกช่วงชีวิต เพื่อนร่วมงานที่ทั้งดี และร้ายในเวลาเดียวกัน

แม้หลายคนจะอยากมีเพื่อนร่วมงานที่ดีต่อใจ ปลอดภัยกับสุขภาพจิตแค่ไหน แต่ในความเป็นจริง ท้ายที่สุดแล้ว เราอาจจะเลือกไม่ได้ แถมก็ไม่มีโอกาสได้เลือกขนาดนั้นด้วยซ้ำ เช่นเดียวกับหัวหน้าบางคนที่จับพลัดจับผลูเข้ามาแบบงงๆ

บางคนเจอกับเพื่อนร่วมงานที่ไม่ดี แบบที่ไม่ถูกชะตากัน ตั้งป้อมกันตั้งแต่แรกเลยว่า ถ้าเป็นไปได้ ไม่ขอข้องเกี่ยวกัน แต่ขณะเดียวกัน บางคนก็กลับเจอเพื่อนร่วมงาน ‘Frenemies’ หรือ ‘Fickle Friends’ ที่จะว่าดีก็ไม่ใช่ จะว่าร้ายก็ไม่เชิง เดี๋ยวก็รัก เดี๋ยวก็เกลียด ต่อหน้าไม่มีพิษภัย แต่พอลับหลัง คอยนินทา และพร้อมจะแทงข้างหลัง เป็นมิตรภาพเทาๆ หม่นๆ

เดวิด ร็อบสัน (David Robson) นักเขียนด้านวิทยาศาสตร์ และผู้แต่งหนังสือ The Expectation Effect: How Your Mindset Can Transform Your Life ได้พูดถึงเรื่องนี้ในบทความ Why workplace frenemies are our most stressful colleagues บนเว็บไซต์สำนักข่าวบีบีซี (BBC) ไว้ว่า “ในอดีต นักจิตวิทยามักมองความสัมพันธ์ออกเป็น 2 แบบ ไม่ขาวก็ดำ โดยไม่ได้สนใจพื้นที่สีเทาที่เหลือจำนวนมาก แต่จากการวิจัยล่าสุดชี้ให้เห็นว่า Frenemies ก็มีความสำคัญพอๆ กับความสัมพันธ์แบบอื่นที่อยู่ในสเปกตรัมเดียวกัน เพราะส่งผลต่อสุขภาพ ความเป็นอยู่ และพฤติกรรมในที่ทำงานด้วย”

ซึ่งในทางจิตวิทยา มีการอธิบายเอาไว้ว่า คนประเภทนี้ไม่ใช่เพื่อนที่เราเลือกคบเองเสมอไป แต่มักจะแฝงตัวมาในคราบของเพื่อน เพื่อต้องการผลประโยชน์บางอย่าง เอาคำว่ามิตรภาพมาบังหน้า ตามนิยามของ ‘Crab Mentality ทฤษฎีความคิดของปู’

crab-mentality

Crab Mentality คือทฤษฎีที่ว่าด้วยเรื่องคนที่มีทัศนคติว่า ‘ถ้าฉันทำไม่ได้ เขาก็ต้องทำไม่ได้ด้วย ถ้าฉันไม่ได้สิ่งนั้นมา เขาก็ต้องไม่ได้สิ่งนั้นมาเช่นกัน’ โดยก็ถูกนำไปเปรียบกับปูตัวหนึ่งที่พยายามจะไต่ออกจากถังที่ถูกขังไว้ แต่ปูตัวอื่นพยายามขัดขวาง

กล่าวคือ คนแบบนี้เหมือน ‘งูพิษ’ ที่พร้อมจะแว้งกัด ขยี้เราให้จมดินทุกเมื่อ เต็มไปด้วยความไม่จริงใจ เอาแต่ขอความช่วยเหลือ แต่พอเรามีปัญหา ไม่คิดจะช่วย ซึ่งในแง่มุมของความสัมพันธ์ที่ดีนั้น ควรเป็นทั้งผู้รับ และผู้ให้ไปพร้อมๆ กัน

นอกจากนี้ ยิ่งเราประสบความสำเร็จมากเท่าไร Frenemies ก็จะยิ่งไม่สบายใจมากเท่านั้น หลักๆ แล้ว พวกเขาจะอ่อนแอ และขี้ขลาด ด้วยเหตุนี้ ก็เลยพยายามสร้างตัวตน ปีศาจในใจขึ้นมาด้วยการทำลาย กดให้เราต่ำลง และหากพวกเขาทำลายสำเร็จ ก็จะมีความสุขมาก

รวมไปถึงทางจิตวิทยาก็ยังบอกอีกด้วยว่า ลึกๆ แล้ว สาเหตุที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยแปลงร่างตัวเองเป็น Frenemies นั้น ต่างก็มาจากความรู้สึกผิดในอดีต ความกลัวความขัดแย้ง หรือขาดความตระหนักรู้ในเรื่องพื้นฐาน ส่งผลให้ไม่สามารถคิดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล

และว่ากันตามตรงแล้ว ความสัมพันธ์ครึ่งๆ กลางๆ ดังกล่าวก็ยังทำให้ ใครบางคนที่เจอเครียดมากกว่าเพื่อนร่วมงานคู่อริอีกด้วย เนื่องจาก ไม่มีการเลือกด้านของสเปกตรัม พลอยทำให้ต้องคอยกังวลกับการตั้งรับ

จูลีแอนน์ โฮลท์–ลันสตัต (Julianne Holt-Lunstad) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยบริคแฮม ยัง (Brigham Young University) อธิบายว่า “โดยเฉลี่ย ประมาณครึ่งหนึ่งในเครือข่ายโซเชียลของเรามักประกอบด้วยคนที่ทั้งรัก และเกลียด มันหายากที่จะพบคนที่ไม่มีความสัมพันธ์แบบคลุมเครืออย่างน้อยหนึ่งอย่าง Frenemies อาจสร้างความเสียหายให้เราได้มากกว่าคนที่เกลียดแน่ๆ เสียอีก”

frenemies-at-workplace 1

เมื่อปีที่แล้ว นาโอมิ รอธแมน (Naomi Rothman) รองศาสตราจารย์ด้านการจัดการแห่งมหาวิทยาลัยลีไฮ (Lehigh University) กับเมลวานี ชีมุล (Melwani Shimun) รองศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมในองค์กรแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา (University of North Carolina) ได้ร่วมกันศึกษาความสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ ภายใต้งานวิจัยหัวข้อ ‘The push-and-pull of frenemies: When and why ambivalent relationships lead to helping and harming.’

โดยได้ขอให้กลุ่มตัวอย่างตอบคำถามประเด็นส่วนตัวกับคนแปลกหน้า อย่างเช่น ความสำเร็จที่ภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต ผลปรากฏว่า กระบวนการนี้ช่วยเชื่อมโยงอารมณ์กับคู่สนทนาได้อย่างรวดเร็ว และหลังจากนั้นไม่นาน นาโอมิ และเมลวานีก็เพิ่มความเข้มข้นของการทดลองขึ้นด้วยการแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 3 กลุ่มย่อย

กลุ่มแรกให้อธิบายมุมมองเชิงบวกว่า เขาชอบอะไรในตัวของกันและกัน ส่วนกลุ่มที่สิ่งให้พูดเล่าถึงสิ่งที่ไม่ชอบของกันและกันในแง่ลบ และกลุ่มที่สามให้ประเมินความสำเร็จของกันและกัน โดยเปรียบเทียบกับผลงานตัวเอง สร้างความรู้สึกแข่งขันขึ้น

ต่อมา พวกเขาให้กลุ่มตัวอย่างทำกิจกรรมการเขียนบล็อกเกี่ยวกับบริษัท และเมื่อเขียนเสร็จแล้ว คู่ของตนก็จะมาแก้ไข และคอมเมนต์การเขียน ทั้งกับเพื่อนโดยตรง หรือส่วนตัวกับพวกเขาก็ได้ ผลปรากฏว่า กลุ่มแรกกับกลุ่มที่สองมีความสัมพันธ์ที่ชัดเจน เพราะบทสนทนาก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุน และต่อต้านกันและกันช่วยเชื่อมโยงความรู้สึกอย่างรวดเร็ว ในทางกลับกัน กลุ่มที่สามกลับปรากฏความสัมพันธ์ที่ไม่ชัดเจน ต่างฝ่ายต่างพยายามแก้ไขงานอย่างละเอียด และมีแนวโน้มจะแสดงคอมเมนต์เชิงลบมากกว่าด้วย

นาโอมิ และเมลวานี สรุปผลการวิจัยไว้ว่า คนในกลุ่มที่สามที่มีความสัมพันธ์แบบ Frenemies ชดเชยความรู้สึกแย่ๆ ด้วยการพยายามปรับปรุง เพิ่มเติมงานของคู่ตนเอง และยิ่งกว่านั้นคือ มักเกิดจากความต้องการสนิทสนม เพื่อทำให้ความรู้สึก และองค์ประกอบต่างๆ เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ดี-ร้าย อีกทั้ง ก็มักจะเข้มข้นกว่าความสัมพันธ์แบบอื่นด้วย

จากผลการศึกษากว่า 150 ฉบับที่ถูกตีพิมพ์ของจูลีแอนน์ที่ทำวิจัยเรื่องนี้มานานเกือบ 10 ปี ระบุว่า ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นสามารถช่วยลดความเสี่ยงได้ในระดับเดียวกับการเลิกสูบบุหรี่ และทุกครั้งที่เรา Interact กับใครบางคน ก็จะได้รับค่าความดันโลหิตกลับมา

เมื่อผู้คนเจอคนที่คอยช่วยเหลือ ค่าความดันโลหิตจะลดลง ในทางตรงกันข้าม หากเจอคนที่ไม่ชอบ ไม่ว่าจะเป็น Frenemies คนที่ชอบกดเราให้ต่ำ หรือหัวหน้าเจ้าอารมณ์ก็ตาม ค่าความดันโลหิตจะพุ่งสูงขึ้น ซึ่งก็น่าจะพอเดาได้ว่า เป็นผลมาจากสารพัดความเครียดนั่นเอง

แชมเปญมีไว้ดื่มฉลองกับเพื่อนแท้ แต่ถ้ามีเพื่อนจอมปลอมก็มีแต่จะเจ็บกับเจ็บ”

ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon) รัฐบุรุษก้องโลก

คำถามก็คือ ถ้าตอนนี้เรามี Frenemies อยู่ข้างกาย และการลาออกก็ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เราจะรับมือกับเพื่อนรักเพื่อนร้ายยังไงดีล่ะ?

เมลวานี แนะนำว่า หัวหน้าควรหามาตรการลดความรู้สึกแข่งขันระหว่างลูกน้องในทีมลง และทำให้แน่ใจว่า ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นเป็นการสนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกันมากขึ้น ส่วนลูกน้องที่กำลังเผชิญกับเพื่อนรักที่สักวันหนึ่งอาจจะหักเหลี่ยมโหดอยู่ ให้กลับมาทบทวนกับตัวเอง ตระหนักถึง Dynamic ของความสัมพันธ์บ่อยๆ

เธอบอกว่า “มนุษย์มีความทรงจำที่ค่อนข้างสั้น ความรู้สึกของเรามีต่อเพื่อนในการทำงานสามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่ายจากการกระทำล่าสุด เราไม่จำเป็นต้องย้ำคิดย้ำทำกับความสัมพันธ์ที่คลุมเครือนานๆ เมื่อตระหนักเรื่องนี้ได้แล้ว อาจจะลองประเมิน ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ประโยชน์ที่เราได้จาก Frenemies นั้นมากกว่าความไม่พอใจหรือไม่ และบางทีเราอยากได้ความเคารพ ความรักจากพวกเขาเกินกว่าที่จำเป็นรึเปล่า?”

เราจะดีหรือไม่ดีก็ขึ้นอยู่ที่คำพูด และการกระทำของตัวเอง ตกตะกอนจาก Frenemies ได้ แต่อย่าปล่อยให้ความคิดของพวกเขามากัดกินใจคุณเลยนะ 🙂

Sources: https://bbc.in/3KA8NVq

https://bbc.in/3KuraLl

https://bit.ly/3Av9rib

https://bit.ly/3Aur3ea

https://bit.ly/3pRVpSR

https://bit.ly/3CEIZ8E

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1