LOADING

Type to search

New Normal Bootcamp 1 วันกับ ‘Design Thinking’ by True Digital Academy

New Normal Bootcamp 1 วันกับ ‘Design Thinking’ by True Digital Academy
Share

ปัจจุบัน Design Thinking กลายเป็นคำที่หลายคนเริ่มคุ้นหูกัน และเป็นเครื่องมือทางการคิดออกแบบเพื่อแก้ปัญหาต่างๆที่มีประสิทธิภาพ และยังเป็นกระบวนการคิดที่สามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลาย ไม่ถูกจำกัดอยู่ในอาชีพใด ทำให้มีผู้คนมากมายสนใจในการเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการคิดแบบ Design Thinking กันมากขึ้น

True Digital Academy สถาบันสร้างทักษะแห่งยุคดิจิทัล จึงได้จัดคอร์สเรียนเต็มวัน หรือ Bootcamp เพื่อสอนกระบวนการ Design Thinking ตั้งแต่พื้นฐานให้กับผู้เรียนได้เข้าใจและนำไปใช้ได้ ซึ่งทีมงาน Future Trends ก็ได้มีโอกาสไปเข้าร่วม Bootcamp นี้เมื่อวันที่ 25 กรกฏาคมที่ผ่านมา

สำหรับตัวรูปแบบของ Bootcamp ถูกจัดขึ้นผ่าน Zoom ซึ่งเป็นโปรแกรม Video Conference โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 12 คน ผู้สอน/วิทยากรของ Bootcamp นี้คือคุณสมเจตน์ ภูมี อดีต Senior UX/XI Designer ผู้คุ้นเคยกับกระบวนการคิดแบบ Design Thinking

และแม้ว่า Bootcamp ในครั้งนี้จะถูกจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ แต่ตลอดทั้งวันของการเรียนก็ยังสามารถมีกิจกรรม การทดลองทำ Design Thinking ไปจนถึงการร่วมออกแบบผลงานในรูปแบบกลุ่ม จนแทบไม่ต่างจากการได้เข้าร่วม Bootcamp ปกติเลย

Bootcamp นี้เริ่มต้นจากการปูพื้นฐานถึง Design Thinking ว่าคืออะไร มีกระบวนการคิดอย่างไรบ้าง

Design Thinking คือกระบวนการคิดและทำความเข้าใจปัญหาต่างๆโดยมีผู้ใช้เป็นศูนย์กลางและออกแบบทางออกของปัญหาเหล่านั้น 

กระบวนการหลักของ Design Thinking

  • ทำความเข้าใจ
  • ออกแบบ
  • ทดสอบ

ทั้งสามสิ่งนี้คือโครงสร้างหลักของกระบวนการ Design Thinking ซึ่งไม่ใช่แค่ขั้นตอนที่ดำเนินไปตามนี้ แต่จะต้องมีการเก็บผลลัพธ์และย้อนกลับมาสู่กระบวนการ ทำความเข้าใจ ออกแบบ และทดสอบ อีกครั้งจนกว่าจะได้ผลลัพธ์ Solution หรือ Product ที่แก้ปัญหาให้กับผู้ใช้งานได้

องค์กรชั้นนําของโลก เช่น Google, Apple, Phillips, Airbnb ต่างก็นำ Design Thinking มาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างนวัตกรรม ตั้งแต่ Product and Service, Operational Process, Business Strategy ไปจนถึง Business Model

ซึ่งผลลัพธ์จากกระบวนการ Design Thinking จะเป็นผลลัพธ์ที่มีส่วนประกอบของ ความต้องการของผู้ใช้ ความเป็นไปได้ทางธุรกิจ และความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยี ซึ่งได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์และเป็นที่ต้องการ

ในกระบวนการ Design Thinking จะมี 5 ขั้นตอนด้วยกัน

1. Empathy – คือขั้นตอนของการทําวิจัย ศึกษา และทําความเข้าใจกับกลุ่มผู้ใช้งาน การทำ Ethnographic Study ไปจนถึง In-Dept Interview

2. Define – คือขั้นตอนของการนิยาม และวิเคราะห์ของข้อมูล ใครคือกลุ่มผู้ใช้งาน? อะไรคือเป้าหมายที่สําคัญ Pain Point และความต้องการ

3. Ideation – ขั้นตอนการสร้างไอเดีย หรือการต่อยอดไอเดียจากหลากหลายมุมมองของคนภายในทีม เพื่อสร้างสรรค์ไอเดีย นวัตกรรมที่แปลกใหม่และตอบโจทย์การแก้ไขปัญหานั้นๆ

4. Prototype – คือขั้นตอนของการทําตัวอย่างเพื่อการทดสอบ

5. Test – คือขั้นตอนของการทดสอบกับผู้ใช้งาน ว่าไอเดียที่เราทําไปมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหนด้วยการทํา

แต่ทั้ง 5 ขั้นตอนนี้ก็ไม่ใช่ทั้งหมดของกระบวนการ Design Thinking เพราะกระบวนการต่อจากนี้คือการนำผลลัพธ์ที่ได้จากการทดสอบ กลับเข้าสู่กระบวนการคิดใหม่อีกครั้ง จนกระทั่งได้ผลลัพธ์ตามที่ตั้งใจ

ตัวอย่าง Workshop ส่วนหนึ่งใน Bootcamp ให้ออกแบบกระเป๋าสตางค์

ทั้ง 12 คนที่เข้าร่วม Bootcamp ในครั้งนี้ได้ทดลองใช้กระบวนการ Design Thinking ในการออกแบบจริง โดยทั้ง 12 คนได้ถูกแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม และแยกไปพูดคุยและออกแบบกันใน 3 ห้องสนทนาที่แยกกัน

โจทย์ในครั้งนี้คือการออกแบบนวัตกรรมสำหรับ “การวางแผนเที่ยวในวันหยุดยาว”

ทั้งสามทีมแยกย้ายกันไปและเริ่มต้นกระบวนการจากการศึกษา ทำความเข้าใจปัญหาผ่านการสัมภาษณ์กันและกัน ก่อนที่จะร่วมกันวิเคราะห์ว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร และสิ่งใดคือความต้องการของผู้ใช้งาน

จากขั้นตอนนั้น แต่ละทีมก็เริ่มออกแบบไอเดีย แลกเปลี่ยน และคัดสรรไอเดียที่จะถูกนำมาใช้ สองขั้นตอนสุดท้ายในกระบวนการ คือการทำตัวอย่าง และการทดสอบ 

ในจุดนี้สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้จาก 3 ทีมที่แยกย้ายกันไปออกแบบนวัตกรรมสำหรับ “การวางแผนเที่ยวในวันหยุดยาว” แม้จะเริ่มต้นจากโจทย์ และ Pain Point ที่ใกล้เคียงกัน แต่ทั้ง 3 ทีมกลับสามารถออกแบบสิ่งที่แตกต่างกันออกมาได้อย่างสิ้นเชิง

  • สวัสดิการภาครัฐที่แก้ปัญหาคนทำงานไม่สามารถออกไปเที่ยวนอกวันหยุดยาวได้ 
  • แพลตฟอร์มสื่อที่ช่วยให้ข้อมูลผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลของนักท่องเที่ยวด้วยกัน
  • บริการเซอร์วิสที่ช่วยแก้ปัญหาเมื่อการท่องเที่ยวไม่เป็นไปตามแผน

ทั้งหมดนี้คือผลลัพธ์จากการทดลองทำกระบวนการ Design Thinking ซึ่งแน่นอนว่าผลลัพธ์ที่ได้นั้นยังไม่สมบูรณ์ เพราะในกระบวนการจริง ทุกคนจะต้องเอาผลลัพธ์หลังจากการนำไอเดียของตัวเองมานำแสนอให้กับทีมอื่น กลับเข้าสู่กระบวนการ Design Thinking ใหม่อีกครั้ง จนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ดีพอ แต่ 1-Day Bootcamp สิ้นสุดไว้เพียงเท่านี้

อย่างไรก็ตามผู้เข้าร่วมอบรมทุกคนต่างก็ได้ทดลองนำกระบวนการ Design Thinking มาใช้คิด และออกแบบนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาจริง และมีความเข้าใจในหลักการไปจนถึงเทคนิคต่างๆของกระบวนการ Design Thinking มากขึ้น

ผลลัพธ์สุดท้ายของการเข้าร่วม 1-Day Bootcamp “Design Thinking” โดย True Digital Park เราต่างได้เห็นหัวใจหลักภายในกระบวนการนี้ ซึ่งคือ

  • Human Centric ปลูกบ้านตามใจผู้อยู่
  • Empathy & Define รับฟังปัญหาโดยไม่มีอคติ
  • Ideate ความหลากหลายทางด้านไอเดีย
  • Prototype เลือกทําแบบไหนก็ไม่มีผิด สนุกไปกับการทํา
  • Test Results ยอมรับผลจากการทดสอบ

ทั้งหมดนี้คือแนวคิด กระบวนการ ไปจนถึงหัวใจหลักของ Design Thinking ที่ผู้เข้าร่วมได้พบหลังการเรียนรู้ใน 1 วัน

หากใครที่สนใจ หรืออยากมีโอกาสได้ร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้เช่นนี้ก็สามารถเข้าไปติดตาม และรับข่าวสารได้ที่เว็บไซต์ https://www.truedigitalacademy.com/