LOADING

Type to search

อย่างงี้ก็มีด้วยเหรอ? รู้จัก ‘Exit’ สตาร์ตอัปรับจ้างลาออกแทนของญี่ปุ่น

อย่างงี้ก็มีด้วยเหรอ? รู้จัก ‘Exit’ สตาร์ตอัปรับจ้างลาออกแทนของญี่ปุ่น
Share

แม้การลาออกจะเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องเกิดขึ้นกับมนุษย์ออฟฟิศในวันใดวันหนึ่งแน่ๆ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หลายๆ ครั้ง มันก็กลับทำให้เรารู้สึกลำบากใจอยู่ไม่น้อย แถมถ้าไม่หนักแน่นหรือไม่มีเหตุผลที่มากพอไปคุยกับหัวหน้าก็อาจจะพลอยทำให้เรารู้สึกผิดตามไปด้วย

ดังนั้น จึงไม่แปลกว่า ทำไมบางคนถึงเลือกที่จะ Quiet Quitting ทิ้งใจ แต่ไม่ทิ้งตัว ยังคงกายหยาบนั่งปั่นงานต่อไปเรื่อยๆ นั่นเอง แล้วถ้าเราอยากลาออก แต่ไม่กล้าเดินไปยื่นซองขาวเพราะกลัวรู้สึกผิดจะทำอย่างไร? บทความนี้ Future Trends จะพาไปรู้จักกับ ‘Exit’ สตาร์ตอัปรับจ้างลาออกแทนของญี่ปุ่นกัน

แดนอาทิตย์อุทัยกับ ‘วัฒนธรรมการทำงานหนัก’

exit-startup-resignation 1
Image by wayhomestudio on Freepik

ตามปกติแล้ว ในสังคมการทำงานของญี่ปุ่นจะมีวัฒนธรรมเชิดชูการทำงานหนัก การทำงานถวายหัวจนตัวตาย มองว่า ‘ความสำเร็จคือความมุ่งมั่นระยะยาว’ ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลให้ระดับความพึงพอใจของพนักงานต่ำ แต่ในขณะเดียวกัน อัตราการลาออกก็ไม่เกิดขึ้นบ่อยด้วย

เมื่อเป็นแบบนี้เข้า พอพนักงานบางคนที่ไม่แฮปปี้กับงานตรงหน้า รู้สึกว่า งานไม่ตอบโจทย์เป้าหมายในชีวิตอีกต่อไปแล้ว ก็เลยเลือกที่จะกล้ำกลืนฝืนทน อดทนทำต่อไป แม้มันจะค่อยๆ บ่อนทอนทั้งสุขภาพกาย และจิตใจไปทีละนิดก็ตาม

‘Exit’ สตาร์ตอัปยุคใหม่รับจ้างลาออกแทน

exit-startup-resignation 2

‘Exit’ คือบริษัทสตาร์ตอัปยุคใหม่สัญชาติญี่ปุ่นที่ก่อตั้งโดยโทชิยูคิ นิโน (Toshiyuki Niino) และยูชิโร่ โอกาซากิ (Yuichiro Okazaki) โดยมีบริการหลักในการรับจ้างลาออกแทนในเรตราคา 20,000 เยน หรือตีเป็นเงินไทยราวๆ 5,000 บาทเท่านั้น เพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องรู้สึกอึดอัดลำบากใจเวลาไปบอกหัวหน้า และทำให้การลาออกนั้นราบรื่นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ซึ่งบริษัทนี้มีจุดเริ่มต้นมาจาก Pain Point ในปี 2560 เมื่อนิโน ผู้ร่วมก่อตั้งต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก เขาพยายามลาออกจากงาน แต่กลับรู้สึกผิดโดยใช่เหตุ โดยหลังจากนั้นเขาก็ได้หุ้นกับเพื่อนสมัยเด็กก่อตั้ง Exit ขึ้น

นิโนเผยกับสื่อว่า ส่วนใหญ่ลูกค้าของเขาเป็นผู้ชายอายุ 20 ปี พวกเขากลัวที่จะบอกหัวหน้า และรู้สึกผิดกับความต้องการลาออกของตัวเอง อีกทั้งการใช้บริการของ Exit ก็ช่วยให้พวกเขาหยุดคิดเรื่องการฆ่าตัวตายจากความเครียดในงานได้สำเร็จ

หรือญี่ปุ่นกำลังจะเข้าสู่ ‘The Great Resignation’?

ผลสำรวจของ PwC จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างประมาณ 20,000 คน ในเอเชียแปซิฟิกพบว่า มีพนักงานน้อยกว่า 1 ใน 3 ที่รู้สึกพอใจกับงานของตน และ 1 ใน 5 ยังบอกว่า วางแผนจะเปลี่ยนงานใหม่ สอดคล้องกับข้อมูลของ Exit ที่ระบุว่า ทุกวันนี้มีผู้ใช้บริการมากถึง 10,000 คนต่อปีเลยทีเดียว

Exit คือหนึ่งในโมเดลการทำธุรกิจที่น่าสนใจ และตอบสนองความคับข้องใจของคนยุคนี้ได้อย่างดีเยี่ยม แต่หนทางที่ดีที่สุดคือ ไม่ต้องฝืน ไม่ต้องรู้สึกผิดหรอก เพราะสุดท้ายแล้ว ในชีวิตนี้เราสามารถลาออกจากงานได้นับไม่ถ้วน แต่สิ่งหนึ่งที่ลาออกไม่ได้แน่ๆ นั่นคือ ‘การลาออกจากการเป็นตัวเอง’ ต่างหาก

Sources: https://yhoo.it/3P9lJ95

https://bit.ly/3P49Xg4

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1