Type to search

ปัญหาไก่กับไข่ ‘EV Car’ หรือ ‘Charging Station’ ปมใหญ่รถยนต์ไฟฟ้า อะไรจะมาก่อนกัน ?

September 20, 2022 By Future Trends

EV Car หรือ Charging Station อะไรจะมาก่อนกัน ?

บทความที่แล้ว ผมได้กล่าวถึงตลาดรถยนต์ไฟฟ้าว่า ในปี 2022 มีการวิเคราะห์กันว่า จะมี EV Car ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคัน คิดเป็นสัดส่วนจะแตะเกือบ 10% ของรถยนต์ทั้งหมดในโลก ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2019 ที่ EV Car มีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของรถยนต์ทั่วโลก จึงหมายความว่า EV Car โตขึ้นกว่า10 เท่า ในระยะเวลาเพียง 2-3 ปีเท่านั้น

จนทำให้หลายประเทศถึงกับประกาศว่า ภายในปี 2030-2035 รถยนต์ที่ขายใหม่ทั้งหมดในตลาดจะเป็น รถยนต์ไฟฟ้า 100%

นับเป็นกระแสที่มาแรงมาก ทำให้ในแง่หนึ่ง คงมีงานหลายส่วนที่โดน Disrupt ไปเยอะแน่นอน โดยเฉพาะไทย ที่ปัจจุบันมีแรงงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ประมาณ 7-8 แสนคน ซึ่งคำถามที่น่ากังวลคือ แรงงานมากมายเหล่านี้ จะเป็นอย่างไรต่อไปท่ามกลางกระแส EV Car ที่ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ เป็นโจทย์ใหญ่ที่ภาครัฐและเอกชนไทยต้องหาคำตอบให้ดี

(คลิกเพื่ออ่าน ‘EV Car’ ความท้าทายของอุตสาหกรรมรถยนต์ ไทยจะอยู่จุดไหนและรับมืออย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว)

ความเคลื่อนไหวใหม่ที่น่าสนใจ

ล่าสุด WHA หรือ กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินให้กับ บริษัท บีวายดี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ BYD บริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากจีน จำนวน 600 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรม WHA 36 จ.ระยอง เพื่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

ถือเป็นโรงงานผลิต EV Car นอกประเทศจีนแห่งแรกของ BYD โดยคาดว่า จะเริ่มผลิตได้ในปี 2567 ด้วยกำลังการผลิต 150,000 คันต่อปี เพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียนและยุโรป และ BYD ยังได้แต่งตั้ง บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด ให้เป็นผู้แทนจำหน่าย BYD แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา โดยตั้งเป้ายอดขายในปีแรกกว่า 10,000 คัน

การลงทุนในครั้งนี้ BYD ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Thailand Board of Investment หรือ BOI) อนุมัติการลงทุนเป็นมูลค่า 17,891 ล้านบาท สำหรับซื้อที่ดินและสร้างโรงงาน

นับเป็นสัญญาณที่ดีในภาคอุตสาหกรรมไทยไม่น้อย ซึ่งคุณจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม WHA ได้กล่าวไว้ในข่าวอย่างน่าสนใจว่า

“ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นฮับของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าได้ระดับโลก โดยปัจจุบัน WHA มีค่ายรถยนต์ที่ผลิตรถ EV รายใหญ่เป็นลูกค้าอยู่ในนิคมฯ ทั้งเกรท วอลล์ มอเตอร์ (GWM) เซี่ยงไฮ้ มอเตอร์ ที่ผลิต MG และรายล่าสุดคือ BYD โดยเชื่อว่าในอนาคต Top 5 ของผู้ผลิตรถยนต์ EV ในประเทศจีน จะเข้ามาลงทุนในไทยทั้งหมดเพราะเราได้มีการพูดคุยไปแล้ว”

ผมเคยตั้งขอสังเกตไว้ว่า หาก EV Car สามารถทำราคาได้ถูกลงหรือราคาเริ่มต้นใกล้เคียงกับ Eco Car สันดาปน้ำมัน จะกระตุ้นการให้คนหันมาเลือกใช้ EV Car กันมากขึ้น โดยเฉพาะการเลือกเป็นรถยนต์คันแรก

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหนึ่งที่ผู้ใช้บริโภคยังกังวลที่เลือกใช้ EV Car แทนรถยนต์สันดาป คือ Charging Station หรือสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบันมีเพียงพอให้สะดวกต่อการใช้งานหรือไม่ ?

ปัจจุบัน Charging Station ประเทศไทยเป็นอย่างไร

ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ระบุว่า สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในไทยปัจจุบัน (ข้อมูลเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2565) มีจำนวน 944 สถานี แบ่งเป็น เขตพื้นที่ กทม. นนทบุรี และปทุมธานี รวม 473 สถานี ภาคกลาง 152 สถานี ภาคใต้ 115 สถานี ภาคเหนือ 109 สถานี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 95 สถานี (ออกต่างจังหวัดคงต้องวางแผนกันหน่อย)

ขณะที่สถานีน้ำมันและแก๊สทั่วประเทศไทย มีจำนวนเกือบ 3 หมื่นสถานี (สถานีเจ้าใหญ่ กว่า 6 พันกว่าแห่ง รวมถึงสถานีบริการชุมชน สนานีอิสระ และ NGV/LPG) หรือมีมากกว่าสถานีชาร์จไฟฟ้าประมาณ 30 เท่า นับว่ารถยนต์สันดาปน้ำมันยังมีความได้เปรียบเรื่องความสะดวกในการเติมพลังงานจากจุดเติมที่มีมากกว่า

ในแง่หนึ่ง การที่สถานีหรือจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ายังมีน้อย ถือเป็นโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนทำในส่วนนี้ เราได้เห็นเครื่องเติมเงิน ขายสินค้า หรือเครื่องดื่มอัตโนมัติ ที่ผลิตโดยเอกชนไทยมาแล้ว การทำจุดชาร์จคงไม่ใช่เรื่องยากเกินศักยภาพด้านเทคโนโลยีที่มี

“EV Car มากขึ้นกว่านี้ Charging Station จึงจะมากขึ้นตาม หรือต้องมี Charging Station มากกว่านี้ก่อน EV Car จึงจะมากขึ้นตาม” ยังเป็นปัญหา ไก่กับไข่ อะไรมาก่อนกัน

ยักษ์ใหญ่เคลื่อนไหวอะไรไปบ้าง

ส่วนหนึ่งหลายคนคงมุ่งเป้าไปที่ยักษ์ใหญ่อย่าง ปตท. ที่มีสถานีน้ำมัน 2 พันกว่าแห่งทั่วประเทศ จะเคลื่อนไหวอย่างไรในกระแสรถยนต์ไฟฟ้านี้

ข้อมูลจาก สนพ. เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2565 ระบุว่า ปตท. มีสถานีชาร์จไฟฟ้า 108 สถานี และบริษัทย่อยที่ ปตท. เป็นผู้ถือหุ้น 100% อย่างบริษัท อรุณ พลัส จำกัด อีก 3 สถานี รวมเป็น 111 สถานีเท่านั้น ทั้งที่ปลายปี 2564 ที่ผ่านมา ปตท. ได้ตั้งเป้าขยายสถานีชาร์จไว้ที่ 1,000 แห่ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2565 ปตท. ได้เปิดตัว 6 กลยุทธ์ ผลักด้านธุรกิจ EV Car เพื่อตอบรับกระแสรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีการลงทุนด้านสถานีชาร์จด้วย คือ

1) ธุรกิจแบตเตอรี่ เช่น การจับมือกับ GPSC ภายใต้ “NUOVO PLUS” 2) ธุรกิจผลิต EV ซึ่งจะผลิตทั้งกลุ่มรถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ EV และ E Bus โดย ปตท. ได้ร่วมทุน Foxconn เปิดโรงงานผ่าน บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด (Horizon Plus) ตั้งเป้าผลิต ราว 50,000 คันต่อปี และในปี 2567 อาจมีการเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 150,000 คันต่อปี 3) ธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับรถ EV (EV service platform) ภายใต้ชื่อ EV ME เช่น บริการทดลองใช้รถ EV ก่อนตัดสินใจซื้อ ผ่านรถ EV หลายยี่ห้อที่ขายในประเทศไทย 4) ธุรกิจ EV Charger 5) ธุรกิจ Swapping Station ผ่าน Swap & Go เป็นการให้บริการสลับแบตเตอรี่แบบไม่ต้องรอชาร์จ 6) ธุรกิจบริการบำรุงซ่อมรักษารถ EV และ แบตเตอรี่

ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา ปตท. จับมือ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และบริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี จำกัด ขยายสถานีชาร์จไฟฟ้า ในศูนย์การค้าเครือเซ็นทรัล ทั้ง 37 สาขา ในพื้นที่ 18 จังหวัด รวม 400 ช่องจอด ภายในสิ้นปี 2565

นับว่าเป็นสัญญาณที่ดี ที่ยักษ์ใหญ่อย่าง ปตท. เคลื่อนไหวสอดรับกับกระแส แต่คงต้องจับตาดูกันต่อไป รวมถึงเจ้าอื่นๆ ในตลาดด้วยว่าจะออกมาตอบรับกระแสนี้อย่างไร

ไม่เพียงแค่นั้น ข่าวมาแรงล่าสุด เมื่อปลายเดือน ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา โตโยต้า หนึ่งในยักษ์ใหญ่ของโลก ประกาศลงทุนกว่า 5,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2 แสนล้านบาท เพื่อผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า 100% ทั้งยังตั้งเป้ายอดขายที่ 3.5 ล้านคันต่อปี ภายใน 2035 อีกด้วย (ผมว่าน้อยไปหน่อย)

เป็นการกระตุ้นให้คนหันมาสนใจ เลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย (ประกันภัย อู่ซ่อมรถ เป็นต้น) อีกทั้งไทยสามารถผลิต รถบัสไฟฟ้า (Electric Bus) ได้เอง 100% เป็นศักยภาพอีกด้าน ที่จะส่งผลต่อภาคธุรกิจขนส่งมวลชนอย่างมากแน่นอน

ในสมรภูมิ EV Car & Charging Station นี้ ผมคิดว่า ต่อไปคงต้องวัดกันที่ราคา น่าจะสู้กันสนุกเลยทีเดียว ซึ่งก่อนหน้านี้ บ้านเราจะมีแค่รถจากญี่ปุ่นและยุโรปเป็นหลัก แต่พอเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว มีจีนกับอเมริกาเข้ามานำตลาด เรียกว่า ชกกันมัน ยังไม่รวมถึงกลุ่มบริษัทเทคฯ ที่อาจกระโดดเข้ามาร่วมสังเวียนอีก ใครจะอยู่ใครจะไปต้องดูกันยาวๆ

ถึงตรงนี้ ไก่กับไข่ อะไรจะมาก่อนกัน ผมคงไม่กล้าฟันธงไปชัดๆ แต่หวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้ภาพชัดเจนขึ้นได้บ้าง ในฐานะผู้บริโภค จะซื้อรถมาใช้ก่อน หรือจะรอสถานีชาร์จมีเยอะกว่านี้อีกหน่อย คงต้องตอบด้วยตัวเอง

Trending

    Future Trends

    Future Trends

    Knowing The Future, Be The Winners of Tomorrow การรู้อนาคตทำให้เราเป็นผู้ชนะของวันพรุ่งนี้