LOADING

Type to search

เพราะร่ำรวย มีทรัพยากรครบครัน ดัน ‘ดูไบ’ ขึ้นแท่นเป็นมหานครเทคโนโลยีระดับโลก อีกไกลแค่ไหนกว่า ‘ไทย’ จะไปถึง?

เพราะร่ำรวย มีทรัพยากรครบครัน ดัน ‘ดูไบ’ ขึ้นแท่นเป็นมหานครเทคโนโลยีระดับโลก อีกไกลแค่ไหนกว่า ‘ไทย’ จะไปถึง?
Share

เมื่อพูดถึง ‘ดูไบ’ ทุกคนนึกถึงอะไรเป็นอย่างแรก?

เมืองสวรรค์แห่งการลี้ภัยของผู้ร้ายข้ามแดน

เมืองแห่งความหรูหราที่เป็นถิ่นที่อยู่ของเหล่ามหาเศรษฐี

เมืองแห่งธุรกิจค้าน้ำมันรายใหญ่ของโลก

เมืองที่ขายทองเหมือนขายสินค้าหาบเร่ข้างทาง

ถึงแม้ว่า ภาพจำของดูไบในสายตาแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่เกี่ยวกับดูไบที่หลายๆ คนน่าจะเห็นพ้องต้องกันก็คือ ‘ความร่ำรวย’ จนมีคำเรียกที่ขนานนามผู้คนในเมืองนี้ว่า ‘เศรษฐีดูไบ’ และด้วยความที่ชื่อของดูไบอยู่บนพื้นที่สื่อมาอย่างยาวนาน ก็ทำให้หลายๆ คนเข้าใจผิดว่า ดูไบมีสถานะเป็นประเทศ แต่แท้จริงแล้ว ดูไบเป็นเพียง 1 ใน 7 เมืองของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เท่านั้น

ภาพจำเกี่ยวกับความร่ำรวยของดูไบเด่นชัดเสียจนทำให้เรามองข้ามความเป็นดูไบในมิติอื่นไป โดยเฉพาะความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีที่ไม่เป็นสองรองใคร รวมถึงการผลักดันให้เมืองของตัวเองก้าวสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) อย่างเต็มรูปแบบ

เราจะพาทุกคนไปเจาะลึกและทำความรู้จักดูไบในมิติที่ต่างออกไป จากภาพลักษณ์การเป็นเมืองธุรกิจค้าน้ำมันรายใหญ่ที่คุ้นเคย สู่การเป็นเมืองอัจฉริยะที่รายล้อมไปด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

UAE

ย้อนรอยดูไบ : จากเมือง ‘ชาวประมง’ สู่เมืองแห่ง ‘ความร่ำรวย’

ย้อนกลับไปราว 200 ปีก่อน ดูไบเป็นเพียงปากอ่าวสำหรับทำการประมงเท่านั้น ห่างไกลจากความเป็นเมืองร่ำรวยเฉกเช่นในปัจจุบันมาก แต่แล้วในปี 1966 มีการค้นพบ ‘น้ำมัน’ ทรัพยากรสำคัญที่สร้างเม็ดเงินจำนวนมหาศาลให้กับดูไบ ทำให้จากดินแดนปากอ่าวที่ไม่มีใครเห็นค่า กลายเป็นผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของโลก

ด้วยความที่น้ำมันเป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่ทุกอุตสาหกรรมต้องการ ทำให้ธุรกิจค้าน้ำมันสามารถสร้างรายได้จำนวนมากให้กับดูไบในระยะเวลาอันรวดเร็ว และรายได้ส่วนนี้ ก็ทำให้ดูไบมีงบประมาณมหาศาลในการพัฒนาเมืองและโครงสร้างพื้นฐาน จนกลายเป็นเมืองที่มีแต่ความร่ำรวยจวบจนทุกวันนี้

แต่ธุรกิจค้าน้ำมัน ไม่ใช่ธุรกิจที่มีความยั่งยืน เพราะน้ำมันเป็นทรัพยากรสิ้นเปลืองที่ใช้แล้วหมดไป ทำให้ดูไบไม่สามารถยึดการค้าน้ำมันเป็นธุรกิจหลักได้ และต้องเปลี่ยนแนวทางการสร้างรายได้ของตัวเอง โดยเน้นให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน สัดส่วนรายได้ที่เกิดจากการลงทุนของต่างชาติมีมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว

ดังนั้น การที่จะสามารถดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในเมืองได้ จะต้องขึ้นกับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเป็นเมืองที่ดี ก็คือ ‘น่าอยู่ ทันสมัย และปลอดภัย’ ทำให้ดูไบเริ่มวางแผนสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะที่รายล้อมไปด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในที่สุด

ถอดบทเรียน ‘ดูไบ’ กับการเป็นเมืองอัจฉริยะในปัจจุบัน

แผนการก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะของดูไบเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2017 โดยรัฐบาลท้องถิ่นเริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตั้งแต่ระบบอินเทอร์เน็ต บล็อกเชน (Blockchain) อุปกรณ์ Internet of Things (IoT) รวมถึงการวางระบบบิ๊กดาต้า (Big Data) เพื่อให้ทุกอย่างเชื่อมต่อกันด้วยฐานข้อมูลเดียว

โดยในปัจจุบัน ดูไบยังคงใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ ในการพัฒนาเมืองอย่างต่อเนื่อง รวมถึงต่อยอดให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้คนมากขึ้น เช่น การสร้างระบบ Open Data ฐานข้อมูลที่ให้ทุกคนใช้อย่างอิสระ การท่องเที่ยวแบบ Mixed Reality (MR) แอปพลิเคชันแจ้งเหตุฉุกเฉินกับตำรวจ เป็นต้น

และความพยายามในการใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาเมืองอยู่เสมอ ทำให้การจัดอันดับ Smart City Index ในปี 2021 ของดูไบอยู่ที่อันดับ 29 จาก 118 เมืองทั่วโลก และเป็นอันดับที่สูงขึ้นถึง 14 อันดับจากปี 2020

แล้วกุญแจสำคัญที่ทำให้ดูไบสามารถก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ และมหานครเทคโนโลยีระดับโลกได้คืออะไร? เราจะพาทุกคนไปหาคำตอบพร้อมๆ กัน

dubai-technology

1. การผลักดันนโยบายของรัฐบาล

หากพูดถึงประเด็นนี้ ต้องย้อนมองไปถึงนโยบายภาพใหญ่ของรัฐบาล UAE ด้วย เพราะการสนับสนุนของรัฐบาลหลักเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้รัฐบาลท้องถิ่นสามารถพัฒนาเมืองไปในทิศทางที่ต้องการได้ เมื่อทั้งรัฐบาลหลักและรัฐบาลท้องถิ่นเห็นพ้องต้องกัน การก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะจึงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

รวมถึงรัฐบาลท้องถิ่นเองก็พยายามผลักดันนโยบายในการเป็นเมืองอัจฉริยะอยู่เสมอ ตั้งแต่การจัดงานเอ็กซ์โปเพื่อฉายภาพความก้าวหน้าของเมืองหลังจากที่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวนำมาได้ระยะหนึ่ง เพื่อให้ผู้ที่อยู่อาศัยเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น หรืออย่างล่าสุด หน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการลงทุนดิจิทัลของดูไบเปิดระดมทุน เพื่อนำเงินมาใช้ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเป็นฟันเฟืองสำคัญต่อการพัฒนาเมืองในอนาคต

2. การดึงทาเลนต์ (Talent) หรือนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในประเทศ

หากจะกล่าวว่า ประเด็นนี้เป็นหนึ่งในผลสืบเนื่องจากประเด็นแรก และความร่ำรวยแต่เดิมของเมืองก็คงไม่ผิดนัก เพราะดูไบเป็นเมืองที่ร่ำรวยมาก จนไม่จำเป็นต้องเก็บภาษีจากคนผู้ที่อยู่อาศัยในเมือง จึงทำให้ดูไบกลายเป็นเมืองโปรดของนักลงทุนหลายต่อหลายคน

เมื่อกระแสเงินสดจากนักลงทุนไหลเข้ามาไม่หยุดไม่หย่อน ก็ทำให้ดูไบร่ำรวยยิ่งขึ้น จนสามารถดึงนักลงทุนและทาเลนต์มากความสามารถด้านเทคโนโลยีมาเป็นพลเมืองของตัวเองได้ ด้วยข้อเสนอที่ประเทศอื่นไม่สามารถให้ได้ อย่างการอยู่อาศัยแบบปลอดภาษี 100 เปอร์เซ็นต์

ตัวอย่างความสำเร็จของการดึงนักลงทุนและทาเลนต์ให้เข้ามาเป็นพลเมืองของดูไบ ก็คือการที่ ‘ฉางเผิง จ้าว’ (Changpeng Zhao หรือ CZ) ผู้บริหารของ ‘ไบแนนซ์’ (Binance) ตัดสินใจบุกตลาดดูไบอย่างเป็นทางการ โดยมีการสร้างสำนักงานที่ดูไบ และซื้ออสังหาริมทรัพย์ในชื่อของตัวเองด้วย ซึ่งการบุกตลาดในครั้งนี้ คงทำให้วงการคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ในดูไบเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน

อีกไกลแค่ไหนกว่า ‘ไทย’ จะไปถึงการเป็นเมืองอัจฉริยะ?

หากมองถึงข้อจำกัดของไทยตอนนี้ ก็ต้องยอมรับว่า หนทางการเป็นเมืองอัจฉริยะของไทยอย่างเต็มรูปแบบคงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบนัก เมื่อเทคโนโลยีคือตัวนำของการเป็นเมืองอัจฉริยะ เราก็ไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่า เทคโนโลยีของไทยมีความพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งเรื่องของสัญญาณ 5G ที่ยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ หรือแม้แต่ระบบฐานข้อมูลที่ยังไม่ได้เชื่อมต่อกันเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้การเป็นเมืองอัจฉริยะของไทยยังคงติดชะงักอยู่

แต่ก็ไม่ใช่ว่า ในตอนนี้จะเกิดการติดชะงักแบบไม่มีความหวังเลย เมื่อเราลองมองไปที่ ‘กรุงเทพมหานคร’ จะพบว่า การนำระบบ Traffy Fondue มาใช้ในการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะแล้ว เพราะเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ รวมถึงลดขั้นตอนการรับเรื่องร้องเรียนที่ไม่จำเป็นออกไป และหากโมเดลนี้ประสบความสำเร็จในระยะยาว การที่ไทยจะก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ คงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอน

แล้วสำหรับทุกคนคิดว่า การที่ ‘ไทย’ จะไปถึงการเป็นเมืองอัจฉริยะนั้นอยู่อีกไกลแค่ไหน?

Sources: https://bloom.bg/3ohdvg9

https://bit.ly/3IT04wI

https://bit.ly/3aOFuRs

https://bit.ly/3AYOpdQ

https://bit.ly/3OeRJ7x

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like