LOADING

Type to search

“ความผิดพลาดครั้งนี้ ต้องมีคนรับผิดชอบ!” ว่าด้วย ‘การล่าแม่มด’ หาตัวคนผิดในองค์กรที่ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น

“ความผิดพลาดครั้งนี้ ต้องมีคนรับผิดชอบ!” ว่าด้วย ‘การล่าแม่มด’ หาตัวคนผิดในองค์กรที่ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น
Share

“งานนี้เกิดจากความผิดพลาดของใคร?”

“ใครเป็นคนดูแลส่วนนี้ ปล่อยให้งานพลาดได้ยังไง?”

“ถ้าไม่มีคนรับสารภาพ ต้องรับผิดชอบร่วมกันทั้งฝ่าย!”

‘ความผิดพลาด’ ถือเป็นของแสลงสำหรับคนทำงาน เพราะนอกจากจะไม่มีใครต้องการให้เกิดกับตัวเองแล้ว ยังเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก ต่อให้พยายามวางแผนรัดกุมแค่ไหน แต่ human error ที่เป็นจุดอ่อนของมนุษย์ สามารถก่อให้เกิดความผิดพลาดได้ทุกที

ความผิดพลาดในการทำงาน สามารถแบ่งคนออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ คนที่พยายามทุกวิถีทางเพื่อแก้ปัญหาจากความผิดพลาดอย่างเต็มกำลัง คนที่เลือกจะปล่อยเบลอและไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ และคนที่คอยจับผิดคนอื่นด้วยเรดาร์อันเฉียบคม

ซึ่งคนประเภทสุดท้ายจะกลายเป็นตัวตั้งตัวตีในการ ‘ชี้นิ้ว’ ล่าตัวคนผิด และทำให้เกิด ‘วัฒนธรรมการล่าแม่มด’ ในองค์กรที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดา (ที่ไม่ธรรมดา) และภาพชินตาของคนทำงานไปแล้ว

ยิ่งบางบริษัท การล่าแม่มดหาตัวคนผิดถือเป็น ‘big event’ ที่ผู้บริหารระดับสูงจะเกณฑ์คนของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความผิดพลาดมาประชุมร่วมกัน และไล่เรียงหาตัวคนผิดไปเรื่อยๆ เพื่อหา ‘แพะ’ รับผิดชอบปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ

แต่สภาพการประชุมที่เต็มไปด้วยความเครียดและความกดดัน ไม่ได้ช่วยให้การหาตัวคนผิดง่ายขึ้นเลยแม้แต่น้อย เพราะทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่า ถ้าเปิดเผยความผิดพลาดของตัวเองออกไป บทลงโทษที่รออยู่ข้างหน้าอาจส่งผลกระทบต่อรายได้และ career path ของตัวเอง

นอกจากนี้ ทิม ชาร์ป (Tim Sharp) นักจิตวิทยาจาก The Happiness Institute ยังอธิบายว่า สาเหตุที่คนไม่ค่อยยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง ไม่ได้เกิดจากความกลัวการสูญเสียเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดจากการที่ไม่สามารถทนต่อสายตาและการตำหนิของคนอื่นได้ เนื่องจากส่งผลต่อการยอมรับความสามารถที่เป็นความภาคภูมิใจของคนทำงานทุกคน

ดังนั้น การล่าแม่มดหาตัวคนผิด จึงไม่ใช่วิธีการรับมือกับความผิดพลาดที่เหมาะสมเท่าไรนัก เพราะนอกจากจะไม่ได้ช่วยให้หาคำตอบของปัญหาอย่างชัดเจนแล้ว ยังสิ้นเปลืองทรัพยากรการทำงานโดยเฉพาะ ‘แรงกาย’ และ ‘เวลา’ ที่มีผลกับการทำงานชิ้นถัดไป

Wrong Person
Image by stockking on Freepik

แล้วจะดีกว่าไหม ถ้านำความผิดพลาดจากการทำงานครั้งก่อนหน้ามาเป็นบทเรียนสำหรับการทำงานครั้งต่อไปแทน

คริส โรบินสัน (Chris Robinson) นักเขียนจาก Projects Guru ได้ให้คำแนะนำในการกำจัดวัฒนธรรมการล่าแม่มดหาตัวคนผิดในองค์กร ดังนี้

อย่างแรก ผู้นำองค์กรต้องออกแบบวัฒนธรรมองค์กร (Company Culture) ให้เอื้อต่อการทำงาน เช่น ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตมากกว่าความสำเร็จหรือข้อผิดพลาดในอดีต เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่พนักงานจะพัฒนาทักษะการทำงานเสมอ เพื่อลดโอกาสเกิดความผิดพลาดในการทำงานครั้งต่อไป

อย่างต่อมา ทุกคนในองค์กรต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสาร เพราะความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการทำงาน มักจะเกิดจากการสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิภาพ และไม่สามารถสร้างความเข้าใจได้อย่างชัดเจน ทำให้การทำงานแต่ละขั้นตอนมีโอกาสเกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย

โดยคริสแนะนำว่า แทนที่จะต้องมาไล่เรียงหน้าที่ของแต่ละคนยามที่เกิดปัญหา ให้ระบุขั้นตอนการทำงานอย่างละเอียด พร้อมทั้งติดตามการทำงานอยู่เสมอ เพื่อให้เห็นข้อผิดพลาดเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ และแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที

อย่างสุดท้าย ผู้นำองค์กรต้องส่งเสริมทัศนคติเชิงบวกของพนักงานทุกคน มองความผิดพลาดเป็นบทเรียน และเริ่มต้นใหม่ให้ดีกว่าเดิม รวมถึงให้กำลังใจกันเสมอ เพื่อส่งเสริมความสามัคคีในองค์กรที่มีส่วนช่วยพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น

จริงๆ แล้ว การรับมือกับความผิดพลาดถือเป็นโจทย์สุดหินสำหรับคนเป็นหัวหน้าหรือผู้บริหารระดับสูงเช่นกัน เพราะนอกจากจะต้องแก้ปัญหาจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้ว ยังต้องดูแลใจของทีมให้พร้อมทำงานชิ้นถัดไป

ดังนั้น หัวหน้าหรือผู้บริหารระดับสูงต้องออกแบบวิธีการบริหารงานให้ไม่ตึงหรือหย่อนจนเกินไป กล่าวคือเวลาที่เกิดข้อผิดพลาดไม่จำเป็นต้องล่าแม่มดหาตัวคนผิดมาลงโทษ แต่เรียกมาตักเตือนหรือพูดคุยเป็นบทเรียน และช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหาจากความผิดพลาดต่อไป

Sources: https://econ.st/3H6AuDQ

http://bit.ly/3j6If4P

http://bit.ly/3Dk2bYM

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like