Grow Fast, High Risk กลยุทธ์ ‘Blitzscaling’ ที่ทำให้ ‘Facebook’ เป็น Big Tech ระดับโลก
จะเสี่ยง ‘โตไว’ หรือยอม ‘ตายอย่างช้าๆ’ ?
เมื่อก้าวสู่สนามการแข่งขันทางธุรกิจ การตัดสินใจว่า จะให้ธุรกิจของตัวเองดำเนินไปอย่างไร คงเป็นโจทย์สุดหินสำหรับนักธุรกิจหน้าใหม่และนักปั้นสตาร์ตอัปหลายคน เพราะตัวเลือกมีเพียงทำให้ธุรกิจโตอย่างรวดเร็วท่ามกลางความเสี่ยงรอบด้าน หรือโตอย่างมั่นคงแต่ถูกคู่แข่งแซงหน้าจนห่างไกลคำว่า ‘ชนะ’ และค่อยๆ หายไปจากตลาด
แม้จะรู้ว่า ‘เสี่ยง’ แต่นักธุรกิจหลายคนก็เลือกเส้นทางของการเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะไม่มีใครต้องการเห็นธุรกิจที่ปั้นมากับมือแพ้คู่แข่งไปต่อหน้าต่อตา การสร้างความได้เปรียบในสนามจึงเป็นสิ่งสำคัญ แน่นอนว่า ‘มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก’ ในวัย 20 ปีก็คิดเช่นนั้น และตัดสินใจพา ‘Facebook’ ไปสู่การเติบโตแบบสายฟ้าแลบหลังจากตั้งบริษัทได้ไม่นาน สอดคล้องกับกลยุทธ์ที่ชื่อว่า ‘Blitzscaling’
Blitzscaling เป็นนิยามของวิธีการบริหารงานที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว ชิงพื้นที่ในตลาดด้วยการโฟกัสที่ ‘ความเร็ว’ มากกว่า ‘ประสิทธิภาพ’ ยิ่งขยายฐานผู้ใช้งานได้มาก ยิ่งการันตีชัยชนะและความสำเร็จเหนือคู่แข่งของตัวเอง แม้จะเป็นการเติบโตที่ต้องแลกมาด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาลก็ตาม
แนวคิดนี้เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น เมื่อ ‘รี้ด ฮอฟฟ์แมน’ (Reid Hoffman) ผู้ก่อตั้ง LinkedIn สตาร์ตอัปพันล้านที่ปัจจุบันอยู่ในอ้อมอกของ Microsoft และ ‘คริส เยห์’ (Chris Yeh) นักลงทุนผู้คร่ำหวอดในวงการเทคโนโลยีและสตาร์ตอัป ร่วมกันเขียนหนังสือที่ชื่อว่า ‘Blitzscaling’ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวการเติบโตแบบสายฟ้าแลบของธุรกิจสตาร์ตอัป และแบ่งปันกรณีศึกษาของธุรกิจที่เติบโตด้วย Blitzscaling แบบเจาะลึก
การทำธุรกิจด้วย Blitzscaling กลายเป็น ‘คัมภีร์’ แห่งความสำเร็จของนักปั้นสตาร์ตอัปใน ‘ซิลิคอน แวลลีย์’ (Silicon Valley) เพราะมีบริษัทรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จจากแนวคิดนี้อยู่มากมาย โดยพวกเขาสามารถเปลี่ยนสถานะจาก ‘สตาร์ตอัป’ สู่การ ‘สเกลอัป’ เป็น ‘Big Tech’ ชื่อก้องโลกอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
Facebook (หรือ Meta ในปัจจุบัน) คือหนึ่งในบริษัทประสบความสำเร็จจากการใช้กลยุทธ์ Blitzscaling เพื่อเติบโตอย่างก้าวกระโดด หลังจากลงหลักปักฐานบริษัทในฐานะสตาร์ตอัปแห่งการเป็น ‘โซเชียลเน็ตเวิร์ก’ (Social Network) ที่ช่วยให้ผู้คนเชื่อมต่อกันด้วยแพลตฟอร์มของตัวเอง ถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จของ Facebook เวอร์ชันที่มีเพียงนักศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) เป็นผู้ใช้งาน
การเติบโตแบบ Blitzscaling ของ Facebook เกิดจากปัจจัยหลายด้านที่ผสมกันอย่างลงตัว โดยเฉพาะการสร้างพลังของเครือข่าย (Network Effect) หรือการสร้างมูลค่าให้กับผู้ใช้งาน
ยิ่ง Facebook จูงใจให้คนเข้ามาใช้งานแพลตฟอร์มของตัวเองมากเท่าไร Facebook ก็จะยิ่งสร้างคุณค่าให้กับผู้ใช้งานคนอื่นมากเท่านั้น เพราะในคอมมูนิตี้ของแพลตฟอร์มจะเต็มไปด้วยการแบ่งปันเรื่องราวสนุกๆ ของแต่ละคน และพัฒนาเป็นความเพลิดเพลินที่ทำให้คนใช้เวลาในแพลตฟอร์มนานขึ้น
เมื่อผู้ใช้งานยอมแลกเวลาของตัวเองกับแพลตฟอร์มนานขึ้น โมเดลการสร้างรายได้สุดเฉียบจึงถือกำเนิดมาพร้อมกันด้วย นั่นคือ ‘ค่าโฆษณา’ ที่เป็นรายได้หลักของ Facebook มาจนถึงปัจจุบัน
ถึงแม้ Blitzscaling จะเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ช่วงหลายปีแรก Facebook เติบโตมากกว่า 2,000 เปอร์เซ็นต์ และมีรายได้เพิ่มจาก 0 เป็น 153 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2007) แต่มาร์กก็ไม่ได้ผลักดันให้บริษัทเติบโตแบบ Blitzscailing ตลอดเวลา และเลือกใช้เฉพาะเวลาที่จำเป็นเท่านั้น เพราะเป็นกลยุทธ์ที่เสี่ยงมาก และอาจส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสด (cash flow) ของบริษัทได้ หากวางแผนไม่ดีพอ
ดังนั้น Blitzscaling จึงเป็นเพียงหนึ่งในขั้นตอนที่ทำให้ Facebook เติบโตด้วยกลยุทธ์ที่โฟกัส ‘ความเร็ว’ (การขยายฐานผู้ใช้งาน) มากกว่า ‘ประสิทธิภาพ’ (การเพิ่มฟีเจอร์ตื่นตาตื่นใจ)
และเมื่อการเติบโตแบบสายฟ้าแลบดำเนินไปถึงจุดหนึ่ง Facebook ก็ค่อยๆ ลดระดับ ‘ความรุนแรง’ ในการตีตลาดอย่างรวดเร็ว จนเข้าสู่ช่วง ‘สเกลอัป’ ที่เน้นประสิทธิภาพและความมั่นคง อย่างที่มาร์กกล่าวไว้ในการประกาศผลประกอบการไตรมาส 4/2022 ว่า “2023 จะเป็นปีแห่งประสิทธิภาพของ Meta”
ถึงแม้ Blitzscaling จะเป็น ‘ตัวเร่ง’ ที่ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีอำนาจการแข่งขันเหนือคู่แข่ง แต่ในความเป็นจริง ทุกสิ่งมีราคาต้องจ่าย การเติบโตแบบสายฟ้าแลบ ย่อมแลกมาด้วยความเสี่ยงรอบด้าน
ดังนั้น การเตรียมพร้อมและรับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นก็สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งเป็นสิ่งที่นักธุรกิจควรประเมินไว้ตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ เพื่อให้การเติบโตแบบ Blitzscaling มีประสิทธิภาพสูงสุด และไม่เป็นเพียงกลยุทธ์ของคนใจกล้าที่เลือกจะ ‘เผาเงิน’ จนทำให้ธุรกิจของตัวเองสูญเสียเม็ดเงินจำนวนมหาศาล
Source: หนังสือ Blitzscaling เขียนโดย รี้ด ฮอฟฟ์แมน (Reid Hoffman) และคริส เยห์ (Chris Yeh) แปลโดย กมลวรรณ พยุหะเกียรติ