[ESG Work & Life] ‘Green Jobs & Skills’ ทักษะและงานสีเขียว เทรนด์อาชีพรับกระแสโลกยั่งยืน
.
.
ปัจจุบันที่กำลังเข้าสู่สภาวะโลกเดือด (Global Boiling) ที่มีสาเหตุหลักมาจากกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้น การให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) จึงมีแนวโน้มที่จะเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ
.
โดยเฉพาะเทรนด์เรื่องการกำหนด ‘เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน’ (Sustainable Development Goals) หรือ SDGs 17 เป้าหมาย ที่ต้องการจะบรรลุภายในปี 2030 และในภาคธุรกิจเองก็มีเทรนด์เรื่อง ESG ที่มีแนวคิดว่าการทำธุรกิจจะต้องคำนึงถึงเรื่อง สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance)
.
ทำให้ทักษะและอาชีพที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนสำคัญและมีแนวโน้มที่จะเป็นที่ต้องการมากขึ้นด้วยเช่นกัน
.
.
[ ทักษะสีเขียวและกลุ่มงานสีเขียว มีแนวโน้มเป็นที่ต้องการมากขึ้น]
.
คนทำงานที่มี Green Skills หรือ ทักษะสีเขียว และคนที่ทำงานในกลุ่ม Green Jobs หรือ กลุ่มงานสีเขียว มีแนวโน้มเป็นที่ต้องการมากขึ้น เห็นได้จากข้อมูลในสหรัฐอเมริกา พบว่า ช่วงปี 2017 – 2022 มีการจ้างงานในกลุ่มธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน เพิ่มขึ้น 237% ขณะที่การจ้างงานในอุตสหากรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลและก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้นเพียง 19%
.
ส่วนรายงาน Global Green Skills ของ LinkedIn ระบุว่า มีการจ้างงานที่ต้องการผู้ที่มีความรู้และทักษะสีเขียวเพิ่มขึ้น 6% โดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิก ที่มีความต้องการตำแหน่ง ผู้จัดการด้านความยั่งยืน เพิ่มขึ้นในช่วงปี 2015 – 2021 เป็นอย่างมาก โดยในสิงคโปร์เพิ่มขึ้น 40% จีน 33% และออสเตรเลีย 24%
.
.
ข้อมูลของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ระบุว่า Green Jobs หรือกลุ่มงานสีเขียว หมายถึง กลุ่มงานที่มีเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในการสนับสนุนการพัฒนามนุษย์ ในการทำธุรกิจที่ไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังช่วยให้สังคมเติบโตอย่างยั่งยืนและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
.
ขณะที่ รายงานของ ECMC Group พบว่า Gen Z 40% ในอเมริกา แสดงความกังวลต่อสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน และคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ทั้งโลกต้องให้ความสนใจ
.
สิ่งเหล่านี้ สะท้อนแน้วโน้มด้านความต้องการคนที่มีทักษะและกลุ่มงานสีเขียว เพื่อเข้ามาช่วยตอบโจทย์ธุรกิจและโลกเพื่อการอยู่รอดและยั่งยืนต่อไป
.
.
[ 5 Green Jobs ที่น่าสนใจในปี 2024 ]
.
กลุ่มงานสีเขียวที่น่าจับตามองในปี 2024 ประกอบด้วย
.
1.ผู้จัดการฝ่ายความยั่งยืน (Sustainability Manager) : มีหน้าที่วิเคราะห์ผลกระทบทางนิเวศวิทยาและสังคมของบริษัท พัฒนากลยุทธ์ระยะสั้นและระยะยาวในการปรับโมเดลและการดำเนินธุรกิจ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการผลิตแบบหมุนเวียน และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ
.
2. ช่างเทคนิคกังหันลม (Wind Turbine Technician) : รับผิดชอบในการติดตั้งใช้งาน บำรุงรักษา และซ่อมแซมกังหันลม โดยข้อมูลจาก World Wind Energy Association (WWEA) พบว่า มูลค่าธุรกิจกังหันลมในตลาดโลกเพิ่มขึ้นในปี 2021โดยกังหันลมที่มีกำลังการผลิตรวม 97.5 กิกะวัตต์ ได้ถูกติดตั้งแล้วทั่วโลก
.
3. นักนิเวศวิทยา (Ecologist) : ทำหน้าที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพืช สัตว์ มนุษย์ และสิ่งแวดล้อม โดยสำรวจผลกระทบที่ต่างฝ่ายมีต่อกัน รวมถึงศึกษาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เพื่อทำความเข้าใจสาเหตุและพัฒนาวิธีการแก้ไข
.
4. ที่ปรึกษาด้านพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Consultant) : เนื่องด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกในปี 2020 ที่ขยายตัวกว่า 45% จากปีก่อนหน้า ทำให้มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกและช่วยเหลือลูกค้าในการเลือกระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดตามความต้องการ
.
5. ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย (Environmental Health and Safety Specialist) : ทำหน้าที่ตรวจสอบและติดตามเทคโนโลยี เครื่องจักร และกระบวนการต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าได้มาตรฐานความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อมที่กำหนด โดยจำเป็นต้องมีความรู้เฉพาะทางเกี่ยวกับนโยบายและข้อกำหนดในหลายอุตสาหกรรม
.
.
แม้หลายคนอาจไม่ได้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม พลังงาน หรือความยั่งยืนโดยตรง แต่ยังจำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะสีเขียวที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ไว้ เพื่อรับมือและเข้าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่จะไปสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืนต่อไป
.
เรียบเรียงโดย ภูธิชย์ อรัญพูล
#FutureTrends #FutureTrendsetter #FutureTrendsWorkandLife #FutureTrendsESG
Sources:
Sustainable Development Goals https://www.sdgmove.com/intro-to-sdgs/
.
รายงาน Trend 2024 เจาะเทรนด์โลก โดย TCDC