“ชีวิตก็เหมือนกล่องที่เต็มไปด้วยช็อกโกแลต” 29 ปี กับประโยคสุดอมตะจาก ‘Forrest Gump’ และการตามหาความหมายของชีวิตผ่านกล่องช็อกโกแลต
“Life is like a box of chocolates, you never know what you’re gonna get.” ประโยคเต็มๆ ของบทภาพยนตร์สุดอมตะ ‘Forrest Gump’ ภาพยนตร์ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลก การันตีด้วยรางวัลออสการ์
เนื่องในโอกาสครบรอบ 29 ปีของภาพยนตร์เรื่องนี้ Future Trends อยากจะชวนคุยแลกเปลี่ยนการตีความเกี่ยวกับประโยคกล่องช็อกโกแลตกันหน่อย ว่า ผู้อ่านทุกคนตีความกันว่าอย่างไร ในส่วนของเรา กล่องช็อกโกแลตเปรียบเสมือน บุคคลที่สำคัญที่สุดในชีวิตของ Gump 3 คน
[ Life of Jenny Curran – The First Chocolate box ]
Jenny Curran เป็นเพื่อนในวัยเด็กของ Gump เป็นคนแรกที่บอกให้เขา ‘วิ่ง’ ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ในตอนท้ายของเรื่องคือคนรักกัน แต่ตลอดทางของเรื่องเธอจะวิ่งหนีเขาอยู่เสมอ ด้วยเหตุผลที่เธอรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าพอที่จะได้รับ ความรักจากเขา
กล่องช็อกโกแลตของเธอจึงเปรียบเสมือนชีวิตที่ไม่มีคุณค่า มองว่าตัวเองต่ำต้อยไม่เหมาะสมกับคนที่ดีอย่าง Gump และทำทุกวิธีทางเพื่อที่จะหนีเขา นอกจากนี้ชีวิตของเธอยังสะท้อนให้เห็นถึงการพึ่งพาคนอื่น เพื่อที่จะให้อยู่จุดที่สูงขึ้นอยู่ตลอดเวลา ในฉากเธอจะต้องร้องขอการช่วยเหลืออยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการโบกรถ หรือขอพรจากพระเจ้า
ดังนั้น กล่องช็อกโกแลตที่ชื่อว่า Jenny Curran เปรียบได้เสมือนชีวิตที่ไม่มีคุณค่า มองว่าตัวเองต่ำต้อย มีความต้องการที่จะอยู่ในที่สูงขึ้น แต่ขาดความพยายามจากตัวเองในการผลักดันนั้น สุดท้ายจึงจบด้วยการที่วิ่งหนีอยู่เสมอ
เป็นกล่องช็อกโกแลตที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีการใช้ชีวิตแบบพึ่งพาคนอื่นอยู่เสมอ และสุดท้ายไม่ประสบความสำเร็จ มองกลับมาที่ Gump ผู้ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยขาของตัวเอง เขาวิ่งอยู่เสมอ วิ่งด้วยตัวเองถึงแม้การวิ่งหลายครั้งจะไม่มีประโยชน์อะไร แต่เขาทำมันด้วยตัวเอง ที่สำคัญคนที่สร้างแรงผลักดันให้ Gump วิ่ง กลับกลายเป็นคนเดียวกันกับคนที่ไม่เคยวิ่งเพื่อตัวเองเลย
[ Life of Bubba Blue – The Second Chocolate box ]
Bubba Blue เป็นเพื่อนของ Gump ในตอนที่เขาได้เข้าไปเป็นทหาร Blue เป็นคนที่สองที่บอกให้เขาวิ่งในเหตุการณ์สงครามเวียดนาม เขาวิ่งสุดชีวิตจนรอดจากเหตุการณ์ที่รุนแรงมาได้ และกลับไปช่วยเพื่อนๆ แต่น่าเสียดายที่ไม่สามารถช่วย Blue ไว้ได้
กล่องช็อกโกแลตของ Blue เปรียบเสมือนชีวิตที่ไม่ได้รับการยอมรับ เพราะสีผิว มีคุณแม่เป็นคนรับใช้ต้องคอยทำอาหารให้คนอื่นทานอยู่เสมอ จนทำให้เขามีความฝันที่จะเปิดร้านขายกุ้ง เพื่อที่จะรวยแล้วแม่ของเขาจะไม่ต้องมาทำอาหารให้คนอื่นอีกต่อไป แต่เป็นคนที่ได้รับการดูแลแทน
มันแสดงให้เห็นถึงความทะเยอทะยานไม่ย่อท้อ ถึงแม้จะมีปัญหาที่หนักหนาในสังคม แต่เขาก็ยังมีความฝันที่อยากจะไปให้ถึง ก่อนตาย Gump ได้สัญญาว่าจะทำความฝันให้เขาเป็นจริง กล่องช็อกโกแลตอันนี้จึงเปิดออกมาให้เห็นชีวิต ที่มีความฝันอันยิ่งใหญ่ถึงแม้จะไม่มีวันไปถึง แต่คำว่าฝันมันไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่เราคาดถึงหรอก
Gump ได้เรียนรู้ความฝันที่มีค่าจากช็อกโกแลตกล่องนี้ และมันได้สอนการรักษาคำมั่นสัญญาให้แก่เขา ท้ายที่สุดเขาก็สามารถทำความฝันของ Blue ให้เป็นจริงได้ ดังนั้นชีวิตที่เปิดมาเจอในกล่องนี้คือ การตั้งความฝันที่ยิ่งใหญ่ และคำมั่นสัญญา เป็นสิ่งสำคัญ ถึงแม้คุณจะเป็นเพียงแค่คนชายขอบของสังคม
[ Life of Dan Taylor – The Third Chocolate box ]
Dan Taylor เป็นทหารที่ Gump และ Blue พบที่เวียดนามครั้งเมื่อไปทำสงคราม เขาเป็นคนที่ Gump ช่วยให้รอดจากการเสียชีวิตในสนามรบ แต่แนวคิดของตัวละครตัวนี้คือ การเสียสละเพื่อชาติ พื้นหลังครอบครัวของเขามีแต่คนที่เสียชีวิตให้กับสงคราม Taylor ต้องการเช่นนั้น
ทำให้การช่วยชีวิตโดย Gump เป็นเรื่องที่น่ารังเกียจสำหรับเขา ชีวิตหลังจากปลดประจำการของเขาคือ ‘ความพิการ’ ขาทั้งสองข้างของเขาถูกตัดออกไป เขาใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อยไม่มีจุดหมาย เพราะจุดหมายของเขาคือการเป็นวีรบุรุษอย่างคนในครอบครัว
ช็อกโกแลตกล่องนี้สอน Gump ว่า “ชีวิตไม่จำเป็นต้องลิขิตเอง” ชีวิตที่ไม่ต้องลิขิตอะไรครอบครัวเป็นอย่างไรผมพร้อมเป็นด้วย คือสโลแกนประจำตัวของ Taylor ที่แตกต่างจากกล่องช็อกโกแลตอีก 2 กล่องที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง เขามีความฝันที่ไม่ได้กำหนดเอง เขาเพียงฝันที่จะได้ทำอย่างที่ครอบครัวเขาเคยทำ
แต่จุดเปลี่ยนมันมาในตอนที่พวกเขา 2 คนได้ทำธุรกิจตกกุ้งด้วยกัน มันทำให้แนวคิดของ Taylor เปลี่ยนไป เขาเห็นคุณค่าในตัวเองว่ายังมีชีวิตอยู่ และสามารถสร้างคุณค่าได้ แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นที่เปลี่ยนแปลงไปจากการไม่ลิขิตอะไรของชีวิต มีเป้าหมายสูงสุดคือการเสียสละเพื่อแผ่นดิน กลายมาเป็นนักธุรกิจคู่กับ Gump
ดังนั้น ช็อกโกแลตกล่องสุดท้าย Gump ได้เรียนรู้ชีวิตที่เป้าหมายสูงสุดนั้นถูกทำให้หายไป จนชีวิตเหมือนไม่เหลืออะไร แต่มันแสดงให้เห็นว่าเป้าหมายเกิดขึ้นใหม่ได้เสมอ เพียงแต่ต้องมองให้เห็นคุณค่าของมัน
กล่องช็อกโกแลตทั้ง 3 แสดงออกให้เห็นถึง แนวคิด 3 อย่าง
1.อยากจะอยู่ในที่สูงขึ้นแต่หวังพึ่งคนอื่นตลอด จึงไม่ประสบความสำเร็จ
2.จงมีความฝัน ถึงแม้มันจะไกลเกินเอื้อม
3.เป้าหมายเกิดขึ้นใหม่ได้เสมอ ถึงแม้จะล้มเหลว ก็เปลี่ยนเป้าหมายเพื่อความสำเร็จซะ
ทั้ง 3 กล่องสร้างแนวคิดให้ทั้ง Gump ในการดำเนินชีวิต และผู้ชมอย่างเราให้ได้ตีความการมีอยู่ของชีวิตที่ไม่มีวันได้รู้หากเราไม่ได้เปิดดูเปรียบเสมือน การเปิดกล่องช็อกโกแลต ที่เราไม่มีทางรู้เลยว่ารูปลักษณ์ของมันจะเป็นอย่างไรก่อนที่จะเปิดมัน
[ ขนนก ฟ้าลิขิต หรือ กำหนดเอง? ]
นอกเหนือจากกล่องช็อกโกแลต ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังให้แนวคิดเกี่ยวกับ ‘ขนนก’ ว่ามันคือสิ่งที่ฟ้าลิขิต หรือ กำหนดเอง ขนนกในบริบทของภาพยนตร์เป็นสิ่งที่แสดงถึงเป้าหมาย โดยแม่ของ Gump บอกว่าชีวิตน่ะ ต้องกำหนดเองนะ เราอยากเป็นอะไร เราอยากทำอะไร เราต้องเป็นผู้กำหนด Gump จึงยึดถือและใช้มันในการเลือกเข้าไปเป็นทหาร
Gump ใช้ชีวิตแบบขนนกที่กำหนดเองมาตลอด จนกระทั่งมาเจอ Taylor ผู้สอนให้เขาได้รู้ว่าขนนกอาจจะเป็นสิ่งที่ฟ้าลิขิตมาแล้วก็ได้ เหมือนกับความต้องการของเขาในตอนแรกที่อยากเสียสละเพื่อชาติให้เหมือนกับครอบครัวของเขา เพราะมันคือสิ่งที่ฟ้ากำหนดมาแล้วว่าครอบครัวของเขาต้องเป็นอย่างนี้
Gump สับสนอยู่ตลอดว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องสำหรับขนนกกันแน่ สุดท้ายแล้ว เขาเลือกทั้งสองอย่าง บางครั้งขนนกก็กำหนดมาให้แล้วว่าต้องทำอะไร บางครั้งขนนกก็ถูกเขากำหนดว่าจะต้องทำอะไร เปรียบได้เหมือนชีวิตของคนเรา เราไม่จำเป็นที่จะต้องกำหนดชะตากรรมของตัวเอง เราอาจจะรอสิ่งที่ถูกลิขิตมาแล้วก็ย่อมได้
สุดท้ายนี้ กล่องช็อกโกแลต และขนนก ที่ Future Trends นิยามลงไปเป็นความคิดเห็นที่เรามองว่า ภาพยนตร์นำเสนอแรงบันดาลใจผ่านสัญญะทั้ง 2 อย่าง เราเพียงตีความว่าชีวิตที่เปิดออกมาของกล่องช็อกโกแลต สะท้อนให้เห็นการเลือกเดินทาง และตัวอย่างของการเดินทางนั้นๆ หากเราอยากอยู่สูงขึ้นโดยรอแต่ความช่วยเหลือ สิ่งที่ได้รับคือความล้มเหลวที่ไม่มีวันไปถึงจุดที่ต้องการ
หรือขนนกถ้าหากเรารอแต่สิ่งที่ฟ้าลิขิตแล้ววันหนึ่ง เป้าหมายนั้นมันไม่สามารถเกิดขึ้นได้แล้ว เราจะทำอย่างไร? เราก็ต้องลิขิตมันขึ้นมาใหม่อยู่ดี ดังนั้น นี่เป็นเพียงการตีความของเราเท่านั้น ผู้อ่านคนไหนที่ตีความคล้ายกับเรา หรือตีความไม่เหมือนกันเรา สามารถแชร์ให้พวกเราอ่านกันได้นะ
เขียนโดย ธนพนธ์ หัสกรรัตน์