LOADING

Type to search

เอาชนะอคติได้ด้วยการ ‘พัฒนา’ กรณีศึกษา ‘Dynamic Island’ ความสำเร็จของ iPhone 14 Pro

เอาชนะอคติได้ด้วยการ ‘พัฒนา’ กรณีศึกษา ‘Dynamic Island’ ความสำเร็จของ iPhone 14 Pro
Share

ถ้าลูกค้าไม่ชอบสินค้าที่คุณทำ คุณจะพัฒนาสินค้าชนิดนั้นอย่างไร?

ก. ไม่ฟังเสียงลูกค้า และมุ่งมั่นขายสินค้าชนิดนั้นต่อไป

ข. ปรับเปลี่ยนทุกอย่างตามที่ลูกค้าต้องการ จนสินค้าชนิดนั้นไม่เหลือเค้าโครงเดิม

ค. พลิกมุมกลับปรับมุมมอง พยายามลดจุดด้อยและเพิ่มจุดแข็งของสินค้าชนิดนั้นแทน

หากคุณมีคำตอบในใจอยู่แล้ว ขอให้ทดคำตอบเก็บไว้ก่อน เพราะเราเชื่อว่า หลังจากที่คุณอ่านบทความนี้จบ น่าจะได้มุมมองใหม่ๆ กลับไปอย่างแน่นอน

แอปเปิล (Apple) กลับมาสร้างปรากฏการณ์อีกครั้งกับ Apple Event 2022 ‘Far out.’ งานใหญ่ปลายปีที่หลายคนรอคอย เพราะเป็นช่วงเวลาของการเปิดตัวสินค้ารุ่นเรือธงอย่าง ‘ไอโฟน’ (iPhone) ที่ตอนนี้เดินมาถึง ‘ไอโฟน 14’ (iPhone 14) แล้ว

แต่หลังจากที่ไอโฟน 14 เปิดตัวออกมา ผู้คนบนโลกออนไลน์ต่างแสดงความผิดหวังอย่างหนัก เพราะหน้าตาของตัวเครื่องยังคงละม้ายคล้ายคลึงกับไอโฟน 13 ที่เปิดตัวไปเมื่อปลายปีที่แล้ว อีกทั้งขนาดของตัวเครื่องและรอยบากขอบจอ (Notch) ยังคงเหมือนเดิมทุกประการ เรียกได้ว่า เป็นแฝดคนละฝา เธอคนนั้นคือฉันอีกคนอย่างไม่มีผิดเพี้ยน

ถึงแม้ว่า การเปิดตัวไอโฟน 14 จะไม่สามารถเรียกเสียงฮือฮาได้เท่าที่ควร แต่ไฮไลต์เด็ดของงานกลับอยู่ที่การเปิดตัวไอโฟน 14 โปร (iPhone 14 Pro) ที่มีการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่ไม่คาดฝัน นั่นก็คือการเปลี่ยนรอยบากขอบจอที่ผู้ใช้งานพร่ำบนมาตลอดให้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงผล (User Interface) บนแต่ละแอปพลิเคชันอย่างสร้างสรรค์ และแอปเปิลก็เรียกสิ่งนี้ว่า ‘ไดนามิก ไอแลนด์’ (Dynamic Island)

แล้วแอปเปิลสามารถพัฒนา ‘ไดนามิก ไอแลนด์’ ขึ้นมา เพื่อเอาชนะอคติของผู้ใช้งานได้อย่างไร? Future Trends จะมาชวนพูดคุยในประเด็นนี้ไปพร้อมๆ กัน

จาก ‘รอยบากขอบจอ’ ที่คนไม่ชอบ สู่ ‘ไดนามิก ไอแลนด์’ ที่คนชื่นชม

iPhone's Notch
Image by rawpixel.com on Freepik

ย้อนกลับไปในปี 2017 สาวกแอปเปิลและผู้ใช้งานทั่วไปได้รู้จักกับ ‘รอยบากขอบจอ’ เป็นครั้งแรกจากการเปิดตัว ‘ไอโฟนเท็น’ (iPhone X) ไอโฟนไร้ปุ่มโฮม (Home) รุ่นแรกของแอปเปิลที่เข้ามาปฏิวัติความเป็นไอโฟนแบบดั้งเดิมที่หลายๆ คนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี

ด้วยความที่ไอโฟนเท็นเป็นรุ่นที่มีการเปลี่ยนแปลงดีไซน์แบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ทำให้แอปเปิลต้องทำการบ้านอย่างหนักว่า ถ้าจะพัฒนาสมาร์ตโฟนสักเครื่องที่มีแต่หน้าจอเปล่าๆ สิ่งที่อยู่บริเวณขอบจออย่างกล้องถ่ายรูปด้านหน้า ลำโพงสนทนา และระบบเซ็นเซอร์ จะเอาไปแทรกไว้ตรงส่วนใดของหน้าจอดี?

และคำตอบก็คือ ‘รอยบากขอบจอ’ ดีไซน์ที่แอปเปิลยังคงใช้มาถึงปัจจุบันนั่นเอง

ถึงแม้ว่า รอยบากขอบจอจะเป็นดีไซน์ที่ดูจะผิดหลักการออกแบบ ‘ความเรียบง่าย’ และ ‘ความสบายตา’ ของแอปเปิลที่ยึดถือกันมานาน แต่หากคิดจากสถานการณ์เมื่อ 5 ปีก่อน รอยบากขอบจอก็น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดในเวลานั้น

หลังจากที่ไอโฟนเท็นวางจำหน่ายออกไป กลุ่มผู้นำกระแส (Early Adopter) ต่างพากันไปซื้อไอโฟนรุ่นนี้มาลองใช้ แต่กลับเจอปัญหาเกี่ยวกับรอยบากที่เกะกะสายตา และบางแอปพลิเคชันก็ไม่ได้รองรับการแสดงผลอย่างเหมาะสม ทำให้มีเสียงพร่ำบ่นเกี่ยวกับรอยบากที่เป็นส่วนเกินบ่นหน้าจอตลอดเวลา

แต่จนแล้วจนรอด แอปเปิลก็ไม่ได้มีทีท่าที่จะจัดการกับรอยบากขอบจออย่างจริงจัง มีเพียงการปรับลดขนาดรอยบากให้เล็กลง และปรับการแสดงผลให้เข้ากับรอยบากยิ่งขึ้น ทั้งๆ ที่คู่แข่งบางรายนำหน้าไปไกลถึงขั้นซ่อนองค์ประกอบในรอยบากไปที่ด้านใต้ของหน้าจอได้แล้ว

และในที่สุดวันที่แอปเปิลสามารถจัดการกับรอยบากได้สำเร็จก็มาถึง เมื่อ ‘ไดนามิก ไอแลนด์’ คือทางออกของปัญหาที่ค้างคามาเกือบ 5 ปี สิ่งนี้ถือเป็นการแก้เกมอันชาญฉลาดด้วยการกลบจุดด้อยและพลิกสิ่งที่เป็นปัญหาให้กลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ซึ่งแอปเปิลเลือกที่จะพัฒนานวัตกรรมใหม่และกำจัดรอยบากออกไปเลยก็ได้ แต่การทำเช่นนั้น ถือเป็นการเสียเงินทุนและทรัพยากรไปโดยใช่เหตุ

(สามารถทำความรู้จักกับ ‘ไดนามิก ไอแลนด์’ นวัตกรรมสุดร้อนแรงจากแอปเปิลได้ที่ https://bit.ly/3BtKxRZ เพื่อเพิ่มอรรถรสในการอ่านบทความนี้ให้สนุกขึ้น)

‘ไดนามิก ไอแลนด์’ ผลผลิตของการเอาชนะอคติด้วยแนวคิด ‘Keep It Simple’

Dynamic Island
Image by 9to5mac.com

“ผู้คนไม่รู้ว่าเขาต้องการอะไร จนกระทั่งคุณได้โชว์สิ่งนั้นออกมา” (“People don’t know what the want until you show it to them.”)

สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs)

ผู้ใช้งานเข้าใจดีว่า ทำไมต้องมีรอยบากบนขอบจอไอโฟน แต่ปัญหาของรอยบากคือ ‘ความเกะกะสายตา’ ทำให้ผู้ใช้งานต้องการดีไซน์หน้าจอแบบใหม่ที่ไม่มีรอยบากอีกต่อไป

คุณเห็นประเด็นที่ซ่อนอยู่ในย่อหน้าที่ผ่านมาหรือเปล่า?

จริงๆ แล้ว ผู้ใช้งานไม่ได้ยินดียินร้ายกับการมีรอยบาก แต่ปัญหาคือรอยบากทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกเกะกะและไม่สบายตานั่นเอง

ดังนั้น โจทย์ที่แท้จริงของแอปเปิล คือการหาวิธีที่จะทำให้รอยบากไม่เกะกะสายตาอีกต่อไป ไม่ใช่การกำจัดรอยบากออกไปอย่างที่ใครหลายๆ คนคิด

“ทำทุกอย่างให้ง่ายเข้าไว้” (Keep It Simple)

คอนเซปต์สุดคลาสสิกที่สะท้อนความเชื่อว่า ‘คิดให้ง่ายที่สุด ทำให้ง่ายที่สุด แล้วจะได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดแม้จะใช้วิธีที่ง่ายก็ตาม’

ซึ่งแอปเปิลก็ได้ใช้แนวคิดนี้ในการแก้ปัญหา จนได้แนวทางสุดสร้างสรรค์ออกมาเป็นการใช้ประโยชน์จากความเกะกะของรอยบาก ถ้ารอยบากเคยเป็นสิ่งที่เกะกะก็แค่ทำให้ขยับไปมาและใช้งานได้จริงแทน

หลังจากที่ผ่านกระบวนการต่างๆ มาอย่างยากลำบาก ก็ถึงเวลาที่ ‘ไดนามิก ไอแลนด์’ จะออกมาโลดแล่นสู่สายตาของผู้คนทั้งโลก…

Sources: https://bit.ly/3Bsu6Ff

https://cnet.co/3BqhD56

https://bit.ly/3qqPHI8

https://bit.ly/3TYKUes

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like