LOADING

Type to search

“อย่าหัดให้พ่อแม่เป็นคนอ่อนแอสิ” เมื่อทุกคนมีธุระของตัวเอง และคนเป็นหัวหน้าต้องมี empathy ให้มาก

“อย่าหัดให้พ่อแม่เป็นคนอ่อนแอสิ” เมื่อทุกคนมีธุระของตัวเอง และคนเป็นหัวหน้าต้องมี empathy ให้มาก
Share

“หัวหน้า สัปดาห์หน้าขอลากิจไปธุรส่วนตัวนะคะ”
“ลากิจไปทำธุระเหรอคะ ธุระอะไรเอ่ย?”
“ลาไปเที่ยวค่ะ”
“ลาพาพ่อแม่ไปหาหมอค่ะ”

ไม่ต้องอธิบายอะไรมาก คิดว่า หลายคนที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ น่าจะเข้าใจความอึดอัดจากการโดนถามกลับทำนองนี้เป็นอย่างดี ที่ถึงจะบอกหัวหน้าไปแล้วว่า ลากิจไปทำธุระส่วนตัว แต่ก็ยังโดนถามเกี่ยวกับรายละเอียดของการลาต่อ

อลิสัน กรีน (Alison Green) มนุษย์ออฟฟิศชาวสหรัฐอมริกาเคยเล่าในบล็อกบนเว็บไซต์อาร์ก เอ เมเนเจอร์ (Ask A Manager) ไว้ว่า ตัวเธอเองก็เคยมีประสบการณ์แบบนี้อยู่เหมือนกัน ตามปกติ เวลาที่เธอยื่นใบลา หัวหน้ามักจะถามกลับถึงเหตุผลในการลาครั้งนั้นๆ ก่อนจะอนุมัติ

ครั้งหนึ่ง เมื่อได้รับคำถาม เธอได้ให้เหตุผลไปว่า ‘เรื่องส่วนตัว’ ทว่า หัวหน้าก็ดันถามกลับมาซ้ำอีกว่า เขาจะขอบคุณมากถ้าเธอให้เหตุผลที่ละเอียดกว่านี้สักเล็กน้อยหน่อย ซึ่งแน่นอนว่า สิ่งนี้ทำให้เธออึดอัดเป็นอย่างมาก เพราะแท้จริงแล้ว เรื่องส่วนตัวของอลิสันนั้นคือ การใช้เวลาว่างเพื่อหางานใหม่ในต่างประเทศที่ไม่ต้องการให้หัวหน้ารับรู้

โดยเธอมองว่า ตัวเองสมควรที่จะได้รับสิทธิ์ความเป็นส่วนตัว แต่ถ้าว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว ตามบทบัญญัติของกฎหมายไม่ใช่เรื่องผิดนัก และไม่มีอะไรมาหยุดให้หัวหน้าถามได้ ซึ่งมนุษย์ออฟฟิศอย่างเธอเองก็คงหนีไม่พ้นการตอบอะไรสักอย่างกลับอีกเช่นเคย

อลิสันแนะนำคนอ่านไว้ว่า หากใครกำลังเผชิญกับสถานการณ์ความกระอักกระอ่วนทำนองนี้ เธอมี 3 ทางเลือกที่อยากแนะนำด้วยกัน อย่างแรก คืออาจจะลองชี้ให้หัวหน้าเห็นว่า สิ่งที่พวกเขาถามมานั้นไม่สมเหตุสมผลเท่าไร แถมดูเป็นการละลาบละล้วงด้วย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นใคร หรือตำแหน่งไหนต่างก็สมควรได้รับสิทธิ์ในการลาตามที่ถูกกำหนดไว้

อย่างที่สอง เธอแนะนำว่า ลองให้เหตุผลแบบอ้อมๆ เป็นความจริงที่คลุมเครือ ยกตัวอย่างเช่น ครอบครัวของคุณมีเรื่องเกิดขึ้น ซึ่งเรื่องที่ว่านั่นก็คือ เรื่องของคุณที่ต้องการเวลาว่างในการหางานใหม่นั่นเอง ฮั่นแน่!

ส่วนอย่างสุดท้าย อลิสันบอกว่า ถ้าการลาของคุณชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้เดินหน้าต่อเลย โดยในตัวเลือกนี้ผู้เขียนเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า หมายถึงการบอกหัวหน้าอย่างตรงไปตรงมาเลยรึเปล่า? แต่เธอได้บอกไว้ว่า ถ้าการลาของคุณอยู่ในช่วงเวลาที่ทีมยากลำบาก พวกเขาก็อาจถามว่า คุณมีความยืดหยุ่นในเรื่องเวลาหรือไม่? แนะนำว่า ให้ทำตัวเหมือนกับว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นสักอย่าง เพื่อเวลาที่มีเรื่องหรือปัญหาในช่วงนั้น พวกเขาจะได้ทักไปหาคนอื่นนั่นเอง

เช่นเดียวกัน ดราม่าเดือดล่าสุดบนโลกออนไลน์ในสัปดาห์ก่อนก็มีใจความหลักคล้ายกับสถานการณ์ที่อลิสันเจอ แต่อาจจะดูรุนแรงกว่าด้วยซ้ำ เพราะการที่ลูกน้องบอกเหตุผลการลากิจตรงๆ ว่า พาพ่อแม่ไปทำธุระบางอย่าง ส่งผลให้คนที่เป็นหัวหน้าตอบกลับมาว่า “การลางาน หากจำเป็นจริงๆ ก็ไม่ว่ากัน แต่เราต้องหัดแก้ไขปัญหาดูก่อน ให้ใครพาพ่อแม่ไปแทนได้มั้ย.. หรือหากสามารถไปเองได้ ก็อย่าหัดให้พ่อแม่เป็นคนอ่อนแอกันนะครับ… หรือจำเป็นต้องลาทั้งวันมั้ย.. คิดเองตามความเหมาะสม..”

อย่างไรก็ตาม แม้บางคน และตัวผู้เขียนจะมีมุมมองที่ว่า การลากิจนั้นเป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่จำเป็นต้องบอกหัวหน้าก็ได้ แต่หากไล่เรียงไปดูที่กฎหมายแล้ว บ้านเราก็มีการบัญญัติไว้ไม่ต่างจากประเทศที่อลิสันอาศัยเช่นกัน

ทั้งนี้ ตามพ.ร.บ.แรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 มาตรา 34 ได้ระบุว่า “ให้ลูกจ้างมีสิทธิ์ลาเพื่อกิจธุระอันจําเป็นตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานไม่น้อยกว่า 3 วันต่อปี” นั่นแปลว่า ลูกน้องมีสิทธิ์ลาได้ แต่ในขณะเดียวกัน หากการลานั้นไม่สมเหตุสมผล อย่างการลาเพราะอยากใช้วันลาให้หมด หัวหน้าก็มีสิทธิ์จะไม่อนุมัติได้

ในทางตรงกันข้าม พอลาแล้วต้องบอกเหตุผล ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกอึดอัดใจ โดยหนึ่งในนั้นก็คือลูกน้องที่แคปแชตการคุยกับหัวหน้าท่านนั้นมาลงโซเชียลมีเดีย แต่สมมติบางคนรู้สึกอึดอัดจริงๆ ไม่อยากบอกเหตุผลที่แท้จริงไป ก็แนะนำว่า ให้เปลี่ยนเป็นการลาพักร้อน ใช้สิทธิ์ตามสวัสดิการขององค์กรจะดีกว่า

ซึ่งในแง่มุมของการบอกตรงๆ ว่า พาพ่อแม่ไปหาหมอ เพจกฎหมายแรงงานได้อธิบายว่า ถือเป็นกิจจำเป็นตามกฎหมาย ต้องดำเนินการด้วยตัวเอง และในขณะเดียวกัน นี่ก็รวมไปถึงการลาด้วยเหตุผลอื่น ทั้งการลาไปร่วมงานแต่งงาน การลาไปร่วมงานบวชของลูก การลาไปร่วมงานศพของคนในครอบครัว หรือการลาไปทำบัตรประชาชน ใบขับขี่ หรือจดทะเบียนสมรสก็ด้วย

เพราะได้มีการระบุไว้ว่า การดูแลพ่อแม่หรือคนในครอบครัวนั้นเป็นพันธะทางศีลธรรม (Moral Obligation) ที่ต้องทำ อีกทั้ง อย่างที่ทราบกันว่า ทุกวันนี้บ้านเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุกันเป็นที่เรียบร้อย การพาพ่อแม่ไปหาหมอจึงนับเป็นสิทธิ์ที่ลูกจ้างควรได้รับ

นอกจากนี้ เรื่องความละเอียดอ่อนทางความรู้สึกก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่หัวหน้าต้องเข้าใจ และมีความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ให้มากว่า ทุกคนก็มีธุระเป็นของตัวเอง การพาพ่อแม่ไปหาหมอนั้นช่วยสร้างความรู้สึกสบายใจขึ้น มองประเด็นดังกล่าวผ่านสายตาของลูกน้องว่า เวลาคนในครอบครัวป่วยก็อาจเกิดความเครียด กังวลได้ ซึ่งบางครั้งความรู้สึกเหล่านี้ก็มาบั่นทอนทำให้ทำงานออกมาได้ไม่ดีเท่าที่ควร

อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ลูกน้องไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน สามารถรับผิดชอบงานตามสโคปของตัวเองได้ทั้งหมด การจะไปไหน ทำอะไรที่ชอบด้วยกฎหมายก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรได้รับการตอบกลับด้วยถ้อยคำเชิงตำหนิติเตียน และเป็นอะไรที่ควรเคารพ ให้เกียรติซึ่งกันและกันเหมือนอย่างที่เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) องค์กรระดับโลกมอบสิ่งนี้ให้พนักงานทุกคน

โดยถ้าคนเป็นหัวหน้าแสดงให้ลูกน้องเห็นว่า เราใส่ใจกับธุระ เรื่องสำคัญของพวกเขา ก็ย่อมส่งผลให้เกิดผลพลอยได้ตามมาหรือพูดง่ายๆ ว่า ‘เป็นการซื้อใจ’ ความตั้งใจ ทุ่มเทในการทำงาน ช่วยลดอัตราการลาออก (Turnover Rate) ลงด้วย และต่อให้วันหนึ่งพวกเขาลาออกไปแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ว่าพวกเขาจะย้อนกลับมาร่วมงานด้วยกันอีกครั้งก็ได้ หรือที่เราเรียกว่า ‘พนักงานแบบบูมเมอแรง (Boomerang Employee)’ นั่นเอง

ดังนั้น การสื่อสารจึงเป็นเรื่องที่หัวหน้าควรใช้อย่างเหมาะสมในการบริหารคน เราก็คือคน ลูกน้องก็คือคน ไม่ว่าจะเป็นเราหรือลูกน้องก็ล้วนอยากได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพในฐานะ ‘มนุษย์คนหนึ่ง’ ไม่ต่างกัน

ในทางตรงกันข้าม หากลองสวมตัวเองเป็นหัวหน้า มองลูกน้องท่านนี้แล้ว ก็มีความเป็นไปได้ว่า เขาอาจจะลางานบ่อยจนทนไม่ไหวจริงๆ ก็ได้ ซึ่งจากสายตาคนนอกอย่างเราๆ ที่ไม่ได้รู้เบื้องลึกเบื้องหลังเรื่องนี้แบบละเอียดก็อาจทำให้ไม่สามารถฟันธงได้ว่า ฝ่ายไหนผิดหรือถูกร้อยเปอร์เซ็นต์นั่นเอง แต่ขอขีดเส้นใต้ไว้สักนิดหนึ่งว่า ถ้านานๆ ขอลาที ไม่ได้ลาบ่อยแบบที่ว่า คำตอบสุดท้ายอย่าง ‘งานใหม่คืองานที่ดี’ ตามที่ชาวโซเชียลบางท่านบอกก็เป็นทางเลือกที่ดีอยู่ไม่น้อยเลย

แล้วคุณล่ะคิดยังไงกับเรื่องนี้ เคยโดนหัวหน้าตอบกลับทำนองนี้ไหม ถ้าเคย ตอนนั้นรับมือยังไงบ้าง? มาแชร์ในคอมเมนต์กัน!

Sources: https://bit.ly/39GP5sP

https://bit.ly/3NkoOyB

https://bit.ly/3nkG6kB

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1

You Might also Like