LOADING

Type to search

We Forum เผย ผู้นำยุคนี้ต้องมี Empathy Skill 3 วิธีง่ายๆ เพิ่ม ‘ความมีหัวใจ’ ในตัวคุณ

We Forum เผย ผู้นำยุคนี้ต้องมี Empathy Skill 3 วิธีง่ายๆ เพิ่ม ‘ความมีหัวใจ’ ในตัวคุณ
Share

เพราะ ‘คน’ คือหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนองค์กร ตามรายงานของเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม (World Economic Forum) ระบุว่า การเข้าใจคนอื่น ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางหรือที่เรียกว่า ‘Empathy’ จะกลายเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดของผู้นำนับจากนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19

จากผลสำรวจพบว่า กว่า 80 เปอร์เซ็นต์รู้สึกมีคุณค่า และได้รับการเคารพมากขึ้นเมื่อได้ผู้นำมี Empathy ซึ่งเป็นผลดีอย่างมาก เนื่องจากช่วยให้พนักงานรับมือกับความเครียด สร้างความจงรักภักดีต่อองค์กร และหยุดยั้งปัญหาสุดคลาสสิกแห่งยุคอย่างอัตราการลาออกของ Talent ที่มีแนวโน้มจะพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย

รวมไปถึงสัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) ซีอีโอผู้คืนชีพไมโครซอฟต์ (Microsoft) ก็เชื่อเช่นเดียวกันว่า Empathy เป็นรากฐานสำคัญของผู้นำที่ประสบความสำเร็จ และจุดประกายนวัตกรรมใหม่ๆ ในองค์กร ซึ่งไมโครซอฟต์เองก็ได้รับประโยชน์จากตรงนี้ไม่ต่างกัน เพราะถึงที่สุดแล้ว แม้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ A.I.) จะถูกพัฒนาให้ล้ำมากแค่ไหน ก็ไม่อาจเข้ามาทดแทนจิ๊กซอว์สำคัญชิ้นนี้ที่นับวันคนส่วนใหญ่ยิ่งทำ ‘หล่นหาย’ ไป

แล้วผู้นำที่เป็นคีย์แมนหลักจะพาทีมไปสู่ความสำเร็จอีกขั้นด้วย Empathy ได้ยังไงบ้าง? ในบทความนี้ Future Trends จะมาแนะนำ 3 วิธีง่ายๆ เพิ่ม ‘ความมีหัวใจ’ ในตัวผู้นำกัน

1. ‘เข้าใจ’ ให้มากขึ้น
แม้การเป็นผู้นำจะได้มาซึ่งอำนาจ แต่ท้ายที่สุดแล้ว หัวใจของการนำก็หนีไม่พ้น ‘หัวใจคน’ อยู่ดี ไม่ว่าลูกน้องจะเป็นอย่างไร อย่าเพิ่งด่วนตัดสิน ลองพยายามทำความเข้าใจผ่าน ‘มุมมองพวกเขา’ ก่อนว่า เรื่องนั้นมีต้นตอมาจากอะไร? ยกตัวอย่างเช่น แทนที่จะผลักภาระไปให้พนักงานใหม่ทันที มองผ่านสายตาของประสบการณ์คนทำงานมาหลายปีด้วยการถามว่า ทำงานมาตั้ง 1 เดือนแล้ว ยังไม่เป็นงานอีกเหรอ? ให้เปลี่ยนเป็นการกลับมาทบทวนตัวเองว่า เราสอนงานเขาดีพอแล้วหรือยัง? เพราะการจะทำงานเป็น ทำงานคล่องนั้น ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่ที่ ‘คนสอน’ ด้วย

2. ‘ใส่ใจ’ ให้มากขึ้น
‘เอาใจเราไปใส่ใจเขา’ แทนการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ฟังให้เยอะ ถามให้เยอะ โดยที่ไม่ต้องรอให้อีกฝ่ายปริปากก่อน ที่จริงก็คล้ายเวลาเราเครียด มีปัญหาบางอย่างเลยค่ะ ที่ถึงแม้เพื่อนจะช่วยอะไรไม่ได้ แต่การรับฟังเรื่องราวก็ช่วยบรรเทาเบาบางความเครียดอยู่ไม่น้อย

อาจจะเริ่มจากการตั้งคำถามง่ายๆ ว่า งานเป็นยังไงบ้าง โหลดเกินไปไหม? ไม่ใช่การคิดว่า ช่วงนี้ Work from home ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมาออฟฟิศ สบายอยู่แล้ว ที่เป็นการมองโดยขาดพร่องซึ่ง Empathy ระลึกไว้เสมอว่า เขาคือส่วนหนึ่งของทีม และทุกคนในทีมมีความสำคัญที่สุด ต้องดูแล ใส่ใจกันให้เหมือนเป็น ‘บุคคลที่เรารัก’ ไม่ใช่แค่ฟันเฟืองหนึ่งนั่นเอง

3. ‘แสดงออก’ ให้มากขึ้น
การมี Empathy ไม่ใช่สิ่งที่ควรแสดงออกด้วยการปิดทองหลังพระ แต่ก็อาจจะไม่ถึงขั้นทำดีเอาหน้าซะทีเดียว เพียงแค่ผู้นำต้องโชว์ออกมาให้เห็นผ่านการกระทำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมโอกาสดีๆ ให้ลูกน้องได้แสดงจุดแข็ง เติบโตไปอีกขั้น การจดจำสิ่งสำคัญของพวกเขา การไม่ตึงกับความผิดพลาดจนเกินไป และการนึกถึงกันอยู่เสมอๆ เช่น ไปเที่ยวทั้งทีก็อาจจะหิ้วของเล็กๆ น้อยๆ ติดมือกลับมาฝาก

เราทุกคนต่างเป็นมนุษย์ที่มีความรู้สึกนึกคิด ต้องการความเห็นอกเห็นใจไม่ต่างกัน ผู้นำควรมองลูกน้องให้ ‘เป็นมนุษย์’ ปฏิบัติกับเขาให้เหมือนกับสิ่งที่เราอยากได้รับ เติบโตไปเป็น Leadership ที่สามารถ Shift ทุกปัญหา และอุปสรรคได้จริงๆ

เก่งงานเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว แต่ก็อย่าลืมมี Empathy กับคนรอบข้างด้วยล่ะ 

Sources: https://bit.ly/3uTPBvz

https://bit.ly/3jQTZ8d

https://bit.ly/3vwo0zo

https://bit.ly/3M9HVuI

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1

You Might also Like